ทดลองอ่าน พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พราหมณ์พาวรี ส่งศิษย์ทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาคเจ้า

ในห้อง 'พระไตรปิฎก เสียงอ่าน' ตั้งกระทู้โดย Kob, 27 พฤษภาคม 2010.

  1. Kob

    Kob เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 เมษายน 2005
    โพสต์:
    6,161
    ค่าพลัง:
    +19,894
    <CENTER>สุตตนิบาต ปารายนวรรคที่ ๕

    </CENTER><CENTER>วัตถุกถา
    </CENTER>[๔๒๔] พราหมณ์พาวรีผู้ถึงฝั่งแห่งมนต์ ปรารถนาซึ่งความเป็นผู้ไม่มี
    กังวล ได้จากบุรีอันเป็นที่รื่นรมย์แห่งชาวโกศล ไปสู่ทักขิณา-
    ปถชนบท พราหมณ์นั้นอยู่ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำโคธาวรี ใกล้
    พรมแดนแห่งแคว้นอัสสกะและแคว้นมุฬกะ ด้วยการแสวง
    หาผลไม้ ชาวบ้านที่อาศัยพราหมณ์พาวรีนั้น ก็เป็นผู้
    ไพบูลย์ พราหมณ์พาวรีได้บูชามหายัญ ด้วยส่วยอันเกิดแต่
    กสิกรรมเป็นต้นในบ้านนั้น ครั้นบูชามหายัญแล้วได้กลับ
    เข้าไปสู่อาศรม เมื่อพราหมณ์พาวรีนั้นกลับเข้าไปสู่อาศรม
    แล้ว พราหมณ์อื่นเดินเท้าเสียดสีกัน ฟันเขลอะ ศีรษะ
    เกลือกกลั้วด้วยธุลี ได้มาทำให้พราหมณ์พาวรีสะดุ้ง ก็พราหมณ์
    นั้นเข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้วขอทรัพย์ ๕๐๐ พราหมณ์พาวรี
    เห็นพราหมณ์นั้นแล้ว ได้เชื้อเชิญด้วยอาสนะไต่ถามถึงสุข
    และทุกข์ แล้วได้กล่าวว่า ไทยธรรมวัตถุอันใดของเรา
    ไทยธรรมวัตถุทั้งปวงนั้น เราสละเสียสิ้นแล้ว ดูกรพราหมณ์
    ท่านจงเชื่อเราเถิด ทรัพย์ ๕๐๐ ของเราไม่มี ฯ
    พราหมณ์นั้นกล่าวว่า
    เมื่อเราขออยู่ ถ้าท่านไม่ให้ไซร้ ในวันที่ ๗ ศีรษะของท่าน
    จะแตก ๗ เสี่ยง พราหมณ์ผู้หลอกลวงนั้นกระทำกลอุบาย
    แล้ว ได้กล่าวคำจะให้เกิดความกลัว ฯ
    พราหมณ์พาวรีฟังคำของพราหมณ์นั้นแล้ว เป็นผู้มีทุกข์
    ซูบซีด ไม่บริโภคอาหาร เพรียบพร้อมด้วยลูกศรคือความโศก
    อนึ่ง เมื่อพราหมณ์พาวรีคิดอยู่อย่างนี้ ใจก็ไม่ยินดีในฌาน ฯ
    เทวดาผู้ปรารถนาประโยชน์ เห็นพราหมณ์พาวรีมีทุกข์
    สะดุ้งหวาดหวั่น จึงเข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้วได้กล่าวว่า
    พราหมณ์นั้นไม่รู้จักศีรษะ เป็นผู้หลอกลวง ต้องการทรัพย์
    ไม่มีความรู้ในธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะ
    ตกไป ฯ
    พราหมณ์พาวรีถามว่า
    บัดนี้ ท่านรู้จักข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถามท่านแล้วขอท่านจงบอก
    ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป แก่
    ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะฟังคำของท่าน ฯ
    เทวดาตอบว่า
    แม้เราก็ไม่รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะ
    ตกไป เราไม่มีความรู้ในธรรมทั้ง ๒ นี้ ปัญญาเป็นเครื่อง
    เห็นธรรมอันเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ย่อม
    มีแก่พระชินเจ้าทั้งหลาย ฯ
    พราหมณ์พาวรีถามว่า
    ก็บัดนี้ ใครเล่าในปฐพีมณฑลนี้ ย่อมรู้ ดูกรเทวดา
    ขอท่านจงบอกบุคคลผู้รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุ
    ให้ศีรษะตกไปนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด ฯ
    เทวดาตอบว่า
    ดูกรพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคผู้ศากยบุตรลำดับพระวงศ์ของ
    พระเจ้าโอกกากราช มีพระรัศมีรุ่งเรือง เป็นนายกของโลก
    เสด็จออกผนวชจากพระนครกบิลพัสดุ์ เป็นผู้ตรัสรู้ด้วย
    พระองค์เอง ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ทรงบรรลุอภิญญา
    และทศพลญาณครบถ้วน ทรงมีพระจักษุในสรรพธรรม ทรง
    บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งกรรมทั้งปวง ทรงน้อมไปใน
    ธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้แล้ว
    ในโลก มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรม ท่านจงไปทูลถาม
    พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด พระองค์จักตรัสพยากรณ์
    ข้อความนั้นแก่ท่าน ฯ
    พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำว่า สัมพุทโธ เป็นผู้มีใจเฟื่องฟู
    มีความโศกเบาบาง และได้ปีติอันไพบูลย์ พราหมณ์พาวรี
    นั้นมีใจชื่นชมเบิกบาน เกิดความโสมนัส จึงถามเทวดานั้น
    ว่า พระโลกนาถประทับอยู่ในคามนิคมหรือในชนบทไหน
    ข้าพเจ้าจะพึงไปนมัสการพระสัมพุทธเจ้าผู้อุดมกว่าสัตว์ได้
    ในที่ใด ฯ
    เทวดาตอบว่า
    พระชินเจ้าผู้ศากยบุตร ทรงมีพระปัญญามาก มีพระปัญญา
    ประเสริฐ กว้างขวาง ทรงปราศจากธุระ หาอาสวะมิได้
    องอาจกว่านระ ทรงรู้ธรรมเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้
    ศีรษะตกไป ประทับอยู่ในมันทิรสถานของชนชาวโกศล
    ในพระนครสาวัตถี ฯ
    ลำดับนั้น พราหมณ์พาวรี เรียกพราหมณ์ทั้งหลายผู้ถึงฝั่งแห่ง
    มนต์ซึ่งเป็นศิษย์มาสั่งว่าดูกรมาณพทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจง
    มาเถิด เราจักบอกแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังคำ
    ของเรา ความปรากฏแห่งพระสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดอันสัตว์
    ได้ยากเนืองๆ ในโลกนี้ วันนี้ พระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
    ปรากฏว่าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ท่านทั้งหลายจงรีบไป
    เมืองสาวัตถี เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้าผู้อุดมกว่าสัตว์เถิด ฯ
    พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ทั้งหลายซักถามด้วยคาถาว่า
    ข้าแต่ท่านพราหมณ์ บัดนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายได้เห็นแล้วจะพึง
    รู้ว่า ท่านผู้นี้เป็นพระสัมพุทธเจ้าด้วยอุบายอย่างไรเล่า ขอ
    ท่านจงบอกอุบายที่ข้าพเจ้าทั้งหลายจะพึงรู้จักพระสัมพุทธเจ้า
    พระองค์นั้นแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายผู้ไม่รู้เถิด ฯ
    พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า
    ก็มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ มาแล้วในมนต์ทั้งหลาย
    อันพราหมณาจารย์ทั้งหลายพยากรณ์ไว้บริบูรณ์แล้วตามลำดับ
    ว่ามหาปุริสลักษณะทั้งหลาย มีอยู่ในวรกายของพระมหา-
    บุรุษใด พระมหาบุรุษนั้น มีคติเป็น ๒ เท่านั้น คติที่ ๓
    ไม่มีเลย คือ ถ้าพระมหาบุรุษนั้นอยู่ครองเรือน จะพึงชนะ
    ทั่วปฐพีนี้ จะทรงปกครองโดยธรรม ด้วยไม่ต้องใช้อาชญา
    ไม่ต้องใช้ศาตรา ถ้าออกบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็น
    พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม มีหลังคาคือกิเลส
    อันเปิดแล้ว ท่านทั้งหลายจงถามถึงชาติ โคตร ลักษณะ
    มนต์ และศิษย์เหล่าอื่นอีกและถามถึงศีรษะและธรรมเป็นเหตุ
    ให้ศีรษะตกไปด้วยใจเทียว ถ้าว่าท่านนั้นจักเป็นพระพุทธเจ้า
    ผู้ทรงเห็นธรรมอันหาเครื่องกางกั้นมิได้ไซร้ จักวิสัชนา
    ปัญหาอันท่านทั้งหลายถามด้วยใจด้วยวาจาได้ ฯ
    พราหมณ์มาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน คือ อชิตะ ๑ ติสส-
    เมตเตยยะ ๑ ปุณณกะ ๑ เมตตคู ๑ โธตกะ ๑ อุปสีวะ ๑
    นันทะ ๑ เหมกะ ๑ โตเทยยะ ๑ กัปปะ ๑ ชตุกัณณี
    ผู้เป็นบัณฑิต ๑ ภัทราวุธะ ๑ อุทยะ ๑ โปสาลพราหมณ์ ๑
    โมฆราชผู้มีเมธา ๑ ปิงคิยะผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ๑ พราหมณ์
    มาณพทั้งปวง คนหนึ่งๆ เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ ปรากฏแก่
    โลกทั้งปวง เป็นผู้เพ่งฌาณ มีปัญญาทรงจำ อันวาสนา
    ในก่อนอบรมแล้ว ทรงชฏาหนังเสือเหลือง ได้ฟังคำของ
    พราหมณ์พาวรีแล้ว อภิวาทพราหมณ์พาวรี กระทำประทักษิณ
    แล้ว บ่ายหน้าต่อทิศอุดร มุ่งไปยังที่ตั้งแห่งแว่นแคว้นมุฬกะ
    เมืองมาหิสสติ ในคราวนั้น เมืองอุชเชนี เมืองโคนัทธะ
    เมืองเวทิสะ เมืองวนนคร เมืองโกสัมพี เมืองสาเกต
    เมืองสาวัตถีอันเป็นเมืองอุดม เมืองเสตพยะ เมืองกบิลพัสดุ์
    เมืองกุสินารามันทิรสถาน (เมืองมันทิระ) เมืองปาวาโภคนคร
    เมืองเวสาลี เมืองราชคฤห์ และปาสาณกเจดีย์อันเป็น
    รมณียสถานที่น่ารื่นรมย์ใจ พราหมณ์มาณพทั้งหลายพากัน
    ยินดีได้รีบด่วนขึ้นสู่เจติยบรรพต เหมือนบุคคลผู้กระหายน้ำ
    ยินดีน้ำเย็น เหมือนพ่อค้ายินดีลาภใหญ่ และเหมือนบุคคล
    ถูกความร้อนแผดเผายินดีร่มเงา ฉะนั้น ก็ในสมัยนั้น
    พระผู้มีพระภาค อันภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้ว ทรงแสดงธรรม
    แก่ภิกษุทั้งหลายอยู่ ประหนึ่งราชสีห์บันลืออยู่ในป่า ฉะนั้น
    อชิตมาณพได้เห็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระรัศมีเรื่อเรือง
    เหลืองอ่อน ถึงความบริบูรณ์ดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญ ลำดับนั้น
    อชิตมาณพได้เห็นพระอวัยวะอันบริบูรณ์ ในพระกายของ
    พระผู้มีพระภาคนั้น มีความร่าเริงยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
    ได้ทูลถามปัญหาด้วยใจว่าขอพระองค์จงตรัสบอกอ้าง (ชาติ)
    อายุ โคตร พร้อมทั้งลักษณะ และขอได้ตรัสบอกการถึง
    ความสำเร็จในมนต์ทั้งหลายแห่งอาจารย์ของข้าพระองค์เถิด
    พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของข้าพระองค์ย่อมบอกมนต์กะศิษย์มี
    ประมาณเท่าไร พระเจ้าข้า ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
    ก็พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของท่านนั้น มีอายุร้อยยี่สิบปี
    ชื่อพาวรีโดยโคตร ลักษณะในกายของพราหมณ์พาวรีนั้น
    มี ๓ ประการ พราหมณ์พาวรีนั้นเรียนจบไตรเพท ในตำรา
    ทำนายมหาปุริสลักษณะ คือ คัมภีร์อิติหาสพร้อมทั้งคัมภีร์
    นิฆัณฑุศาสตร์และเกฏุภศาสตร์ ถึงซึ่งความสำเร็จในธรรม
    แห่งพราหมณ์ของตนย่อมบอกมนต์กะมาณพ ๕๐๐ ฯ
    อชิตมาณพทูลถามว่า
    ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ขอพระองค์จงค้นคว้าลักษณะ
    ทั้งหลายของพราหมณ์พาวรี ขอทรงประกาศตัดความทะเยอ
    ทะยาน อย่าให้ข้าพระองค์มีความสงสัยเถิด ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
    ดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีนั้น ย่อมปกปิดมุขมณฑล
    (หน้า) ด้วยชิวหาได้ มีอุณณาโลมชาติในระหว่างคิ้ว มี
    คุยหฐานอยู่ในฝักท่านจงรู้อย่างนี้เถิด ฯ
    ชนทั้งปวงไม่ได้ยินใครๆ ผู้ถามเลย ได้ฟังปัญหาที่พระผู้มี-
    พระภาคทรงพยากรณ์แล้ว (นึกคิดอยู่) คิดพิศวงอยู่ เกิด
    ความโสมนัสประนมอัญชลี (สรรเสริญ) ว่า พระผู้มีพระภาค
    เป็นอะไรหนอ เป็นเทวดาหรือเป็นพรหม หรือเป็นท้าว
    สุชัมบดีจอมเทพ เมื่อปัญหาอันผู้ถามถามแล้วด้วยใจ ข้อ
    ปัญหานั้นไฉนมาแจ่มแจ้งแก่พระผู้มีพระภาคได้ ฯ
    อชิตมาณพทูลถามด้วยใจต่อไปว่า
    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ท่านพราหมณ์พาวรีถามถึงธรรมเป็น
    ศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ขอพระองค์ตรัส
    พยากรณ์ข้อนั้นกำจัดความสงสัยของพวกข้าพระองค์ผู้เป็นฤาษี
    เสียเถิด ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า
    ท่านจงรู้เถิดว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ วิชชาประกอบ
    ด้วยศรัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ ชื่อว่าเป็น
    ธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป ลำดับนั้น อชิตมาณพมีความ
    โสมนัสเป็นอันมาก เบิกบานใจ กระทำหนังเสือเหลือง
    เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลงแทบพระบาทยุคลด้วยเศียร
    เกล้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ
    พราหมณ์พาวรีผู้เจริญ มีจิตเบิกบาน ดีใจ พร้อมด้วยศิษย์
    ทั้งหลายขอไหว้พระบาทยุคล (ของพระผู้มีพระภาค) ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
    ดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลาย จงเป็น
    ผู้ถึงความสุขเถิด แม้ถึงท่านก็จงเป็นผู้ถึงความสุข จงเป็น
    อยู่สิ้นกาลนานเถิด ก็ท่านทั้งหลายมีโอกาสอันเราได้กระทำ
    แล้ว ปรารถนาในใจเพื่อจะถามปัญหาข้อใดข้อหนึ่ง ก็จง
    ถามความสงสัยทุกๆ อย่างของพราหมณ์พาวรีหรือของท่าน
    ทั้งปวงเถิด อชิตมาณพมีโอกาสอันพระสัมพุทธเจ้ากระทำแล้ว
    นั่งลงประนมอัญชลี ทูลถามปัญหาทีแรกกะพระตถาคต ณ
    ที่นั้น ฉะนี้แล ฯ


    <CENTER>จบวัตถุกถา
    </CENTER>

    ที่มาเนื้อหา http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=25&A=10810&Z=10975


    [MUSIC]http://palungjit.org/attachments/a.978334/[/MUSIC]​

     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • playlist2.txt
      ขนาดไฟล์:
      1.5 KB
      เปิดดู:
      207
  2. Kob

    Kob เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 เมษายน 2005
    โพสต์:
    6,161
    ค่าพลัง:
    +19,894
    <CENTER>อชิตปัญหาที่ ๑</CENTER><CENTER></CENTER><CENTER></CENTER>
    [๔๒๕] อชิตมาณพทูลถามปัญหาว่า​


    โลกคือหมู่สัตว์อันอะไรหุ้มห่อไว้ โลกย่อมไม่แจ่มแจ้งเพราะ
    อะไร พระองค์ตรัสอะไรว่า เป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ อะไร
    เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรอชิตะ
    โลกอันอวิชชาหุ้มห่อไว้ โลกไม่แจ่มแจ้งเพราะความตระหนี่
    (เพราะความประมาท) เรากล่าวตัณหา ว่าเป็นเครื่องฉาบ
    ทาโลกไว้ ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น ฯ
    อ. กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง อะไรเป็น
    เครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย ขอพระองค์จงตรัสบอกเครื่องกั้น
    กระแสทั้งหลาย กระแสทั้งหลายอันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วย
    ธรรมอะไร ฯ
    พ. ดูกรอชิตะ สติเป็นเครื่องกั้นกระแสในโลก เรากล่าวสติว่า
    เป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านั้นอันบัณฑิต
    ย่อมปิดได้ด้วยปัญญา ฯ
    อ. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ปัญญา สติ และนามรูป ธรรม
    ทั้งหมดนี้ย่อมดับไป ณ ที่ไหน พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถาม
    แล้ว ขอจงตรัสบอกปัญหาข้อนี้แก่ข้าพระองค์เถิด ฯ
    พ. ดูกรอชิตะ เราจะบอกปัญหาที่ท่านได้ถามแล้วแก่ท่าน นาม
    และรูปย่อมดับไปไม่มีส่วนเหลือ ณ ที่ใด สติและปัญญานี้
    ย่อมดับไป ณ ที่นั้นเพราะความดับแห่งวิญญาณ ฯ
    อ. ชนเหล่าใดผู้มีธรรมอันพิจารณาเห็นแล้ว และชนเหล่าใดผู้ยัง
    ต้องศึกษาอยู่เป็นอันมากมีอยู่ในโลกนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้
    นิรทุกข์ พระองค์ผู้มีปัญญารักษาตน อันข้าพระองค์
    ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสบอกความเป็นไปของชนเหล่านั้นแก่ข้า
    พระองค์เถิด ฯ
    พ. ภิกษุไม่กำหนัดยินดีในกามทั้งหลาย มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดใน
    ธรรมทั้งปวง มีสติ พึงเว้นรอบ ฯ
    จบอชิตมาณวกปัญหาที่ ๑
    <CENTER></CENTER><CENTER></CENTER><CENTER></CENTER><CENTER></CENTER><CENTER><CENTER>ติสสเมตเตยยปัญหาที่ ๒</CENTER><CENTER></CENTER><CENTER>[๔๒๖] ติสสเมตเตยยมาณพทูลถามปัญหาว่า</CENTER>ใครชื่อว่าผู้ยินดีในโลกนี้ ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่
    ใคร ใครรู้ส่วนทั้งสอง (คืออดีตกับอนาคต) แล้วไม่ติดอยู่
    ในส่วนท่ามกลาง (ปัจจุบัน) ด้วยปัญญา พระองค์ตรัส
    สรรเสริญใครว่า เป็นมหาบุรุษ ใครล่วงตัณหาเครื่องร้อยรัดใน
    โลกนี้ได้ ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรเมตเตยยะ
    ภิกษุเห็นโทษในกามทั้งหลายแล้วประพฤติพรหมจรรย์ มี
    ตัณหาปราศไปแล้ว มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นธรรมแล้ว
    ดับกิเลสได้แล้ว ชื่อว่าผู้ยินดีในโลกนี้ ความหวั่นไหว
    ทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นรู้ซึ่งส่วนทั้งสองแล้ว
    ไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลางด้วยปัญญา เรากล่าวสรรเสริญ
    ภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ ภิกษุนั้นล่วงตัณหาเครื่องร้อยรัดใน
    โลกนี้เสียได้ ฯ


    <CENTER>จบติสสเมตเตยยมาณวกปัญหาที่ ๒



    </CENTER><CENTER><CENTER>ปุณณกปัญหาที่ ๓
    </CENTER>[๔๒๗] ปุณณกมาณพทูลถามปัญหาว่า
    ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหา จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ไม่มี
    ความหวั่นไหว ผู้ทรงเห็นรากเง่ากุศลและอกุศล สัตว์
    ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์ในโลกนี้ คือ ฤาษี กษัตริย์
    พราหมณ์ เป็นอันมาก อาศัยอะไร จึงบูชายัญแก่เทวดา
    ทั้งหลาย ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
    ขอพระองค์จงตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ
    พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า ดูกรปุณณกะ
    สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นอันมากใน
    โลกนี้ คือ ฤาษี กษัตริย์ พราหมณ์ ปรารถนาความเป็น
    มนุษย์เป็นต้น อาศัยของมีชรา จึงบูชายัญแก่เทวดา
    ทั้งหลาย ฯ
    ป. สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นอันมาก
    ในโลกนี้ คือ ฤาษี กษัตริย์ พราหมณ์ บูชายัญแก่เทวดา
    ทั้งหลาย ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์ สัตว์ทั้งหลายผู้
    เกิดเป็นมนุษย์เหล่านั้น เป็นคนไม่ประมาทในยัญ ข้ามพ้น
    ชาติและชราได้บ้างแลหรือ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์
    ขอทูลถามพระองค์ ขอพระองค์ตรัสบอกความข้อนั้นแก่
    ข้าพระองค์เถิด ฯ
    พ. ดูกรปุณณกะ สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่านั้น ย่อม
    มุ่งหวัง ย่อมชมเชย ย่อมปรารถนา ย่อมบูชา ย่อมรำพัน
    ถึงกาม ก็เพราะอาศัยลาภ เรากล่าวว่า สัตว์เหล่านั้นประกอบ
    การบูชา ยังเป็นคนกำหนัดยินดีในภพ ไม่ข้ามพ้นชาติและชรา
    ไปได้ ฯ
    ป. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ถ้าหากว่าสัตว์เหล่านั้นผู้ประกอบการ
    บูชา ไม่ข้ามพ้นชาติและชราไปได้ด้วยยัญญวิธีทั้งหลายไซร้
    เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ข้ามพ้น
    ชาติและชราไปได้ในบัดนี้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์
    ขอทูลถามพระองค์ ขอพระองค์จงตรัสบอกความข้อนั้นแก่
    ข้าพระองค์เถิด ฯ
    พ. ดูกรปุณณกะ ผู้ใดไม่มีความหวั่นไหว (ดิ้นรน) ในโลก
    ไหนๆ เพราะได้พิจารณาเห็นธรรมที่ยิ่งและหย่อนในโลก
    ผู้นั้นสงบแล้ว ไม่มีความประพฤติชั่วอันจะทำให้มัวหมอง
    ดุจควันไฟ ไม่มีกิเลสอันกระทบจิต หาความ (ปรารถนา)
    หวังมิได้ เรากล่าวว่า ผู้นั้นข้ามพ้นชาติและชราไปได้
    แล้ว ฯ


    <CENTER>จบปุณณกมาณวกปัญหาที่ ๓
    </CENTER>


    <CENTER>เมตตคูปัญหาที่ ๔
    </CENTER>[๔๒๘] เมตตคูมาณพทูลถามปัญหาว่า
    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอ
    พระองค์จงตรัสบอกข้อความนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ข้าพระองค์
    ย่อมสำคัญพระองค์ว่าทรงถึงเวท มีจิตอันอบรมแล้ว ความ
    ทุกข์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกเป็นอันมาก มีมาแล้วแต่
    อะไร ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรเมตตคู
    ท่านได้ถามเราถึงเหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ เราจะบอกเหตุ
    นั้นแก่ท่านตามที่รู้ ความทุกข์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกเป็น
    อันมาก ย่อมเกิดเพราะอุปธิเป็นเหตุ ผู้ใดไม่รู้แจ้งย่อมกระทำ
    อุปธิ ผู้นั้นเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ เพราะ
    ฉะนั้น เมื่อบุคคลมารู้ชัด เห็นชาติว่าเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์
    ไม่พึงกระทำอุปธิ ฯ
    ม. ข้าพระองค์ได้ทูลถามความข้อใด พระองค์ก็ทรงแสดงความ
    ข้อนั้นแก่ข้าพระองค์แล้ว ข้าพระองค์ขอทูลถามความข้ออื่นอีก
    ขอเชิญพระองค์จงตรัสบอกความข้อนั้นเถิด นักปราชญ์
    ทั้งหลายย่อมข้ามโอฆะ คือ ชาติ ชรา โสกะและปริเทวะ
    ได้อย่างไรหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี ขอพระองค์จง
    ตรัสพยากรณ์ธรรมอันเป็นเครื่องข้ามโอฆะให้สำเร็จประโยชน์
    แก่ข้าพระองค์เถิด เพราะว่าธรรมนี้ พระองค์ทรงทราบชัด
    แล้วด้วยประการนั้น ฯ
    พ. ดูกรเมตตคู เราจักแสดงธรรมแก่ท่านในธรรมที่เราได้เห็น
    แล้ว เป็นธรรมประจักษ์แก่ตนที่บุคคลทราบชัดแล้ว พึง
    เป็นผู้มีสติ ดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ
    ในโลกเสียได้ ฯ
    ม. ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ก็ข้าพระองค์ยินดีอย่าง
    ยิ่ง ซึ่งธรรมอันสูงสุดที่บุคคลทราบชัดแล้ว เป็นผู้มีสติ
    พึงดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลก
    เสียได้ ฯ
    พ. ดูกรเมตตคู ท่านรู้ชัดซึ่งส่วนอย่างใดอย่างหนึ่งในส่วนเบื้อง
    บน (คืออนาคต) ในส่วนเบื้องต่ำ (คืออดีต) และแม้ใน
    ส่วนเบื้องขวางสถานกลาง (คือปัจจุบัน) จงบรรเทาความ
    เพลิดเพลินและความยึดมั่นในส่วนเหล่านั้นเสีย วิญญาณ
    (ของท่าน) จะไม่พึงตั้งอยู่ในภพ ภิกษุผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่
    อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท ได้รู้แจ้งแล้วเที่ยวไปอยู่ ละความ
    ถือมั่นว่าของเราได้แล้ว พึงละทุกข์ คือ ชาติ ชรา โสกะ
    และปริเทวะในอัตภาพนี้เสีย ฯ
    ม. ข้าพระองค์ยินดีอย่างยิ่งซึ่งพระวาจานี้ ของพระองค์ผู้แสวงหา
    คุณอันใหญ่ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้โคตมโคตร ธรรมอัน
    ไม่มีอุปธิพระองค์ทรงแสดงชอบแล้ว พระองค์ทรงละทุกข์ได้
    แน่แล้ว เพราะว่าธรรมนี้พระองค์ทรงรู้แจ้งชัดแล้วด้วยประการ
    นั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี พระองค์พึงทรงสั่งสอนชน
    เหล่าใดไม่หยุดยั้ง แม้ชนเหล่านั้นก็พึงละทุกข์ได้เป็นแน่
    ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ เพราะเหตุนั้นข้าพระองค์จึงได้มา
    ถวายบังคมพระองค์ ด้วยคิดว่า แม้ไฉน พระผู้มีพระภาค
    พึงทรงสั่งสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนเถิด ฯ
    พ. ท่านพึงรู้ผู้ใดว่าเป็นพราหมณ์ผู้ถึงเวท ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
    ไม่ติดข้องอยู่ในกามภพ ผู้นั้นแลข้ามโอฆะนี้ได้แน่แล้ว ผู้
    นั้นข้ามถึงฝั่งแล้ว เป็นผู้ไม่มีตะปู คือ กิเลส ไม่มีความ
    สงสัย นรชนนั้นรู้แจ้งแล้วแล เป็นผู้ถึงเวทในศาสนานี้ สละ
    ธรรมเป็นเครื่องข้องนี้ในภพน้อยและภพใหญ่ (ในภพและ
    มิใช่ภพ) เสียได้แล้ว เป็นผู้มีตัณหาปราศไปแล้ว ไม่มี
    กิเลสอันกระทบจิต หาความหวังมิได้ เรากล่าวว่าผู้นั้นข้าม
    ชาติและชราได้แล้ว ฯ


    <CENTER>จบเมตตคูมาณวกปัญหาที่ ๔



    </CENTER><CENTER><CENTER>โธตกปัญหาที่ ๕
    </CENTER>[๔๒๙] โธตกมาณพได้ทูลถามปัญหาว่า
    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอ
    พระองค์จงตรัสบอกข้อความนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ข้าแต่
    พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ข้าพระองค์ปรารถนาอย่างยิ่ง
    ซึ่งพระวาจาของพระองค์ ข้าพระองค์ได้ฟังพระสุรเสียงของ
    พระองค์แล้ว พึงศึกษาธรรมเป็นเครื่องดับกิเลสของตน ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรโธตกะ
    ถ้าเช่นนั้น ท่านจงมีปัญญารักษาตน มีสติกระทำความเพียร
    ในศาสนานี้เถิด ท่านจงฟังเสียงแต่สำนักของเรานี้แล้ว พึง
    ศึกษาธรรมเป็นเครื่องดับกิเลสของตนเถิด ฯ
    ธ. ข้าพระองค์เห็นพระองค์ผู้เป็นพราหมณ์หากังวลมิได้ ทรงยัง
    พระกายให้เป็นไปอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ข้าแต่
    พระองค์ผู้มีพระจักษุรอบคอบ เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอ
    ถวายบังคมพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยะ ขอพระองค์
    จงทรงปลดเปลื้องข้าพระองค์เสียจากความสงสัยเถิด ฯ
    พ. ดูกรโธตกะ เราจักไม่อาจเพื่อจะปลดเปลื้องใครๆ ผู้ยังมี
    ความสงสัยในโลกให้พ้นไปได้ ก็ท่านรู้ทั่วถึงธรรมอัน
    ประเสริฐอยู่ จะข้ามโอฆะนี้ได้ด้วยอาการอย่างนี้ ฯ
    ธ. ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพรหม ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาสั่ง
    สอนธรรมเป็นที่สงัดกิเลส ที่ข้าพระองค์ควรจะรู้แจ้ง และ
    ขอพระองค์ทรงพระกรุณาสั่งสอนไม่ให้ข้าพระองค์ขัดข้องอยู่
    เหมือนอากาศเถิด ข้าพระองค์อยู่ในที่นี้นี่แหละ จะพึงเป็น
    ผู้ไม่อาศัยแอบอิงเที่ยวไป ฯ
    พ. ดูกรโธตกะ เราจักแสดงธรรมเครื่องระงับกิเลสแก่ท่าน ใน
    ธรรมที่เราได้เห็นแล้วเป็นธรรมประจักษ์แก่ตน ที่บุคคลได้รู้
    แจ้งแล้วเป็นผู้มีสติ พึงดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์
    ต่างๆ ในโลกเสียได้ ฯ
    ธ. ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ก็ข้าพระองค์ยินดี
    อย่างยิ่ง ซึ่งธรรมเป็นเครื่องระงับกิเลสอันสูงสุด ที่บุคคลได้
    รู้แจ้งแล้ว เป็นผู้มีสติ พึงดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปใน
    อารมณ์ต่างๆ ในโลกเสียได้ ฯ
    พ. ดูกรโธตกะ ท่านรู้ชัดซึ่งส่วนอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งในส่วน
    เบื้องบน (คืออนาคต) ทั้งในส่วนเบื้องต่ำ (คืออดีต) แม้
    ในส่วนเบื้องขวางสถานกลาง (คือปัจจุบัน) ท่านรู้แจ้งสิ่ง
    นั้นว่า เป็นเครื่องข้องอยู่ในโลก อย่างนี้แล้ว อย่าได้ทำ
    ตัณหาเพื่อภพน้อยและภพใหญ่เลย ฯ
    จบโธตกมาณวกปัญหาที่ ๕

    <CENTER></CENTER><CENTER><CENTER></CENTER><CENTER>อุปสีวปัญหาที่ ๖
    </CENTER>[๔๓๐] อุปสีวมาณพทูลถามปัญหาว่า
    ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยะ ข้าพระองค์ผู้เดียวไม่อาศัยธรรมหรือ
    บุคคลอะไรแล้ว ไม่สามารถจะข้ามห้วงน้ำใหญ่คือกิเลสได้
    ข้าแต่พระองค์ผู้สมันตจักษุ ขอพระองค์จงตรัสบอกที่หน่วง
    เหนี่ยว อันข้าพระองค์พึงอาศัยข้ามห้วงน้ำคือกิเลสนี้ แก่
    ข้าพระองค์เถิด ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรอุปสีวะ
    ท่านจงเป็นผู้มีสติ เพ่งอากิญจัญญายตนสมาบัติ อาศัยอารมณ์
    ว่า ไม่มี ดังนี้แล้วข้ามห้วงน้ำคือกิเลสเสียเถิด ท่านจงละกาม
    ทั้งหลายเสีย เป็นผู้เว้นจากความสงสัย เห็นธรรมเป็นที่สิ้น
    ไปแห่งตัณหาให้แจ่มแจ้งทั้งกลางวันกลางคืนเถิด ฯ
    อุ. ผู้ใดปราศจากความกำหนัดยินดีในกามทั้งปวงละสมาบัติอื่น
    เสีย อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ น้อมใจลงในสัญญา
    วิโมกข์ (คืออากิญจัญญายตนสมาบัติ ธรรมเปลื้องสัญญา)
    เป็นอย่างยิ่ง ผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหว พึงตั้งอยู่ในอากิญจัญ-
    ญายตนพรหมโลกนั้นแลหรือ ฯ
    พ. ดูกรอุปสีวะ ผู้ใดปราศจากความกำหนัดยินดีในกามทั้งปวง
    ละสมาบัติอื่นเสีย อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ น้อมใจ
    ลงในสัญญาวิโมกข์เป็นอย่างยิ่ง ผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหวพึงตั้ง
    อยู่ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้น ฯ
    อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักษุ ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหว พึง
    ตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้นสิ้นปีแม้มากไซร้ ผู้
    นั้นพึงพ้นจากทุกข์ต่างๆ ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้น
    แหละ พึงเป็นผู้เยือกเย็น หรือว่าวิญญาณของผู้เช่นนั้น พึง
    เกิดเพื่อถือปฏิสนธิอีก ฯ
    พ. ดูกรอุปสีวะ มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ย่อมถึงการตั้งอยู่ไม่ได้
    ไม่ถึงการนับ เปรียบเหมือนเปลวไฟอันถูกกำลังลมพัดไป
    แล้ว ย่อมถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่ถึงการนับ ฉะนั้น ฯ
    อุ. ท่านผู้นั้นถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ท่านผู้นั้นไม่มีหรือว่าท่านผู้นั้น
    เป็นผู้ไม่มีโรค ด้วยความเป็นผู้เที่ยง ข้าแต่พระองค์ผู้
    เป็นมุนี ขอพระองค์จงตรัสพยากรณ์ความข้อนั้นให้สำเร็จ
    ประโยชน์แก่ข้าพระองค์เถิด เพราะว่าธรรมนั้นพระองค์
    ทรงรู้แจ้งแล้วด้วยประการนั้น ฯ
    พ. ดูกรอุปสีวะ ท่านผู้ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่มีประมาณ ชน
    ทั้งหลายจะพึงกล่าวท่านผู้นั้นด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้นใด กิเลส
    มีราคะเป็นต้นนั้นของท่านไม่มี เมื่อธรรม (มีขันธ์เป็นต้น)
    ทั้งปวง ท่านเพิกถอนขึ้นได้แล้ว แม้ทางแห่งถ้อยคำทั้งหมด
    ก็เป็นอันท่านเพิกถอนขึ้นได้แล้ว ฯ
    จบอุปสีวมาณวกปัญหาที่ ๖





    <CENTER>นันทปัญหาที่ ๗
    </CENTER>[๔๓๑] นันทมาณพผู้ทูลถามปัญหาว่า
    ชนทั้งหลายกล่าวว่า มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก ชนทั้งหลาย
    กล่าวบุคคลว่าเป็นมุนีนี้นั้น ด้วยอาการอย่างไรหนอ ชน
    ทั้งหลายกล่าวบุคคลผู้ประกอบด้วยญาณ หรือผู้ประกอบ
    ด้วยความเป็นอยู่ ว่าเป็นมุนี ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า
    ดูกรนันทะ ผู้ฉลาดในโลกนี้ ไม่กล่าวบุคคลว่าเป็นมุนี ด้วย
    ความเห็น ด้วยความสดับ หรือด้วยความรู้ (ด้วยศีลและ
    วัตร) ชนเหล่าใดกำจัดเสนามารให้พินาศแล้ว ไม่มีความ
    ทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวไปอยู่ เรากล่าวชนเหล่านั้นว่า
    เป็นมุนี ฯ
    น. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
    กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยความเห็นบ้าง ด้วยการฟังบ้าง ด้วย
    ศีลและพรตบ้าง ด้วยมงคลตื่นข่าวเป็นต้นเป็นอันมากบ้าง
    ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์ สมณพราหมณ์เหล่านั้น
    ประพฤติอยู่ในทิฐิของตนนั้น ตามที่ตนเห็นว่าเป็นเครื่อง
    บริสุทธิ์ ข้ามพ้นชาติและชราได้บ้างหรือไม่ ข้าแต่พระ
    ผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอพระองค์
    ตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ
    พ. ดูกรนันทะ สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าว
    ความบริสุทธิ์ด้วยความเห็นบ้าง ด้วยการฟังบ้าง ด้วยศีล
    และพรตบ้าง ด้วยมงคลตื่นข่าวเป็นต้นเป็นอันมากบ้าง
    สมณพราหมณ์เหล่านั้นประพฤติอยู่ในทิฐิของตนนั้น ตาม
    ที่ตนเห็นว่าเป็นเครื่องบริสุทธิ์ก็จริง ถึงอย่างนั้น เรากล่าวว่า
    สมณพราหมณ์เหล่านั้น ข้ามพ้นชาติและชราไปไม่ได้ ฯ
    น. สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยการ
    เห็นบ้าง ด้วยการฟังบ้าง ด้วยศีลและพรตบ้าง ด้วยมงคลตื่น
    ข่าวเป็นต้นเป็นอันมากบ้าง ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี ถ้าพระองค์
    ตรัสว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นข้ามโอฆะไม่ได้แล้ว ข้าแต่พระ
    องค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าในเทวโลกและ
    มนุษยโลก ข้ามพ้นชาติและชราได้แล้วในบัดนี้ ข้าแต่
    พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอพระ
    องค์จงตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ
    พ. ดูกรนันทะ เราไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมดอันชาติ
    และชราหุ้มห่อไว้แล้ว แต่เรากล่าวว่า คนเหล่าใดในโลก
    นี้ ละเสียซึ่งรูปที่ได้เห็นแล้วก็ดี เสียงที่ได้ฟังแล้วก็ดี
    อารมณ์ที่ได้ทราบแล้วก็ดี ละเสียแม้ซึ่งศีลและพรตทั้งหมด
    ก็ดี ละเสียซึ่งมงคลตื่นข่าวเป็นต้น เป็นอันมากทั้งหมด
    ก็ดี กำหนดรู้ตัณหาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ คนเหล่า
    นั้นแลข้ามโอฆะได้แล้ว ฯ
    น. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้โคดม ข้าพระองค์ยินดียิ่งซึ่งพระ
    ดำรัสของพระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ธรรมอันไม่มีอุปธิ
    พระองค์ทรงแสดงชอบแล้ว แม้ข้าพระองค์ก็กล่าวว่า คน
    เหล่าใดในโลกนี้ ละเสียซึ่งรูปที่ได้เห็นแล้วก็ดี เสียงที่
    ได้ฟังแล้วก็ดี อารมณ์ที่ได้ทราบแล้วก็ดี ละเสียแม้ซึ่งศีลและ
    พรตทั้งหมดก็ดี ละเสียซึ่งมงคลตื่นข่าวเป็นต้นเป็นอันมากทั้ง
    หมดก็ดี กำหนดรู้ตัณหาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ คนเหล่านั้น
    ข้ามโอฆะได้แล้ว ฉะนี้แล ฯ
    จบนันทมาณวกปัญหาที่ ๗





    <CENTER>เหมกปัญหาที่ ๘
    </CENTER>[๔๓๒] เหมกมาณพทูลถามปัญหาว่า
    (ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม) อาจารย์เหล่าใดได้พยากรณ์
    ลัทธิของตนแก่ข้าพระองค์ ในกาลก่อนว่า เหตุนี้ได้
    เป็นมาแล้วอย่างนี้ๆ จักเป็นอย่างนี้ๆ คำพยากรณ์ทั้งหมด
    ของอาจารย์เหล่านั้น ไม่ประจักษ์แก่ตน คำพยากรณ์
    ทั้งหมดนั้น เป็นเครื่องทำความตรึกให้ทวีมากขึ้น (ข้าพระ
    องค์ไม่ยินดีในคำพยากรณ์นั้น) ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี ขอ
    พระองค์จงตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องกำจัดตัณหา อันซ่าน
    ไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า
    ดูกรเหมกะ ชนเหล่าใดได้รู้ทั่วถึงบท คือ นิพพาน อันไม่แปรผัน
    เป็นที่บรรเทาฉันทราคะในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง และ
    สิ่งที่ได้ทราบ อันน่ารัก ณ ที่นี้ เป็นผู้มีสติ มีธรรมอันเห็น
    แล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ชนเหล่านั้นสงบระงับแล้ว มีสติ
    ข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกได้แล้ว ฯ

    จบเหมกมาณวกปัญหาที่ ๘



    โตเทยยปัญหาที่ ๙

    [๔๓๓] โตเทยยมาณพทูลถามปัญหาว่า
    ผู้ใดไม่มีกามทั้งหลาย ไม่มีตัณหา และข้ามความสงสัยได้
    แล้ว ความพ้นวิเศษของผู้นั้นเป็นอย่างไร ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรโตเทยยะ
    ผู้ใดไม่มีกามทั้งหลาย ไม่มีตัณหา และข้ามความสงสัยได้
    แล้ว ความพ้นวิเศษอย่างอื่นของผู้นั้นไม่มี ฯ
    ต. ผู้นั้นไม่มีความปรารถนา หรือยังปรารถนาอยู่ ผู้นั้นเป็น
    ผู้มีปัญญา หรือยังเป็นผู้มีปรกติกำหนดด้วยปัญญาอยู่ ข้า
    แต่พระองค์ผู้ศากยะ ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งมุนีได้อย่างไร
    ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุรอบคอบ ขอพระองค์จงตรัสบอก
    มุนีนั้นให้แจ้งชัดแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ
    พ. ดูกรโตเทยยะ ผู้นั้นไม่มีความปรารถนา และไม่เป็นผู้
    ปรารถนาอยู่ด้วย ผู้นั้นเป็นคนมีปัญญามิใช่เป็นผู้มีปรกติ
    กำหนดด้วยปัญญาอยู่ด้วย ท่านจงรู้จักมุนี ว่าเป็นผู้ไม่มี
    กิเลสเครื่องกังวลไม่ข้องอยู่แล้วในกามและภพแม้อย่างนี้ ฯ
    จบโตเทยยมาณวกปัญหาที่ ๙




    <CENTER>กัปปปัญหาที่ ๑๐
    </CENTER>[๔๓๔] กัปปมาณพทูลถามปัญหาว่า
    ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอพระองค์จงตรัสบอกซึ่งธรรมอัน
    เป็นที่พึ่งของชนทั้งหลาย ผู้อันชราและมรณะครอบงำแล้ว
    ดุจที่พึ่งของชนทั้งหลายผู้อยู่ในท่ามกลางสาคร เมื่อคลื่น
    เกิดแล้ว มีภัยใหญ่ฉะนั้น อนึ่ง ขอพระองค์จงตรัสบอก
    ที่พึ่งแก่ข้าพระองค์โดยอุบายที่ทุกข์นี้ไม่พึงมีอีกเถิด ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรกัปปะ
    เราจะบอกธรรม อันเป็นที่พึ่งของชนทั้งหลาย ผู้อันชรา
    และมรณะครอบงำแล้ว ดุจที่พึ่งของชนทั้งหลายผู้อยู่ใน
    ท่ามกลางสาคร เมื่อคลื่นเกิดแล้ว มีภัยใหญ่ แก่ท่าน
    ธรรมชาติไม่มีเครื่องกังวล ไม่มีความถือมั่น นี้เป็นที่พึ่ง หาใช่
    อย่างอื่นไม่ เรากล่าวที่พึ่งอันเป็นที่สิ้นไปแห่งชราและมรณะว่า
    นิพพาน ชนเหล่าใดรู้นิพพานนั้นแล้ว มีสติ มีธรรมอันเห็น
    แล้วดับกิเลสได้แล้ว ชนเหล่านั้นไม่อยู่ใต้อำนาจของมาร
    ไม่เดินไปในทางของมาร ฯ
    จบกัปปมาณวกปัญหาที่ ๑๐

    <CENTER>
    </CENTER></CENTER></CENTER></CENTER></CENTER>
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 27 พฤษภาคม 2010
  3. Kob

    Kob เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 เมษายน 2005
    โพสต์:
    6,161
    ค่าพลัง:
    +19,894
    <CENTER>ชตุกัณณีปัญหาที่ ๑๑</CENTER><CENTER> </CENTER>
    [๔๓๕] ชตุกัณณีมาณพทูลถามปัญหาว่า
    ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ข้าพระองค์ได้ฟังพระองค์ผู้ไม่
    ใคร่กาม จึงมาเฝ้าเพื่อทูลถามพระองค์ผู้ล่วงห้วงน้ำคือ
    กิเลสเสียได้ ไม่มีกาม ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระเนตรคือพระ
    สัพพัญญุตญาณเกิดพร้อมแล้ว ขอพระองค์ตรัสบอกทาง
    สันติ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์จงตรัสบอกทาง
    สันตินั้นแก่ข้าพระองค์ตามจริงเถิด เพราะว่าพระผู้มีพระภาค
    ทรงมีเดช ครอบงำกามทั้งหลายเสียแล้วด้วยเดช เหมือน
    พระอาทิตย์มีเดช คือ รัศมี ครอบงำปฐพีด้วยเดชไปอยู่ใน
    อากาศ ฉะนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีปัญญาดังแผ่นดิน
    ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมเครื่องละชาติละชรา ณ ที่นี้ ที่ข้า
    พระองค์ควรจะรู้แจ้ง แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยเถิด ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรชตุกัณณี ท่านได้เห็นซึ่ง
    เนกขัมมะโดยความเป็นธรรมอันเกษมแล้ว จงนำความ
    กำหนัดในกามทั้งหลายเสียให้สิ้นเถิด อนึ่ง กิเลสชาติเครื่อง
    กังวลที่ท่านยึดไว้แล้ว (ด้วยอำนาจตัณหาและทิฐิ) ซึ่งควร
    จะปลดเปลื้องเสีย อย่ามีแล้วแก่ท่าน กิเลสเครื่องกังวลใด
    ได้มีแล้วในกาลก่อน ท่านจงทำกิเลสเครื่องกังวลนั้นให้
    เหือดแห้งเสียเถิด กิเลสเครื่องกังวลในภายหลัง อย่าได้มี
    แก่ท่าน ถ้าท่านจักไม่ถือเอากิเลสเครื่องกังวลในท่ามกลาง
    ไซร้ ท่านจักเป็นผู้สงบเที่ยวไป ดูกรพราหมณ์ เมื่อ
    ท่านปราศจากความกำหนัดในนามและรูปแล้วโดยประการทั้ง
    ปวง อาสวะทั้งหลาย อันเป็นเหตุให้ไปสู่อำนาจแห่งมัจจุราช
    ก็ย่อมไม่มีแก่ท่าน ฯ

    <CENTER>จบชตุกัณณีมาณวกปัญหาที่ ๑๑</CENTER><CENTER> </CENTER><CENTER> </CENTER><CENTER></CENTER><CENTER><CENTER>ภัทราวุธปัญหาที่ ๑๒</CENTER><CENTER> </CENTER><CENTER>[๔๓๖] ภัทราวุธมาณพทูลถามปัญหาว่า</CENTER>ข้าพระองค์ขอทูลวิงวอนพระองค์ ผู้ทรงละอาลัย ตัดตัณหา
    เสียได้ ไม่หวั่นไหว ละความเพลิดเพลิน ข้ามห้วงน้ำคือ
    กิเลสได้แล้วพ้นวิเศษแล้ว ละธรรมเครื่องให้ดำริ มีพระปัญญา
    ดี ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ชนในชนบทต่างๆ
    ประสงค์จะฟังพระดำรัสของพระองค์ มาพร้อมกันแล้ว
    จากชนบททั้งหลาย ได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้ประเสริฐ
    แล้ว จักกลับไปจากที่นี้ ขอพระองค์จงตรัสพยากรณ์แก่ชน
    ในชนบทต่างๆ เหล่านั้นให้สำเร็จประโยชน์เถิด เพราะ
    ธรรมนี้พระองค์ทรงรู้แจ้งแล้วด้วยประการนั้น ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรภัทราวุธะ
    หมู่ชนควรจะนำเสียซึ่งตัณหา เป็นเครื่องถือมั่นทั้งปวง
    ในส่วนเบื้องบน เบื้องต่ำ และในส่วนเบื้องขวางสถาน
    กลาง ให้สิ้นเชิง เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมถือมั่นสิ่งใดๆ
    ในโลก มารย่อมติดตามสัตว์ได้เพราะสิ่งนั้นแหละ เพราะ
    เหตุนั้น ภิกษุเมื่อรู้ชัดอยู่ มาเล็งเห็นหมู่สัตว์ ผู้ติดข้องอยู่
    แล้วในวัฏฏะ อันเป็นบ่วงแห่งมารนี้ว่า เป็นหมู่สัตว์ติดข้อง
    อยู่แล้วเพราะการถือมั่นดังนี้ พึงเป็นผู้มีสติ ไม่ถือมั่นเครื่อง
    กังวลในโลกทั้งปวง ฯ

    <CENTER>จบภัทราวุธมาณวกปัญหาที่ ๑๒
    </CENTER>

    </CENTER><CENTER><CENTER> </CENTER><CENTER>อุทยปัญหาที่ ๑๓
    </CENTER>[๔๓๗] อุทยมาณพทูลถามปัญหาว่า
    ข้าพระองค์มีความต้องการปัญหา จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้เพ่งฌาน
    ปราศจากธุลี ทรงนั่งโดยปรกติ ทรงทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มี
    อาสวะ ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ขอพระองค์จงตรัสบอก
    ธรรมอันเป็นเครื่องพ้นที่ควรรู้ทั่วถึง สำหรับทำลายอวิชชา
    เถิด ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรอุทยะ
    เรากล่าวธรรมเป็นเครื่องละความพอใจในกาม และโทมนัส
    ทั้งสองอย่าง เป็นเครื่องบรรเทาความง่วงเหงา เป็นเครื่อง
    ห้ามความรำคาญ บริสุทธิ์ดีเพราะอุเบกขาและสติ มีความ
    ตรึกถึงธรรมแล่นไปในเบื้องหน้า ว่าเป็นธรรมเครื่องพ้นที่
    ควรรู้ทั่วถึงสำหรับทำลายอวิชชา ฯ
    อุ. โลกมีธรรมอะไรประกอบไว้ ธรรมชาติอะไรเป็นเครื่อง
    พิจารณา (เป็นเครื่องสัญจร) ของโลกนั้น เพราะละธรรม
    อะไรได้เด็ดขาด ท่านจึงกล่าวว่า นิพพาน ฯ
    พ. โลกมีความเพลิดเพลินประกอบไว้ ความตรึกไปต่างๆ เป็น
    เครื่องพิจารณา (เป็นเครื่องสัญจร) ของโลกนั้น เพราะ
    ละตัณหาได้เด็ดขาด ท่านจึงกล่าวว่า นิพพาน ฯ
    อุ. เมื่อบุคคลระลึกอย่างไรเที่ยวไปอยู่ วิญญาณจึงจะดับ
    ข้าพระองค์ทั้งหลายมาเฝ้าเพื่อทูลถามพระองค์ ข้าพระองค์
    ทั้งหลาย ขอฟังพระดำรัสของพระองค์ ฯ
    พ. เมื่อบุคคลไม่เพลิดเพลินเวทนา ทั้งภายในและภายนอก
    ระลึกอย่างนี้เที่ยวไปอยู่ วิญญาณจึงจะดับ ฯ

    <CENTER>จบอุทยมาณวกปัญหาที่ ๑๓

    </CENTER><CENTER><CENTER> </CENTER><CENTER>โปสาลปัญหาที่ ๑๔
    </CENTER>[๔๓๘] โปสาลมาณพทูลถามปัญหาว่า
    ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหา จึงได้มาเฝ้าพระองค์
    พระผู้มีพระภาคผู้ทรงแสดงอ้างสิ่งที่ล่วงไปแล้ว (พระปรีชา
    ญาณในกาลอันเป็นอดีต) ไม่ทรงหวั่นไหว ทรงตัดความ
    สงสัยได้แล้ว ทรงบรรลุถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ข้าแต่
    พระผู้มีพระภาคผู้ศากยะ ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณ
    ของบุคคลผู้มีความสำคัญในรูปก้าวล่วงเสียแล้ว ละรูป
    กายได้ทั้งหมด เห็นอยู่ว่าไม่มีอะไรน้อยหนึ่งทั้งภายในและ
    ภายนอก บุคคลเช่นนั้นควรแนะนำอย่างไร ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรโปสาละ
    พระตถาคตทรงรู้ยิ่ง ซึ่งภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณทั้งปวง ทรง
    ทราบบุคคลนั้นผู้ยังดำรงอยู่ ผู้น้อมไปแล้วในอากิญจัญ-
    ญายตนสมาบัติเป็นต้น ผู้มีอากิญจัญญายตนสมาบัติเป็นต้น
    นั้นเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ผู้ที่เกิดในอากิญจัญญายตนสมาบัติ
    ว่ามีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบ ดังนี้แล้ว แต่นั้น
    ย่อมเห็นแจ้งในอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้น ญาณของ
    บุคคลนั้นผู้เป็นพราหมณ์ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว เป็นญาณ
    อันถ่องแท้อย่างนี้ ฯ

    <CENTER>จบโปสาลมาณวกปัญหาที่ ๑๔

    </CENTER><CENTER><CENTER> </CENTER><CENTER>โมฆราชปัญหาที่ ๑๕
    </CENTER>[๔๓๙] โมฆราชมาณพทูลถามปัญหาว่า
    ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ศากยะ ข้าพระองค์ได้ทูลถามปัญหา
    ถึงสองครั้งแล้ว พระองค์ผู้มีพระจักษุไม่ทรงพยากรณ์แก่
    ข้าพระองค์ แต่ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ผู้เป็นเทพฤาษี จะทรงพยากรณ์ในครั้งที่สาม (ข้าพระองค์จึง
    ขอทูลถามว่า) โลกนี้ โลกอื่น พรหมโลกกับทั้งเทวโลก
    ข้าพระองค์ย่อมไม่ทราบความเห็นของพระองค์ผู้โคดม ผู้-
    เรืองยศ ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหา จึงได้มาเฝ้า
    พระองค์ (ผู้มีปรกติเห็นก้าวล่วงวิสัยของสัตว์โลก) ผู้มี
    ปรกติเห็นธรรมอันงามอย่างนี้ บุคคลผู้พิจารณาเห็นโลก
    อย่างไร มัจจุราชจึงจะไม่เห็น ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า
    ดูกรโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นโลกโดย
    ความเป็นของว่างเปล่าเถิด จงถอนความตามเห็นว่าเป็นตัวตน
    เสียแล้ว พึงเป็นผู้ข้ามพ้นมัจจุราชได้ด้วยอาการอย่างนี้
    บุคคลผู้พิจารณาเห็นโลกอยู่อย่างนี้ มัจจุราชจึงจะไม่เห็น ฯ

    <CENTER></CENTER><CENTER>จบโมฆราชมาณวกปัญหาที่ ๑๕

    </CENTER><CENTER><CENTER> </CENTER><CENTER>ปิงคิยปัญหาที่ ๑๖
    </CENTER>[๔๔๐] ปิงคิยมาณพทูลถามปัญหาว่า
    ข้าพระองค์เป็นคนแก่แล้ว มีกำลังน้อย ผิวพรรณเศร้าหมอง
    นัยน์ตาทั้งสองของข้าพระองค์ไม่ผ่องใส (เห็นไม่จะแจ้ง)
    หูสำหรับฟังก็ไม่สะดวก ขอข้าพระองค์อย่างได้เป็นคนหลง
    ฉิบหายเสียในระหว่างเลย ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่
    ข้าพระองค์ควรรู้ ซึ่งเป็นเครื่องละชาติและชราในอัตภาพนี้
    เสียเถิด ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรปิงคิยะ
    ชนทั้งหลายได้เห็นเหล่าสัตว์ผู้เดือดร้อนอยู่ เพราะรูปทั้งหลาย
    แล้ว ยังเป็นผู้ประมาทก็ย่อยยับอยู่เพราะรูปทั้งหลาย ดูกร-
    ปิงคิยะเพราะเหตุนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาทละรูปเสีย
    เพื่อความไม่เกิดอีก ฯ
    ปิ. ทิศใหญ่สี่ ทิศน้อยสี่ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ รวมเป็น
    สิบทิศ สิ่งไรๆ ในโลกที่พระองค์ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง
    ไม่ได้ทราบ หรือไม่ได้รู้แจ้ง มิได้มี ขอพระองค์จงตรัส
    บอกธรรมที่ข้าพระองค์ควรรู้ เป็นเครื่องละชาติและชราใน
    อัตภาพนี้เถิด ฯ
    พ. ดูกรปิงคิยะ เมื่อท่านเห็นหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำแล้ว
    เกิดความเดือดร้อน อันชราถึงรอบข้าง ดูกรปิงคิยะ เพราะ
    เหตุนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาทละตัณหาเสีย เพื่อความ
    ไม่เกิดอีก ฯ

    <CENTER>จบปิงคิยมาณวกปัญหาที่ ๑๖</CENTER><CENTER> </CENTER><CENTER> </CENTER><CENTER> </CENTER>[๔๔๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาสาณเจดีย์ในมคธชนบท
    ได้ตรัสปารายนสูตรนี้ อันพราหมณ์มาณพ ๑๖ คน ผู้เป็น
    บริวารของพราหมณ์พาวรี ทูลอาราธนาแล้ว ได้ตรัสพยากรณ์
    ปัญหา แม้หากว่าการกบุคคลรู้ทั่วถึงอรรถรู้ทั่วถึงธรรมแห่ง
    ปัญหาหนึ่งๆ แล้วพึงปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรมไซร้
    การกบุคคลนั้น ก็พึงถึงฝั่งโน้นแห่งชราและมรณะได้แน่แท้
    เพราะธรรมเหล่านี้ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่การถึงฝั่งโน้น
    เพราะเหตุนั้น คำว่าปรายนะ จึงเป็นชื่อแห่งธรรมปริยายนี้ ฯ
    [๔๔๒] พราหมณ์มาณพผู้อาราธนาทูลถามปัญหา ๑๖ คนนั้น คือ
    อชิตมาณพ ๑ ติสสเมตเตยยมาณพ ๑ ปุณณกมาณพ ๑
    เมตตคูมาณพ ๑ โธตกมาณพ ๑ อุปสีวมาณพ ๑ นันทมาณพ ๑
    เหมกมาณพ ๑ โตเทยยมาณพ ๑ กัปปมาณพ ๑ ชตุกัณณี-
    มาณพผู้เป็นบัณฑิต ๑ ภัทราวุธมาณพ ๑ อุทยมาณพ ๑
    โปสาลพราหมณ์มาณพ ๑ โมฆราชมาณพผู้มีปัญญา ๑
    ปิงคิยมาณพผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ๑ พราหมณ์มาณพทั้ง ๑๖
    คนนี้ ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ทรงมี
    จรณะอันสมบูรณ์ พราหมณ์มาณพทั้ง ๑๖ คน ได้เข้าไปเฝ้า
    ทูลถามปัญหาอันละเอียด กะพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด
    พระพุทธเจ้าผู้เป็นมุนีได้ตรัสพยากรณ์ปัญหาที่พราหมณ์มาณพ
    เหล่านั้นทูลถามแล้วตามจริงแท้ ทรงให้พราหมณ์มาณพ
    ทั้งหลายยินดีแล้ว ด้วยการตรัสพยากรณ์ปัญหาทุกๆ ปัญหา
    พราหมณ์มาณพทั้ง ๑๖ คนเหล่านั้น อันพระพุทธเจ้าผู้เป็น
    เผ่าพันธุ์ พระอาทิตย์ผู้มีจักษุให้ยินดีแล้ว ได้ประพฤติ
    พรหมจรรย์ในสำนักของพระพุทธเจ้า ผู้มีพระปัญญาอัน
    ประเสริฐ เนื้อความแห่งปัญหาหนึ่งๆ ที่พระพุทธเจ้าทรง-
    แสดงแล้วด้วยประการใด ผู้ใดพึงปฏิบัติตามด้วยประการนั้น
    ก็พึงจากฝั่งนี้ไปถึงฝั่งโน้นได้ ผู้นั้นเจริญมรรคอันอุดมอยู่
    ก็พึงจากฝั่งนี้ไปถึงฝั่งโน้นได้ ธรรมปริยายนั้นเป็นทางเพื่อไป
    สู่ฝั่งโน้น เพราะฉะนั้น ธรรมปริยายนั้นจึงชื่อว่า ปรายนะ ฯ
    [๔๔๓] ปิงคิยมาณพกล่าวคาถาว่า
    อาตมาจักขับตามภาษิตเครื่องไปยังฝั่งโน้น (อาตมาขอกล่าว
    ตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นแล้วด้วยพระญาณ) พระ-
    พุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ปราศจากมลทิน มีพระปัญญากว้างขวาง
    ไม่มีความใคร่ ทรงดับกิเลสได้แล้ว จะพึงตรัสมุสาเพราะ
    เหตุอะไร เอาเถิด อาตมาจักแสดงวาจาที่ควรเปล่งอันประกอบ
    ด้วยคุณของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงละความหลงอันเป็นมลทิน
    ได้แล้ว ทรงละความถือตัวและความลบหลู่ได้เด็ดขาด ดูกร
    ท่านพราหมณาจารย์ พระพุทธเจ้าทรงบรรเทาความมืด มี
    พระจักษุรอบคอบ ทรงถึงที่สุดของโลก ทรงล่วงภพได้
    ทั้งหมด ไม่มีอาสวะ ทรงละทุกข์ได้ทั้งปวง มีพระนามตาม
    ความเป็นจริงว่า พุทโธอันอาตมาเข้าเฝ้าแล้ว นกพึงละป่าเล็ก
    แล้วมาอยู่อาศัยป่าใหญ่อันมีผลไม้มาก ฉันใด อาตมา มาละ
    คณาจารย์ผู้มีความเห็นน้อยแล้ว ได้ประสบพระพุทธเจ้าผู้มี
    ความเห็นประเสริฐ เหมือนหงส์โผลงสู่สระใหญ่ แม้ฉันนั้น
    ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม อาจารย์เหล่าใด ได้พยากรณ์
    ลัทธิของตนแก่อาตมาในกาลก่อนว่า เหตุนี้ได้เป็นมาแล้ว
    อย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้ คำพยากรณ์ของอาจารย์เหล่านั้น
    ทั้งหมด ไม่ประจักษ์แก่ตน คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้น เป็น
    เครื่องทำความตรึกให้ทวีมากขึ้น (อาตมาไม่พอใจในคำ
    พยากรณ์นั้น) พระโคดมพระองค์เดียวทรงบรรเทาความมืด
    สงบระงับ มีพระรัศมีโชติช่วง มีพระปัญญาเป็นเครื่อง
    ปรากฏดุจแผ่นดิน มีพระปัญญากว้างขวาง ได้ทรงแสดงธรรม
    อันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล เป็นที่สิ้นตัณหา
    ไม่มีจัญไร หาอุปมาในที่ไหนๆ มิได้ แก่อาตมา ฯ
    พราหมณ์พาวรีผู้อาจารย์กล่าวคาถาถามพระปิงคิยะว่า
    ท่านปิงคิยะ พระโคดมพระองค์ใด ได้ทรงแสดงธรรมอัน
    บุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล เป็นที่สิ้นตัณหา
    ไม่มีจัญไร หาอุปมาในที่ไหนๆ มิได้แก่ท่าน เพราะเหตุไร
    หนอ ท่านจึงอยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น ผู้มีพระ-
    ปัญญาเป็นเครื่องปรากฏดุจแผ่นดิน มีพระปัญญากว้างขวาง
    สิ้นกาลแม้ครู่หนึ่งเล่า ฯ
    พระปิงคิยะกล่าวคาถาตอบพราหมณ์พาวรีผู้อาจารย์ว่า
    ท่านพราหมณ์ พระโคดมพระองค์ใด ได้ทรงแสดงธรรมอัน
    บุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล เป็นที่สิ้นตัณหา
    ไม่มีจัญไร หาอุปมาในที่ไหนๆ มิได้ แก่อาตมา อาตมา
    มิได้อยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น ผู้มีพระปัญญาเป็น
    เครื่องปรากฏดุจแผ่นดิน มีพระปัญญากว้างขวาง สิ้นกาล
    แม้ครู่หนึ่ง ท่านพราหมณ์ อาตมาไม่ประมาททั้งกลางคืน
    กลางวัน เห็นอยู่ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้โคดมพระองค์นั้นด้วยใจ
    เหมือนเห็นด้วยจักษุ ฉะนั้น อาตมานมัสการอยู่ซึ่งพระ-
    พุทธเจ้าผู้โคดมพระองค์นั้นตลอดราตรี อาตมามาสำคัญความ
    ไม่อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าผู้โคดมพระองค์นั้น ด้วยความไม่
    ประมาทนั้น ศรัทธา ปีติ มานะ และสติของอาตมา
    ย่อมน้อมไปในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าผู้โคดม พระ-
    พุทธเจ้าผู้โคดมผู้มีพระปัญญากว้างขวาง ประทับอยู่ยังทิศาภาค
    ใดๆ อาตมานั้นเป็นผู้นอบน้อมไปโดยทิศาภาคนั้นๆ นั่นแล
    ร่างกายของอาตมาผู้แก่แล้ว มีกำลังและเรี่ยวแรงน้อยนั่นเอง
    ท่านพราหมณ์ อาตมาไปสู่พระพุทธเจ้าด้วยการไปแห่งความ
    ดำริเป็นนิตย์ เพราะว่าใจของอาตมาประกอบแล้วด้วยพระ-
    พุทธเจ้านั้น อาตมานอนอยู่บนเปือกตม คือกาม ดิ้นรนอยู่
    (เพราะตัณหา) ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่เกาะหนึ่ง ครั้งนั้นอาตมา
    ได้เห็นพระสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ ฯ
    (ในเวลาจบคาถานี้ พระผู้มีพระภาคทรงทราบความแก่กล้าแห่งอินทรีย์
    ของพระปิงคิยะและพราหมณ์พาวรีแล้ว ประทับอยู่ ณ นครสาวัตถีนั้นเอง
    ทรงเปล่งพระรัศมีดุจทองไปแล้ว พระปิงคิยะกำลังนั่งพรรณนาพระพุทธคุณแก่
    พราหมณ์พาวรีอยู่ ได้เห็นพระรัศมีแล้วคิดว่า นี้อะไร เหลียวแลไป ได้เห็น
    พระผู้มีพระภาคประหนึ่งประทับอยู่เบื้องหน้าตน จึงบอกแก่พราหมณ์พาวรีว่า
    พระพุทธเจ้าเสด็จมาแล้ว พราหมณ์พาวรีได้ลุกจากอาสนะประคองอัญชลียืนอยู่
    แม้พระผู้มีพระภาค เมื่อจะทรงแผ่พระรัศมีแสดงพระองค์แก่พราหมณ์พาวรี
    ทรงทราบธรรมเป็นที่สบายของพระปิงคิยะและพราหมณ์พาวรีทั้งสองแล้ว เมื่อจะ
    ตรัสเรียกแต่พระปิงคิยะองค์เดียว จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า)
    ดูกรปิงคิยะ พระวักกลิ พระภัทราวุธะ และพระอาฬวีโคดม
    เป็นผู้มีศรัทธาน้อมลงแล้ว (ได้บรรลุอรหัตด้วยศรัทธาธุระ)
    ฉันใด แม้ท่านก็จงปล่อยศรัทธาลง ฉันนั้น ดูกรปิงคิยะ
    เมื่อท่านน้อมลงด้วยศรัทธาปรารภวิปัสสนา โดยนัยเป็นต้นว่า
    สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ก็จักถึงนิพพาน อันเป็นฝั่งโน้นแห่ง
    วัฏฏะอันเป็นบ่วงแห่งมัจจุราช ฯ
    พระปิงคิยะเมื่อจะประกาศความเลื่อมใสของตนจึงกราบทูลว่า
    ข้าพระองค์นี้ย่อมเลื่อมใสอย่างยิ่ง เพราะได้ฟังพระวาจาของ
    พระองค์ผู้เป็นมุนี พระองค์มีกิเลสดุจหลังคาอันเปิดแล้ว
    ตรัสรู้แล้วด้วยพระองค์เอง ไม่มีกิเลสดุจเสาเขื่อน ทรงมี
    ปฏิภาณ ทรงทราบธรรมเป็นเหตุกล่าวว่าประเสริฐยิ่ง ทรง-
    ทราบธรรมชาติทั้งปวง ทั้งเลวและประณีต พระองค์เป็น
    ศาสดาผู้กระทำที่สุดแห่งปัญหาทั้งหลาย แก่เหล่าชนผู้มีความ
    สงสัยปฏิญาณอยู่ นิพพานอันกิเลสมีราคะเป็นต้นไม่พึงนำ
    ไปได้ เป็นธรรมไม่กำเริบ หาอุปมาในที่ไหนๆ มิได้
    ข้าพระองค์จักถึงอนุปาทิเสสนิพพานธาตุแน่แท้ ข้าพระองค์
    ไม่มีความสงสัยในนิพพานนี้เลย ขอพระองค์จงทรงจำ
    ข้าพระองค์ว่า เป็นผู้มีจิตน้อมไปแล้ว (ในนิพพาน) ด้วย
    ประการนี้แล ฯ

    <CENTER>จบปารายนวรรคที่ ๕

    </CENTER><CENTER class=l>-----------------------------------------------------

    </CENTER><CENTER>รวมพระสูตรที่มีในสุตตนิบาตนี้ คือ
    </CENTER>[๔๔๔] ๑. อุรคสูตร ๒. ธนิยสูตร ๓. ขัคควิสาณสูตร
    ๔. กสิภารทวาชสูตร ๕. จุนทสูตร ๖. ปราภวสูตร
    ๗. วสลสูตร ๘. เมตตสูตร ๙. เหมวตสูตร ๑๐. อาฬวกสูตร
    ๑๑. วิชยสูตร ๑๒. มุนีสูตร วรรคที่ ๑ นี้มีเนื้อความ
    ดีมาก รวมพระสูตรได้ ๑๒ สูตร พระผู้มีพระภาคผู้มี-
    พระจักษุหามลทินมิได้ ทรงจำแนกแสดงไว้ดีแล้ว บัณฑิต
    ทั้งหลายได้สดับกันมาว่า อุรควรรค ฯ
    ๑. รตนสูตร ๒. อามคันธสูตร ๓. หิริสูตร ๔. มังคลสูตร
    ๕. สุจิโลมสูตร ๖. ธรรมจริยสูตร ๗. พราหมณธรรม-
    มิกสูตร ๘. นาวาสูตร ๙. กึสีลสูตร ๑๐. อุฏฐานสูตร
    ๑๑. ราหุลสูตร ๑๒. วังคีสสูตร ๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร
    ๑๔. ธรรมิกสูตร วรรคที่ ๒ นี้รวมพระสูตรได้ ๑๔ สูตร
    พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกไว้ดีแล้ว ในวรรคที่ ๒ นั้น
    บัณฑิตทั้งหลายกล่าววรรคที่ ๒ นั้นว่า จุฬกวรรค ฯ
    ๑. ปัพพัชชาสูตร ๒. ปธานสูตร ๓. สุภาษิตสูตร
    ๔. สุนทริกสูตร ๕. มาฆสูตร ๖. สภิยสูตร ๗. เสลสูตร
    ๘. สัลลสูตร ๙. วาเสฏฐสูตร ๑๐. โกกาลิกสูตร
    ๑๑. นาลกสูตร ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร วรรคที่ ๓ นี้
    รวมพระสูตรได้ ๑๒ สูตร พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกไว้
    ดีแล้วในวรรคที่ ๓ บัณฑิตได้สดับกันมามีชื่อว่า มหาวรรค ฯ
    ๑. กามสูตร ๒. คุหัฏฐกสูตร ๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร
    ๔. สุทธัฏฐกสูตร ๕. ปรมัฏฐกสูตร ๖. ชราสูตร
    ๗. ติสสเมตเตยยสูตร ๘. ปสูรสูตร ๙. มาคันทิยสูตร
    ๑๐. ปุราเภทสูตร ๑๑. กลหวิวาทสูตร ๑๒. จูฬวิยูหสูตร
    ๑๓. มหาวิยูหสูตร ๑๔. ตุวฏกสูตร ๑๕. อัตตทัณฑสูตร
    ๑๖. สาริปุตตสูตร วรรคที่ ๔ นี้รวมพระสูตรได้ ๑๖ สูตร
    พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกไว้ดีแล้วในวรรคที่ ๔ บัณฑิต-
    ทั้งหลายกล่าววรรคที่ ๔ นั้นว่า อัฏฐกวรรค ฯ
    พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐในคณะ ประทับอยู่ ณ ปาสาณก-
    เจดีย์อันประเสริฐ อันบุคคลตกแต่งไว้ดีแล้ว ในมคธชนบท
    เป็นรัมณียสถาน เป็นประเทศอันสวยงาม เป็นที่อยู่อาศัย
    แห่งบุคคลผู้มีบุญอันได้กระทำไว้แล้ว อนึ่ง ได้ยินว่า พระผู้มี
    พระภาคอันพราหมณ์ ๑๖ คน ทูลถามปัญหาแล้ว ได้ทรง
    ประกาศประทานธรรมกะชนทั้งสองพวกผู้มาประชุมกันเต็มที่
    ณ ปาสาณกเจดีย์ ในบริษัทประมาณ ๑๒ โยชน์ เพราะการ
    ถามโสฬสปัญหา พระผู้มีพระภาคผู้ทรงชนะ ผู้เลิศกว่าสัตว์
    ได้ทรงแสดงธรรมอันประกาศอรรถบริบูรณ์ด้วยพยัญชนะ
    เป็นที่เกิดความเกษมอย่างยิ่ง เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่โลก
    พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าสัตว์ ได้ทรงแสดงพระสูตรอันวิจิตร
    ด้วยธรรมเป็นอันมาก เป็นเหตุให้ปลดเปลื้องกิเลสทั้งปวง
    ได้ทรงแสดงพระสูตร อันประกอบด้วยบทแห่งพยัญชนะ และ
    อรรถ มีความเปรียบเทียบซึ่งหมายรู้กันแล้วด้วยอักขระอัน
    มั่นคง เป็นส่วนแห่งความแจ่มแจ้งแห่งวิจารณญาณของโลก
    พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าสัตว์ ได้ทรงแสดงพระสูตรอันไม่มี
    มลทินเพราะมลทินคือราคะ มลทินคือโทสะ มลทินคือโมหะ
    เป็นส่วนแห่งธรรมปราศจากมลทิน เป็นส่วนแห่งความ
    แจ่มแจ้งแห่งวิจารณญาณของโลก ได้ทรงแสดงพระสูตรอัน
    ประเสริฐ อันไม่มีมลทินเพราะมลทินคือกิเลส มลทินคือ
    ทุจริต เป็นส่วนแห่งธรรมปราศจากมลทิน เป็นส่วนแห่ง
    ความแจ่มแจ้งแห่งวิจารณญาณของโลก ได้ทรงแสดงพระสูตร
    อันประเสริฐเป็นเหตุปลดเปลื้องอาสวะ กิเลสเป็นเครื่องผูก
    กิเลสเป็นเครื่องประกอบ นิวรณ์ และมลทินทั้ง ๓ ของ
    โลกนั้น พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าสัตว์ ได้ทรงแสดงพระสูตร
    อันประเสริฐหามลทินมิได้ เป็นเครื่องบรรเทาความเศร้า
    หมองทุกอย่าง เป็นเครื่องคลายความกำหนัด ไม่มีความ
    หวั่นไหว ไม่มีความโศก เป็นธรรมอันละเอียด ประณีตและ
    เห็นได้ยาก ได้ทรงแสดงพระสูตรอันประเสริฐ อันหักราน
    ราคะและโทสะให้สงบ เป็นเครื่องตัดกำเนิด ทุคติ วิญญาณ ๕
    ความยินดีในพื้นฐาน คือ ตัณหา เป็นเครื่องต้านทานและเป็น
    เครื่องพ้น ได้ทรงแสดงพระสูตรอันประเสริฐ ลึกซึ้งเห็น
    ได้ยากและละเอียดอ่อน มีอรรถอันละเอียดบัณฑิตควรรู้แจ้ง
    เป็นส่วนแห่งความแจ่มแจ้งแห่งวิจารณญาณของโลก ได้ทรง
    แสดงพระสูตรอันประเสริฐ ดุจดอกไม้เครื่องประดับอันยั่งยืน
    ๙ ชนิด อันจำแนกอินทรีย์ ฌานและวิโมกข์ มีมรรคมีองค์ ๘
    เป็นยานอย่างประเสริฐ พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าสัตว์ ได้ทรง
    แสดงพระสูตรอันประเสริฐ ปราศจากมลทิน บริสุทธิ์
    เปรียบด้วยห้วงน้ำวิจิตรด้วยรตนะ เสมอด้วยดอกไม้ มีเดช
    อันเปรียบด้วยพระอาทิตย์ พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าสัตว์
    ได้ทรงแสดงพระสูตรอันประเสริฐ ปลอดโปร่ง เกษม ให้สุข
    เย็นสงบ มีประโยชน์อย่างยิ่งในการต่อต้านมัจจุ เป็นเหตุ
    ให้เห็นนิพพานอันดับกิเลสสนิทดีแล้วของโลกนั้น ฯ

    <CENTER>จบสุตตนิบาต
    </CENTER></CENTER></CENTER></CENTER></CENTER>
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 27 พฤษภาคม 2010
  4. AddWassana

    AddWassana เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    11,698
    ค่าพลัง:
    +21,186
    <TABLE cellPadding=6 width=512><TBODY><TR><TD align=middle>[​IMG]</TD></TR></TBODY></TABLE>
     
  5. wvichakorn

    wvichakorn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    3,689
    ค่าพลัง:
    +9,239
    [​IMG]
    ขออนุโมทนาบุญค่ะ..คุณกบ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 3 มิถุนายน 2010
  6. บุญญสิกขา

    บุญญสิกขา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 เมษายน 2008
    โพสต์:
    2,863
    ค่าพลัง:
    +14,471
    ด้วยความนอบน้อมบูชาพระสัทธรรมเจ้าทั้งปวง สาธุ สาธุ สาธุ

    โสฬสปัญหา
    บทธรรมที่ใช้ทดสอบภูมิธรรมในการปฏิบัติ

    [​IMG]


    ด้วยความนอบน้อมพระสัทธรรมทั้งปวง
    คุณพี่กบคัดมาอ่าน ฟังแล้วได้ปิติอรรถรส
    กราบสาธุการค่ะ


    วัตถุกถา
    กล่าวถึงเรื่องราวที่เป็นเหตุให้เกิดมีโสฬสปัญหาขึ้น
    เป็นเชิงบทนำของโสฬสปัญหา


    โสฬสปัญหาพร้อมทั้งคำพยากรณ์ เป็นธรรมชั้นสูงในพระพุทธศาสนา มีความละเอียดลึกซึ้งทั้งในด้านอรรถะ ทั้งในด้านพยัญชนะ ยังมีธรรมบรรยายอันแสดงถึงความหมายของการปฏิบัติธรรม และแสดงหลักปฏิบัติในการฝึกปฏิบัติสมาธิกรรมฐานหรือจิตตภาวนา เพื่อประโยชน์ทั้งในด้านเพิ่มพูนความรู้ธรรม และรู้วิธีปฏิบัติพัฒนาตนไปพร้อมกัน ทั้งในด้านทฤษฎี (ปริยัติ) ทั้งในด้านปฏิบัติ (แนะวิธีและขั้นตอนในการปฏิบัติ) ตั้งแต่เบื้องต้นไปจนถึงระดับสูง ให้ได้ทั้งความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมและสามารถนำไปปฏิบัติด้วยตนเองได้ด้วย

    เพื่อให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์ทั้งในด้านเพิ่มพูนความรู้ธรรมและรู้วิธีปฏิบัติพัฒนาไปพร้อมกัน.

    เมื่อท่านปฏิบัติได้ลงมือปฏิบัติมามากแล้ว และเข้าใจได้ดีหมดว่า ธรรมแต่ละคำถาม หมายถึงอะไร มีสภาวะที่แท้จริงอย่างไร ...


    อนุโมทนากราบบุญ ท่านเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จิตรกรเอกผู้รังสรรค์ภาพนำมาประกอบ : จากอินเตอร์
    อนุโมทนาที่มาข้อมูล : http://www.mahamakuta.inet.co.th/T-BOOK/P-121.html
    http://www.oknation.net/blog/print.php?id=491007
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 3 พฤษภาคม 2011

แชร์หน้านี้

Loading...