ธรรมะรู้ได้เฉพาะตน....ณิศรา หรยางกูร

ในห้อง 'พุทธศาสนากับคนดัง' ตั้งกระทู้โดย paang, 1 พฤษภาคม 2006.

  1. paang

    paang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2005
    โพสต์:
    9,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +34,328
    [​IMG]


    "กำลังทำวิทยานิพนธ์อยู่ค่ะ เกี่ยวกับคนในกรุงเทพฯ ที่ปฏิบัติธรรม มีอายุระหว่าง 20-50 ปี ที่เลือกช่วงอายุนี้เพราะคนที่อายุ 20-30 ปี เป็นช่วงที่เขาตัดสินใจในชีวิต เป็นเวลาที่เขาจะเลือกงาน เลือกครอบครัว เป็นช่วงที่เปลี่ยนแปลงชีวิต และกลุ่มอายุ 30-50 ปี เป็นกลุ่มที่เริ่มตัดสินใจเรื่องงานแล้ว มีครอบครัวแล้ว มีลูกแล้ว พอเริ่มปฏิบัติธรรมชีวิตเป็นอย่างไร การปฏิบัติธรรมเปลี่ยนวิถีชีวิตเขามั้ย หรือว่าจะทำให้เขาใช้ชีวิตอย่างไรหลังจากนั้น"
    นั่นคือเหตุผลที่เรามานั่งคุยกับ ณิศรา หรยางกูร นักศึกษาระดับปริญญาโททางด้าน South East Asia Studies Program หลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้กำลังขะมักเขม้นทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "การนำธรรมะมาใช้ในชีวิตจริงของคนกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร" ที่เรากำลังสนทนากับเธอเพื่อให้หายสงสัยว่าทำไมจึงสนใจคนกลุ่มนี้

    ณิศรา เล่าถึงต้นเหตุของความสนใจว่า เพราะอยากเข้าใจฆราวาสที่นำการปฏิบัติธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง บางคนเป็นแม่บ้าน บางคนทำงานนอกบ้าน บางคนมีครอบครัว บางคนโสด ถ้าเขาไม่บวชเขาทำอะไรบ้าง มีการปฏิบัติที่เข้มข้นอย่างไรบ้าง สามารถเติมเต็มด้านจิตวิญญาณให้กับตัวเองอย่างไร แต่ละคนมี Spiritual Goal ในชีวิตกันอย่างไร

    มีหลายเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์ที่เธอทำอยู่ ณิศราเล่าว่า เนื่องจากเธอเติบโตในฟิลิปปินส์ ที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก
    "บ้านเราอยู่ใกล้โบสถ์ ต้องไปขอจอดรถในโบสถ์ประจำก็เลยรู้จักมาเซอร์ ซิสเตอร์ที่นั่น ซึ่งซิสเตอร์ก็มาสอนเต้นรำแบบฟิลิปปินส์ให้เรากับพี่สาว ส่วนคุณแม่ก็ทำอาหารใส่ปิ่นโตไปถวายมาเซอร์ที่เป็นหญิงไทยไปบวชอยู่ที่โบสถ์นั้นเป็นประจำ เราเลยรู้สึกผูกพันกับวัด กับโบสถ์ กับนักบวชหญิงมาตั้งแต่เล็ก"
    พอย้อนกลับไปก็ทำให้ณิศราหรือนิด รู้สึกว่า อืม...แท้จริงแล้ว ความสนใจเรื่องการปฏิบัติธรรมเริ่มต้นมาตั้งแต่เล็กๆ นี่เอง เพราะเราเป็นชาวพุทธแต่เราก็ยังทำอาหารใส่ปิ่นโตไปถวายให้กับมาเซอร์คาทอลิก

    "ทำให้รู้สึกว่าทุกศาสนาเหมือนกัน เวลากลับมาเมืองไทยก็ชอบไปวัด มีครั้งหนึ่งไปวัดไทย ตอนนั้นนิดอายุ 9 ขวบเอง แล้วไปเจอแม่ชีท่านหนึ่ง เห็นท่านสวดมนต์ นั่งสมาธิ และดูท่านสงบ เย็นก็รู้สึกว่าชีวิตที่ใกล้ศาสนาน่าจะเป็นชีวิตที่ดีนะ"

    ตอนนั้นแม่ชีท่านยังสอนสวดมนต์และเขียนบทสวดมนต์เป็นภาษาอังกฤษให้นิดสวดได้ง่ายขึ้น เธอเล่าว่า ก็ยังหัดสวด อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา แม้ว่าจะไม่รู้ความหมาย แต่ได้สวดเป็นภาษาบาลีก็รู้สึกสบายใจ
    "นิดชอบสวดมนต์ค่ะ ตอนอยู่ฟิลิปปินส์ก็เลยหาโอกาสศึกษาพุทธศาสนาเอง พอศึกษาก็ศึกษาในแง่ปรัชญา ยังไม่ได้สัมผัสกับขนบธรรมเนียมประเพณี และพิธีกรรมของชาวพุทธ พอกลับมาเมืองไทยก็สนใจ อยากรู้ไปหมดว่ากฐินเขาทำกันเมื่อไหร่ วันมาฆบูชาคือวันอะไรหรือ"

    นิด เล่าว่า ตอนเด็กๆ เห็นคุณแม่อ่านพระไตรปิฎกทุกวัน

    "แล้วนิดก็นั่งสมาธิทุกวัน วันละครึ่งชั่วโมงช่วงปิดเทอม พอโตขึ้นก็ศึกษาแบบสะเปะสะปะ มามองย้อนกลับไปคิดดู คุณแม่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้นิดรู้สึกว่าน่าจะทุ่มเทตรงนี้บ้าง เพราะคุณแม่เคยเข้าคอร์สคุณแม่สิริ กรินชัยมาก่อน เวลามีปัญหาเรื่องการเรียนอะไร โทรมาคุยกับคุณแม่ แม่ก็จะสอนให้เราอยู่กับลมหายใจนะ ตั้งสตินะ อย่างนี้"

    นิด บอกว่า ในช่วงเวลาหนึ่งก็ได้คำตอบที่ชัดเจนจากคำถามที่ว่า ทำไมคนเจอทุกข์จึงหันมาสนใจพุทธศาสนานั้นเป็นความจริงแท้ เพราะครั้งหนึ่งเธอมีปัญหาเครียดเรื่องเรียนตอนที่อยู่อเมริกา คุณแม่เธอก็แนะนำไปพบพระรูปหนึ่ง แล้วท่านก็ให้หนังสือท่านพุทธทาสมาเล่มหนึ่ง เธออ่านแล้วชอบมาก โดยไม่รู้ว่าท่านดังมาก และตั้งแต่นั้นเธอก็ชอบอ่านหนังสือของท่านมาเรื่อยๆ จากนั้นก็ตั้งสมมติฐานตัวเองต่อมาว่า โดยส่วนตัวคงสนใจที่จะนำพุทธศาสนามาเป็นหลักในชีวิตตั้งนานแล้ว

    "แต่อะไรที่ทำให้เรามาศึกษาจริงๆ ก็คงเป็นความทุกข์นั่นแหละ คือพอมาศึกษาพุทธศาสนาแล้ว เราคิดว่าไม่ใช่เพียงศึกษาแค่อ่านปรัชญาเท่านั้น แต่ขนบประเพณีที่เป็นชาวพุทธ ที่มีความดี ความเมตตา ตรงนี้มันดีมาก การตักบาตรตอนเช้า เป็นภาพที่งามมาก"

    แต่ขณะเดียวกันเธอก็สงสัยมาตลอดว่าก็นี่แหละคือการปฏิบัติธรรมไม่ใช่หรือ
    "คนชอบพูดกันว่าการปฏิบัติธรรมเป็นแฟชั่น คนชอบชอปปิงธรรมะกัน ขอโทษนะคะ พระพุทธเจ้าก็ชอปปิงธรรมะมาแล้วเหมือนกัน แล้วพระองค์ท่านก็เล่าเรื่องการไปชอปปิงกับสำนักต่างๆ จากนั้นมาเรียนรู้ด้วยตนเองต่อ เราก็ต้องชอปปิงธรรมะ ไปปฏิบัติธรรมดูหลายๆ ที่ ก็ได้รู้ว่าแต่ละสำนักปฏิบัติธรรมเขาสอนอย่างไร บางทีเราอ่านประสบการณ์จากหลายๆ คนที่เขาไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมมาว่าไป 7 วัน 10 วัน พอวันที่ 6 จะเจออะไร แล้วเราก็ไปบ้าง พอไปก็ไม่เห็นพบประสบการณ์เหมือนคนอื่นก็ เอ...เราทำไมไม่รู้สึกอย่างนั้น"
    เธอจึงได้ข้อสรุปว่า เพราะการปฏิบัติธรรมไม่เหมือนการใช้แชมพูสระผม ที่เขาจะต้องมาโฆษณาให้ใช้เพื่อให้ผมมัน ผมนุ่ม แต่การปฏิบัติธรรมของแต่ละสำนักมีเทคนิคเพื่อให้เราค้นพบตัวเองได้ง่ายขึ้น การปฏิบัติของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน จะมาสรุปเหมือนกันก็ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าไปดูคนปฏิบัติธรรมแล้ว เห็นว่าน่าสนใจก็ยังคงนั่งดูเขาปฏิบัติธรรมกันต่อเท่านั้น อย่างนั้นไม่ใช่การปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมต้องทำด้วยตนเอง

    "ทำไมสังคมนี้แปลกตรงที่ว่า พอคนอายุน้อยๆ มาสนใจธรรมะก็มองว่าเขาต้องเป็นมีปัญหาถึงต้องหนีไปอยู่วัด หรือแม้ว่าเขาจะไม่มีปัญหาแต่พอเขาไปวัดก็มองว่าเขาแปลกๆ เราก็เลยสนใจคนกลุ่มนี้ เพราะเคยคุยกับคนปฏิบัติธรรมแล้วแต่ละคนน่าสนใจ น่าสนุก ไม่ได้น่าเบื่อ อยากให้คนเหล่านี้เล่าเรื่องราวของเขาออกมาให้คนได้รับรู้ว่าคนปฏิบัติธรรมจริงๆ ในสมัยนี้มีความหมายว่าอย่างไร ไม่ใช่ว่าต้องแต่งตัวอย่างไรถึงเป็นคนปฏิบัติธรรม"

    ดังนั้นจึงเป็นที่มาของวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่อง 'การนำธรรมะมาใช้ในชีวิตจริงของคนกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร'

    "อธิบายเพิ่มก็คือ หลังจากที่เขาไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมมาแล้ว เขานำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตอย่างไร ชีวิตก่อนที่จะปฏิบัติธรรมกับหลังการไปปฏิบัติธรรมเปลี่ยนแปลงอย่างไร มันอาจจะไม่ได้เปลี่ยนอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ แต่มันเข้าไปอยู่ในเนื้อในตัวอย่างไร ทำให้เท่าทันความโกรธอย่างไร รู้ทันความโลภอย่างไร มีชีวิตอย่างปกติหรือธรรมดาอย่างไร"
    นั่นต่างหากคือหัวใจของการปฏิบัติธรรมเพื่อประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงๆ!

    ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/bodyheart/
     

แชร์หน้านี้

Loading...