เรื่องเด่น ครั้งแรกบนแผ่นดินรัชกาลที่ 10 เสด็จฯเลียบพระนครชลมารค

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 16 ตุลาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,592
    e0b8a3e0b881e0b89ae0b899e0b981e0b89ce0b988e0b899e0b894e0b8b4e0b899e0b8a3e0b8b1e0b88ae0b881e0b8b2.jpg
    ที่มา มติชนรายวัน หน้า 18
    เผยแพร่ วันที่ 16 ตุลาคม 2562
    ครั้งแรกบนแผ่นดินรัชกาลที่ 10 เสด็จฯเลียบพระนครชลมารค


    ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นพระราชพิธีที่สำคัญยิ่งของพระมหากษัตริย์ไทย และในวันที่ 24 ตุลาคม พุทธศักราช 2562 ที่ใกล้จะมาถึงนี้ จะเป็นครั้งแรกในแผ่นดินรัชกาลที่ 10 ที่จะมีขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งเป็นพระราชพิธีเบื้องปลาย ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

    นับเป็นความงดงามที่คนไทยเฝ้ารอเพื่อเฝ้าชมพระบารมี พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และความงดงามของขบวนเรือพระราชพิธีที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก

    94 ปี เสด็จฯเลียบพระนครทางชลมารค


    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายจัดพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กล่าวว่า การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่ใกล้เข้ามานั้นเป็นงานที่ต่อเนื่องมาจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกช่วงต้นและช่วงกลางตั้งแต่ต้นปี

    “การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร แปลตามตัวคือการออกเยี่ยมชมบ้านชมเมือง เพราะในอดีตไม่มีรถ การเสด็จออกชมบ้านเมืองก็ทำได้สองทาง คือ ทางบก และทางน้ำ ซึ่งการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ไม่ใช่อยากทำก็ทำได้เลย เพราะต้องดูเรื่องดินฟ้าอากาศ กระแสน้ำ และกระแสคลื่น ตลอดจนเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในพระราชพิธี และการซ่อมแซมตกแต่งพาหนะหรือเรือที่ใช้ในการเสด็จ ซึ่งต้องใช้เวลาในการเตรียมการ

    ทั้งนี้ ในบางรัชกาลสามารถจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค หรือทางบก เพราะกระแสน้ำ กระแสลม กระแสคลื่น และสภาพเรือเอื้ออำนวย จึงแบ่งห้วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็น 2 ห้วง แต่บางรัชกาลจำเป็นต้องแยกออกไปเป็น 3 ห้วง ดังเช่นปัจจุบัน”

    นายวิษณุกล่าวต่อว่า คำว่า พยุหยาตรา มีความหมายว่า การเดินทางไปเป็นกระบวน เพราะฉะนั้น พยุหยาตราทางชลมารค คือการเดินทางเป็นกระบวนทางน้ำ ซึ่งมี 2 รูปแบบ ประกอบด้วย พยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) ใช้เรือจำนวนน้อย และพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) ใช้เรือจำนวนมาก ซึ่งเป็นรูปแบบในพระราชพิธีครั้งนี้ ด้วยใช้เรือทั้งหมด 52 ลำ

    “การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ ห่างจากครั้งล่าสุดซึ่งมีขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 นานถึง 94 ปี ด้วยเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ไม่ใช่การเสด็จฯ เพื่อไปถวายผ้าพระกฐิน ซึ่งพระราชพิธีครั้งนี้ อีกนานกว่าจะมีอีกครั้ง จึงอยากให้ประชาชนได้รับฟังบทเห่เรือ ที่เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ในห้วงนั้นๆ ด้วยในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค แต่ละครั้งจะมีบทเห่เรือที่แตกต่างกัน ทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญที่ประชาชนจะได้ชื่นชมพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย” นายวิษณุกล่าว

    b8a3e0b881e0b89ae0b899e0b981e0b89ce0b988e0b899e0b894e0b8b4e0b899e0b8a3e0b8b1e0b88ae0b881e0b8b2-1.jpg b8a3e0b881e0b89ae0b899e0b981e0b89ce0b988e0b899e0b894e0b8b4e0b899e0b8a3e0b8b1e0b88ae0b881e0b8b2-2.jpg b8a3e0b881e0b89ae0b899e0b981e0b89ce0b988e0b899e0b894e0b8b4e0b899e0b8a3e0b8b1e0b88ae0b881e0b8b2-3.jpg

    ขบวนพยุหยาตราฯ รัชกาลที่ 9 มีทั้งสิ้น 17 ครั้ง


    นาวาเอก ไพฑูรย์ ปัญญสิน ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการฝ่ายควบคุมขบวนเรือ กองทัพเรือ กล่าวว่า ย้อนกลับไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทั้งสิ้น 17 ครั้ง เป็นการเสด็จพระราชดำเนิน 14 ครั้ง

    อัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 1 ครั้ง และจัดแสดงขบวนเรือพระราชพิธี 2 ครั้ง ดังนี้

    1.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) ในการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2500

    2.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2502

    3.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2504

    4.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2505

    5.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2507

    6.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2508

    7.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2510

    8.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบวงสรวงสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ณ ท่าราชวรดิฐ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2525

    9.ขบวนเรือพระราชพิธี แห่พระพุทธสิหิงค์ จากท่าวาสุกรี ณ สะพานพุทธฯ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2525 โดยครั้งนี้ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนิน

    10.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2525

    11.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน (5 รอบ 60 พรรษา) ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2530

    12.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ครองราชย์ 50 ปี ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2539

    13.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน (6 รอบ 72 พรรษา) ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2542

    14.ขบวนเรือพระราชพิธี (การแสดงทางวัฒนธรรม) จัดแสดงในการประชุมเอเปค 2003 ณ สะพานพุทธ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2546 โดยครั้งนี้ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนิน

    15.ขบวนเรือพระราชพิธี ถวายทอดพระเนตร สมเด็จพระราชาธิบดี สมเด็จพระราชินีต่างประเทศ ในโอกาสครองราชย์ 60 ปี ณ อาคารราชนาวิกสภา เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2549 โดยครั้งนี้ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนิน

    16.ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน 80 พรรษา ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2550 ทั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์

    17.ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน 7 รอบ 84 พรรษา ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 (ซึ่งเลื่อนจากวันที่ 22 ตุลาคม 2554) ทั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์

    “ในอดีตนั้น เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ไม่ได้เทียบบัลลังก์กัญญา ในอดีตพระมหากษัตริย์จะประทับบนบุษบก ในคราวเสด็จของในหลวง รัชกาลที่ 9 ปี 2525 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำบัลลังก์กัญญามาตั้งแทนบุษบก เนื่องจากทรงประทับค่อนข้างยาก และเมื่ออยู่บนเรือ เรือจะโคลงมาก รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เรือพระที่นั่งลำนี้จึงได้ทอดบัลลังก์กัญญาแทนบุษบกมาโดยตลอด มีเพียงคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เมื่อวันที่ 4-6 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้เชิญบุษบกเทียบบนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เพื่อเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศในพระราชพิธีครั้งนี้ โดยได้เชิญตราสัญลักษณ์ประดิษฐานบนบุษบกด้วย” นาวาเอกไพฑูรย์กล่าว

    โปรดเกล้าฯจัดขบวนเรือตามโบราณราชประเพณี


    นาวาเอกไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ 10 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองทัพเรือจัดขบวนเรือตามโบราณราชประเพณี เส้นทางเสด็จฯ จากท่าวาสุกรี ไปยังท่าราชวรดิฐ ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร

    ขบวนเรือพระราชพิธีครั้งนี้ เป็นพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) ใช้เรือทั้งหมด 52 ลำ แบ่งเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ยาว 1,200 เมตร กว้าง 90 เมตร ใช้กำลังพล 2,200 นาย ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ เรือรูปสัตว์และเรือคู่ชัก 10 ลำ และเรือประกอบอื่นๆ 38 ลำ

    b8a3e0b881e0b89ae0b899e0b981e0b89ce0b988e0b899e0b894e0b8b4e0b899e0b8a3e0b8b1e0b88ae0b881e0b8b2-4.jpg
    เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

    เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นใหม่ในปลายรัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อปี 2454 โดยตั้งชื่อตามเรือพระที่นั่งโบราณ ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา คือ เรือศรีสุพรรณหงส์ หรือเรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์ ปัจจุบัน เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ มีอายุมากที่สุด อายุ 108 ปี

    b8a3e0b881e0b89ae0b899e0b981e0b89ce0b988e0b899e0b894e0b8b4e0b899e0b8a3e0b8b1e0b88ae0b881e0b8b2-5.jpg
    เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

    เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 แต่เริ่มใช้ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในสมัยรัชกาลที่ 4 ปรากฏชื่อว่าเรือพระที่นั่งบัลลังก์อนันตนาคราช สำหรับเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำปัจจุบัน สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 และเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2457 ปัจจุบันมีอายุ 87 ปี

    เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ชื่อเรือมาจากคำภาษาสันสกฤตว่า อเนกะชาตะภุชงฺคะ แปลว่า งูหลากหลายชนิด ซึ่งสอดคล้องกับรูปโขนเรือที่ลงรักปิดทองมีลายรูปงูตัวเล็กๆ จำนวนมาก คำว่า ภุชงฺคะ ในภาษาสันสกฤตมีความหมายเดียวกับคำว่า นาคะ หรือ นาค ในภาษาไทย โดยนาคที่เป็นเทพหรือทิพยนาคเป็นตัวแทนแห่งพลังอำนาจ ความรอบรู้ และความอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันมีอายุ 53 ปี

    b8a3e0b881e0b89ae0b899e0b981e0b89ce0b988e0b899e0b894e0b8b4e0b899e0b8a3e0b8b1e0b88ae0b881e0b8b2-6.jpg เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 สร้างน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ปี 2539 นารายณ์ทรงสุบรรณ มีความหมายเดียวกับพระวิษณุทรงครุฑ เนื่องจาก นารายณะ (ไทยเรียก นารายณ์) เป็นพระนามหนึ่งของพระวิษณุ ส่วนสุบรรณ คือ ครุฑ หรือ พญาครุฑ พาหนะของพระวิษณุ ส่วนที่เติมสร้อย รัชกาลที่ 9 เพื่อสื่อให้ประจักษ์ว่า เรือลำนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 9 เนื่องจากชื่อเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณมีมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยปัจจุบันมีอายุ 25 ปี

    “การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทุกขั้นตอนการปฏิบัติงาน กองทัพเรือนำขึ้นถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลายสิ่งหลายอย่างผ่านพระเนตรพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ขณะที่เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพระที่นั่งสำรอง ที่ตามร่างหมายกำหนดการ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ จะเสด็จประทับเรือพระที่นั่งดังกล่าว สำหรับเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช จะอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญลงประดิษฐาน รวมทั้งมีข้าราชบริพารลงเรือ มีพระตำรวจหลวงลงเรือเป็นครั้งแรก และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเน้นย้ำไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ขบวนเรือครั้งนี้ จึงเป็นครั้งแรกที่ไม่ได้ประสานให้กรมชลประทานผันน้ำลงจากภาคเหนือเพื่อลดความแรงของกระแสน้ำขึ้นในขณะมีขบวนเรือฯ แต่จะเปลี่ยนเป็นการผันน้ำจากประตูน้ำ 12 บาน เพื่อลดกระแสความแรงของน้ำ ซึ่งจะไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน” นาวาเอกไพฑูรย์กล่าว


    “บทเห่เรือ”เสด็จฯเลียบพระนคร รัชกาลที่ 10



    กองทัพเรือ ได้เผยแพร่บทเห่เรือในงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ 3 บท คือ 1.บทสรรเสริญพระบารมี 2.บทชมเรือ และ 3.บทชมเมือง ประพันธ์โดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ข้าราชการบำนาญกองทัพเรือ


    บทสรรเสริญพระบารมี

    ๏ พระ-ไตรรัตนะแผ้ว เผด็จมาร

    บรม-ทิพย์โสฬสสถาน เทพถ้วน

    ราชา-ธิราชบุราณ บุรพกษัตริย์

    ภิเษก-เสกสรรพพรล้วน หลั่งฟ้ามาถวาย


    ๑-๏ พระเอย พระผ่านฟ้า พระบุญญาพระบารมี

    สืบทรงวงศ์จักรี ให้เปรมปรีดิ์ทุกปวงชน


    ๒-๏ ดั่งรุ่งอรุณเริ่ม แสงสุขเสริมสืบนุสนธิ์

    สว่างสร่างกังวล ผุดผ่องพ้นผ่านผองภัย


    ๓-๏ พระเอย พระผ่านเผ้า ที่โศกเศร้าค่อยสดใส

    คนท้อขอถอดใจ ค่อยฟื้นไข้ขึ้นครามครัน


    ๔-๏ ทรงธรรมปานน้ำทิพย์ เทพไทหยิบหยาดสวรรค์

    ชุ่มชื่นชุบชีวัน เป็นมิ่งขวัญแห่งชีวา


    ๕-๏ พระเอย พระผ่านพิภพ สุขสงบงามสง่า

    ปานเพชรเก็จก่องนภา ประดับฟ้าประดับไทย


    ๖-๏ เดชะพระบารมี วงศ์จักรีจึงเกริกไกร

    ทวีโชคทวีชัย ทวีสุขทุกวารวัน


    ๗-๏ พระเอย พระผ่านเมือง ไทยประเทืองประทับขวัญ

    ปวงบุญแต่ปางบรรพ์ พระทรงธรรม์จึงทรงไทย


    ๘-๏ ทรงศีลทั้งทรงสัตย์ จึงทรงฉัตรจึงทรงชัย

    บัวบุญจึงเบ่งใบ อุบลบานบนธารธรรม


    ๙-๏ พระเอย พระผ่านเกล้า ทุกค่ำเช้าไทยชื่นฉ่ำ

    พระมหากรุณานำ คือน้ำทิพย์ลิบโลมดิน


    ๑๐-๏ พระทศมินทร์ปานปิ่นเพชร จึงสำเร็จเด็จไพรินทร์

    ฟื้นฟ้าฟื้นธานินทร์ จงภิญโญยิ่งโอฬาร


    ๑๑-๏ พระเอย พระผ่านฟ้า พระเดชาจงฉายฉาน

    แม้นมีมวลหมู่มาร จุ่งมอดม้วยด้วยพระบารมี


    ๑๒-๏ หมู่มิตรจงมั่นคง น้ำจิตตรงเต็มไมตรี

    ไพร่ฟ้าประชาชี สามัคคีอยู่มั่นคง


    ๑๓-๏ เดชะพระไตรรัตน์ ทั้งศีลสัตย์สร้างเสริมส่ง

    พระบารมีจักรีวงศ์ ทุกพระองค์เป็นธงชัย


    ๑๔-๏ แรงรักแห่งทวยราษฎร์ หลอมรวมชาติสืบศาสน์สมัย

    ร้อยถ้อยร้อยดวงใจ ถวายไท้องค์ทศมินทร์


    ๑๕-๏ ขอจงทรงพระเกษม เอิบอิ่มเอมดั่งองค์อินทร์

    พระกมลหมดมลทิน ผ่องโสภินดั่งเพชรพราย


    ๑๖-๏ ปรารถนาสารพัด สมพระมนัสที่ทรงหมาย

    สุขทวีมิมีวาย พระบรมวงศ์ทรงพร้อมเพรียง


    ๑๗-๏ พระบารมีที่ทรงสร้าง ไป่โรยร้างรุ่งเรืองเรียง

    บำรุงรัฐวัดวังเวียง จักรีวงศ์ทรงพระเจริญ-เทอญ

    b8a3e0b881e0b89ae0b899e0b981e0b89ce0b988e0b899e0b894e0b8b4e0b899e0b8a3e0b8b1e0b88ae0b881e0b8b2-7.jpg


    ครั้งแรกแห่งพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่และงดงามในรัชสมัยรัชกาลที่ 10

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.matichon.co.th/court-news/news_1714245
     

แชร์หน้านี้

Loading...