เรื่องเด่น “วัดแม่นางปลื้ม” มีเรื่องเล่า! สมเด็จพระนเรศวรกับหญิงชรายากจนที่ทรงเรียกว่า “แม่”!!

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 6 ธันวาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,592
    0b8a1e0b988e0b899e0b8b2e0b887e0b89be0b8a5e0b8b7e0b989e0b8a1-e0b8a1e0b8b5e0b980e0b8a3e0b8b7e0b988.jpg
    ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีวัดแห่งหนึ่งมีหลักฐานทางโบราณคดีและแผ่นป้ายเล่าประวัติความเป็นมาของวัดว่า สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.๑๙๒๐ สมัยขุนหลวงพะงั่ว กษัตริย์พระองค์ที่ ๓ ของกรุงศรีอยุธยา นอกจากจะเป็นวัดโบราณกว่า ๖๔๐ ปีแล้ว ความเป็นมาของวัดยังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงบูรณะขึ้นหลังจากที่เป็นวัดร้าง อุทิศส่วนกุศลให้หญิงชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งพระองค์ ทรงเรียกว่า “แม่”

    เรื่องนี้มาจากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับที่เขียนโดย เยเรเมียส ฟอน ฟลีท หรือที่เรียกกันว่า “วันวลิต” พ่อค้าชาวฮอลันดา ซึ่งเข้ามาเป็นผู้จัดการห้างอยู่ในกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระเจ้าปราสาททองถึง ๘ ปี และเขียนหนังสือเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา ๒ เล่มไปพิมพ์ในยุโรป

    ในบันทึกของวันวลิต ได้กล่าวถึงเรื่องที่เกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรไว้ตอนหนึ่งว่า
    เย็นวันหนึ่ง ขณะที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จล่องเรือไปตามแม่น้ำ ทรงติดพายุฝนไม่สามารถเสด็จกลับพระราชวังได้ จึงได้เสด็จอย่างเร่งรีบไปยังบ้านเก่าๆหลังเล็กๆหลังหนึ่งของหญิงชราผู้ยากที่จนอาศัยอยู่คนเดียว โดยไม่มีใครสังเกตเห็น ฝ่ายหญิงชรานั้นก็ตกใจนัก กล่าวว่า

    “ลูกเอ๋ย เจ้าไม่รู้หรือว่า พระเจ้าแผ่นดินอาจเสด็จมาใกล้ๆแถวนี้”

    พระองค์ตรัสตอบโดยเสียงอันดังว่า “จะเป็นอะไรจ๊ะแม่ ถ้าท่านจะเสด็จมาได้ยิน และมีพระประสงค์จะฆ่าลูกก็จะเป็นไรไป ถ้าจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็เป็นเคราะห์ของลูกเอง เคราะห์ย่อมเกิดกับคนทั่วๆไปโดยไม่ทราบล่วงหน้า”

    หญิงชราก็ทรุดตัวลงแทบพระบาทของพระองค์อ้อนวอนด้วยความสลดใจ ห้ามมิให้กล่าวถึงพระเจ้าแผ่นดินเช่นนั้น นางกล่าวว่า

    “เทพยดาได้ประทานพระองค์มาให้แก่พวกเรา ดังนั้นการกระทำของพระองค์ย่อมจะเป็นสิ่งไม่ชั่วร้าย พระองค์ทรงเป็นผู้ลงโทษแทนเทพยดา และเป็นผู้รับคำพิพากษาความผิดชั่วร้ายของเรามาลงโทษ เราจะต้องเชื่อฟังบุคคลที่เทพยดาส่งมาปกครองพวกเรา”

    หญิงชราพยายามทำให้พระเจ้าแผ่นดินทรงเงียบพระสุรเสียงมากเท่าไร พระเจ้าแผ่นดินก็ยิ่งส่งเสียงมากขึ้นเท่านั้น ในที่สุดนางก็ขอร้องให้พระองค์เสด็จออกจากบ้าน เพราะว่านางไม่ต้องการมีส่วนร่วมในความประพฤติที่ผิดๆของพระองค์ พระองค์ทรงยินยอมแต่ขอดื่มกระแช่ก่อนเพราะหนาวเหนื่อยจากถูกฝน หญิงชรากล่าวว่า

    “ลูกเอ๋ย เจ้าก็รู้ว่าเวลานี้เป็นระยะเข้าพรรษา จะไม่มีใครซื้อเครื่องดื่มกระแช่จนกว่าจะออกพรรษา แต่ถ้าลูกต้องการเสื้อผ้าที่แห้งอย่างที่แม่ใส่อยู่นี่ แม่จะให้เจ้า แม่จะซักและและผึ่งเสื้อของเจ้าให้แห้ง ขอให้เจ้าพักผ่อนและนอนหลับสักครู่หนึ่งเถิด”
    พระเจ้าแผ่นดินทรงยินยอมรับเสื้อผ้ามาเปลี่ยน และให้หญิงชราซักและผึ่งฉลองพระองค์ให้แห้ง แต่พระองค์ไม่ทรงยอมหยุดยั้งความปรารถนาที่จะดื่มกระแช่ โดยตรัสว่าพระองค์ไม่ต้องการผูกมัดตัวเองตามกฎหมายของพระเจ้าแผ่นดิน ในที่สุดหญิงชราก็ยอมรินกระแช่ใส่จอกเล็กๆถวายพระองค์ นางสาบานว่าได้ซื้อกะแช่ไว้ตั้งแต่ก่อนเข้าพรรษา เมื่อเข้าพรรษาแล้วก็มิได้ดื่มเลย นางขอให้พระองค์สัญญาว่าจะไม่เล่าเรื่องนี้แก่ผู้ใด

    หญิงชราได้พาพระองค์ไปบรรทมบนเสื่อผืนเล็กๆ และนำพระภูษาไปซักผึ่งให้แห้ง เมื่อพระเจ้าแผ่นดินตื่นบรรทมแล้วก็ทรงผลัดพระภูษาที่แห้ง ทรงขอบใจหญิงเจ้าของบ้านแล้วตรัสอำลา หญิงชราก็กล่าวว่า

    “ลูกเอ๋ย เจ้าจงพักอยู่ที่นี่จนกว่าพระอาทิตย์จะขึ้นเถิด หรือถ้าจะกลับไปก็จงพายเรือไปเงียบๆ เพื่อว่าเจ้าจะได้ไม่ส่งเสียงไปให้พระเจ้าได้ยิน เป็นเหตุให้เกิดโชคร้ายแก่เจ้า”

    พระเจ้าแผ่นดินตรัสว่า “ลูกจะทำเช่นนั้น” แล้วเสด็จออกจากบ้านหลังเล็กๆที่ยากจนไป ทรงเสด็จกลับด้วยเรือเล็กพร้อมด้วยเหล่าราชองครักษ์ที่คอยอยู่ใกล้บ้านหลังนั้น

    วันรุ่งขึ้น พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชดำรัสให้นำเรือหลวงมีบุษบกไปยังบ้านหญิงชราที่พระองค์ได้อาศัยพักค้างเมื่อคืน เรือที่มีพระที่นั่งเล็กๆลำนี้ เป็นเรือที่พระราชชนนีหรือพระมเหสีใช้ในพระราชพิธี นอกจากนี้ยังมีเสื้อผ้าฉลองพระองค์ที่ทรงในคืนนั้นก็ให้เชิญไปในเรือด้วย รับสั่งให้มหาดเล็กนำเสื้อผ้าไปให้หญิงชราดู และรับตัวมาเข้าเฝ้าที่พระราชวัง เมื่อหญิงชราเห็นมหาดเล็กหลวงมาหาตน ก็ตกใจกลัวตัวสั่นคิดว่าพระเจ้าแผ่นดินได้ยินเรื่องที่เกิดขึ้น ณ บ้านนางเมื่อคืนนี้ แม้มหาดเล็กจะอธิบายให้ทราบถึงเหตุที่ตนมา นางก็ไม่ยอมเชื่อว่านางจะมีชีวิตอยู่รอดต่อไปอย่างปลอดภัย

    นอกจากนี้ นางยังขอร้องพวกมหาดเล็กให้ทูลพระเจ้าแผ่นดินว่า นางได้เสียชีวิตแล้วอย่างน่าสังเวชเนื่องจากความกลัว ในขณะเดียวกันนางก็หาทางเอาชีวิตรอดด้วยการจะไปพึ่งพระ พวกมหาดเล็กก็ไม่ได้สนใจต่อคำพูดของนางแต่อย่างใด เมื่อเห็นว่านางไม่ยอมไปเข้าเฝ้า ก็ช่วยกันจับนางด้วยความละมุนละม่อม แต่งตัวให้แล้วนำลงเรือไปพระราชวัง

    เมื่อนำตัวไปเข้าเฝ้าเฉพาะพระพักตร์ พระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จมาจูงมือนางและตรัสว่า พระองค์คือบุคคลที่ไปอาศัยบ้านนางเมื่อคืนนี้ และนางได้ดูแลอย่างดี ทรงตรัสว่า

    “ในยามยาก นางได้รับฉันเป็นลูกของนาง ดังนั้นตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ลูกก็จะเรียกนางว่าแม่ และจะรักยิ่งต่อไป”

    พระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่งให้จัดที่อยู่ในพระราชวังให้หญิงชรา และให้นางได้รับการดูแลปรนนิบัติอย่างดีดุจพระมารดาของพระองค์ จนกระทั่งนางได้สิ้นชีพลง พระองค์ทรงจัดพิธีถวายพระเพลิงเช่นเดียวกับพระราชินีนั้นเทียว

    ในวงการประวัติศาสตร์ไทยยอมรับกันว่า หนังสือที่วันวลิตเขียนขึ้นนี้เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ไทยโดยคนที่ได้ยินด้วยหู รู้ด้วยตา ไม่ใช่เขียนประวัติศาสตร์ขึ้นภายหลังจากเกิดเหตุการณ์เป็นสิบๆปีร้อยปี แต่นั่นก็คงเป็นเฉพาะช่วงเหตุการณ์ที่เกิดในสมัยพระเจ้าปราสาททองที่วันวลิตอยู่ในกรุงศรีอยุธยา แต่สำหรับบางเรื่องเช่นเรื่องนี้ เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก่อนที่วลิตจะเข้ามาราว ๓๐ ปี วันวลิตจึงเขียนจากเรื่องที่เล่ากันมา

    แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถูกบันทึกว่าเป็นที่มาของวัดแม่นางปลื้ม ตำบลคลองสระบัว อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่โบราณ มีศิลปะไทยที่งดงามทรงคุณค่าน่าชม ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ มาตั้งแต่วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๓๘ และก็ยังไม่ขาดรสนิยมไทยอีกอย่าง มีผู้นำเสื้อผ้าสวยๆไปแก้บนแม่นางปลื้มเมื่อมีโชคที่ขอไปจากวัดนี้

    8a1e0b988e0b899e0b8b2e0b887e0b89be0b8a5e0b8b7e0b989e0b8a1-e0b8a1e0b8b5e0b980e0b8a3e0b8b7e0b988-1.jpg

    8a1e0b988e0b899e0b8b2e0b887e0b89be0b8a5e0b8b7e0b989e0b8a1-e0b8a1e0b8b5e0b980e0b8a3e0b8b7e0b988-2.jpg

    ขอขอบคุณที่มา
    https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000116679
     

แชร์หน้านี้

Loading...