ตำนาน “เวียงโยนกนาคพันธุ์” ก่อนกาลล่มสลายกลายเป็นทะเลสาบเชียงแสน

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 31 มีนาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,591
    e0b8a7e0b8b5e0b8a2e0b887e0b982e0b8a2e0b899e0b881e0b899e0b8b2e0b884e0b89ee0b8b1e0b899e0b898e0b8b8.jpg

    ความเป็นมาของดินแดนและชุมชนในแถบลุ่มแม่น้ำสายและแม่น้ำโขง รวมถึงแถบลุ่มแม่น้ำกกนั้น ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 ในรัชสมัยพญามังราย ปฐมกษัตริย์ผู้สถาปนาอาณาจักรล้านนา ทว่าก่อนหน้าพุทธศตวรรษที่ 19 นั้น ก็พบว่ามีชุมชนเกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ ชุมชนในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำกก – โขง และชุมชนในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง

    b8a7e0b8b5e0b8a2e0b887e0b982e0b8a2e0b899e0b881e0b899e0b8b2e0b884e0b89ee0b8b1e0b899e0b898e0b8b8-1.jpg

    เรื่องราวของกำเนิดชุมชนในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำกก – โขงนั้น ปรากฏอยู่ในตำนานหลายฉบับ ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ ตำนานสิงหนวัติ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ต่างกล่าวไว้ว่า เทวกาล เจ้าผู้ครองเมืองนครไทยเทศในยูนนาน ได้ให้ราชบุตรแยกย้ายกันไปสร้างบ้านแปงเมือง สิงหนวัติกุมารจึงได้นำผู้คนอพยพมาสร้างเวียงขึ้นในเขตลุ่มแม่น้ำกก ตำนานระบุว่า พญานาค ได้มาช่วยสร้าง จึงเรียกชื่อเมืองแห่งนี้ว่า “นาคพันธุ์สิงหนวัติ” หรือ “เวียงโยนกนาคพันธุ์” มีกษัตริย์ปกครองต่อมาถึง 45 พระองค์ รวมถึงการขับไล่พวกขอมออกไปจากพื้นที่

    จนในที่สุดเวียงโยนกนาคพันธุ์ก็ล่มสลายกลายเป็นหนองน้ำ เนื่องด้วยชาวเมืองไปจับปลาไหลเผือกตัวเท่าต้นตาลในแม่น้ำกก และแบ่งปันกันกินทั่วเมือง ตกกลางคืนเกิดฝนฟ้าคนอง แผ่นดินไหวเมืองจึงล่มเป็นหนองน้ำ กระทั่งปัจจุบันยังปรากฏหนองน้ำแห่งหนึ่งใกล้อำเภอเชียงแสนเรียกว่า เวียงหนอง ที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าเดิมคือเวียงโยนกนาคพันธุ์ของพระเจ้าสิงหนวัติ บริเวณกลางหนองมีเกาะเรียก ดอนแม่ม่าย ซึ่งพ้องตามตำนานที่ว่ามีแม่ม่ายรอดตายจากเมืองล่มอยู่เพียงลำพังคนเดียว เพราะไม่ได้ร่วมกินปลาไหลเผือกกับชาวเมืองคนอื่น ๆ

    b8a7e0b8b5e0b8a2e0b887e0b982e0b8a2e0b899e0b881e0b899e0b8b2e0b884e0b89ee0b8b1e0b899e0b898e0b8b8-2.jpg

    จากพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสนกล่าวถึงตำนานเวียงโยนกนาคพันธุ์ล่มไว้ว่า “ศักราชได้ปีเถาะ พุทธศาสนาล่วงได้ 1002 ปี พระองค์มหาชัยชนะเป็นกษัตริย์แห่งเมืองโยนกได้ 5 ปี คนทั้งหลายไปแอ่วแม่น้ำกุกกนาดี ก็เห็นปลาเหยี่ยนเผือกตัวใหญ่เท่าลำตาลยาว 7 วา เขาก็ปล่าวกันไปทุบเหยี่ยนเผือกตัวนั้นจนตายแล้วก็มีอาชญาให้ครัวแล้วแจกกันกินใคว่ทั้งเวียง เมื่อถึงเวลาค่ำแล้วก็ปรากฏได้ยินเสียงแผ่นดินดังสนั่นหวั่นไหว…เมื่อนั้นเวียงโยนกนครหลวงที่นั่น ก็ยุบลงเกิดเป็นหนองน้ำใหญ่ คนทั้งหลายอันมีในเวียงนั้น มีกษัตริย์เจ้าเป็นประธานเลยวินาศฉิบหายตกจมลงไปในน้ำทั้งหมดแล…”

    นอกจากนั้นยังมีเรื่องราวของตำนานเมืองเชียงแสนที่เล่าสืบต่อกันมาจากปากต่อปากของผู้เฒ่าผู้แก่แห่งบ้านแม่ลาก อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงรายว่า “ครั้งหนึ่งมีหนองน้ำใหญ่อยู่ในเมืองนี้หนองหนึ่ง พญาเจ้าเมืองปล่อยเป็ด ห่านลงเล่นน้ำทุกวัน จนกระทั่งวันหนึ่งพญาเจ้าเมืองพบว่าเป็ด ห่านที่เลี้ยงไว้ถูกปลาไหลกิน ท่านจึงได้ไปขอฝ้ายบ้านละปิ๊บ เอามาพันทำเป็นสายเบ็ดมัดติดไว้กับหลังเป็ดแล้วปล่อยลงหนองน้ำ ปลาไหลเผือกออกมากินจึงติดเบ็ด ชาวบ้านจึงช่วยกันจับได้ที่บ้านแม่ฮะ แล้วลากมาที่บ้านแม่ลาก เอาใส่เกวียนไปทำอาหารที่บ้านแม่ลัว จากนั้นจึงเอาไปฆ่าแล้วแบ่งกันไปทำอาหารกินที่บ้านแม่กก

    จากนั้นมีลูกชายพระอินทร์มาเที่ยวที่บ้านแม่ม่าย ถามว่าเมืองนี้มีกลิ่นอะไรหอมจัง แม่ม่ายตอบว่าเขากินปลาไหลเผือกกัน ลูกชายพระอินทร์จึงถามว่าได้กินกับเขาบ้างไหม แม่ม่ายตอบว่าไม่ได้กิน เขาไม่แบ่งให้ ลูกชายพระอินทร์ตอบว่าไม่ได้กินก็ดีแล้ว ถ้าได้ยินเสียงดังตอนกลางคืน อย่าออกไปข้างนอกให้อยู่แต่ในบ้าน ตกกลางคืนมีเสียงดังกึกก้อง แม่ม่ายจะวิ่งออกมาดูก็นึกถึงคำเตือนจึงกลับเข้านอน แต่ก็ได้ยินเสียงดังยิ่งกว่าเดิม พอถึงตอนเช้าจึงออกไปดู มองเห็นแต่น้ำเวิ้งว้างไปทั่ว”

    หนองน้ำดังกล่าวชาวบ้านเชื่อว่ากลายเป็นทะเลสาบเชียงแสน แอ่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่เนื้อที่กว่า 1 ตร.กม. ในท้องที่ตำบลโยนกก่อนถึงเมืองเชียงแสนประมาณ 5 กม. เป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำจืดและปลานานาชนิด ซึ่งชาวบ้านหากินเลี้ยงชีพมาแต่โบราณ

    b8a7e0b8b5e0b8a2e0b887e0b982e0b8a2e0b899e0b881e0b899e0b8b2e0b884e0b89ee0b8b1e0b899e0b898e0b8b8-3.jpg

    ทะเลสาบเชียงแสนในปัจจุบันอาจเป็นส่วนหนึ่งของเวียงโยนกนาคพันธุ์ที่ล่มสลายไปเมื่อกว่าหนึ่งพันปีก่อน ซึ่งยังปรากฏมีเศษซากของโบราณสถานหลายแห่งไว้ให้คนรุ่นหลังได้สืบค้นเรื่องราวของตำนานมนต์ตราแห่งคำสาป ปัจจุบันพื้นที่ทะเลสาบเชียงแสนประมาณ 2,711 ไร่ แวดล้อมไปด้วยขุนเขาถูกประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย หรือ ทะเลสาบเชียงแสน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2528 เพราะมีการสำรวจพบว่าบริเวณนี้มีนกมากมายอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นนกท้องถิ่นอย่างนกอีโก้ง นกอีลุ้ม นกอีล้ำ นอกจากนั้นในช่วงฤดูหนาวทุกปี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไปจะมีนกเป็ดน้ำจำนวนมาก ซึ่งอพยพโยกย้ายมาจากทางตอนกลางของทวีปเอเชียมาอาศัยอยู่ รวมทั้งนกที่หายากในเมืองไทย เช่น นกเป็ดพม่า นกเป็ดผีใหญ่ นกกาน้ำใหญ่ นกกระสานวล และนกเป็ดแดง เป็นต้น

    สำหรับนักท่องเที่ยวที่รักในธรรมชาติต้องการมาชมทะเลสาบเชียงแสนและนกน้ำหายาก ในช่วงเวลานี้นับเป็นฤดูที่จะพบเห็นนกเหล่านี้ได้ โดยทะเลสาบเชียงแสนตั้งอยู่บริเวณ กม. 27 บ้านกู่เต้า ถนนสายแม่จัน – เชียงแสน แยกขวามือเข้าสู่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย ประมาณ 1 กม.กล่าวกันว่าบริเวณทะเลสาบเชียงแสนเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งดูนกที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของประเทศอีกด้วย เนื่องจากมีความสะดวกเพราะมีถนนรอบทะเลสาบสามารถใช้เพียงกล้องส่องทางไกลดูนกเท่านั้น

    บทความโดย
    จักรพงษ์ คำบุญเรือง

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/958578
     

แชร์หน้านี้

Loading...