บาปกรรมล้างไม่ได้!

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย DevilBitch, 23 มิถุนายน 2005.

  1. DevilBitch

    DevilBitch เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มกราคม 2005
    โพสต์:
    9,776
    ค่าพลัง:
    +36,838
    บาปกรรม !...ล้างไม่ได้ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต



    [​IMG]ชีวิตสังคมในเมืองใหญ่ยังคงต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด บางคนต้องการอำนาจหน้าที่ในทางสังคม

    แต่สำหรับ พระจุลนายก หรือ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดญาณสังวราราม อายุ ๕๖ ปี พรรษา ๒๙ ได้ออกค้นหาสัจธรรมชีวิตในป่าดงพงไพรบนเขาชีโอน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ด้วยการแสวงหาจากหลักธรรมคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อนำมาสอนให้กับบุคคลที่ต้องการเรียนรู้ความเป็นไปของโลกในพระพุทธศาสนา

    ในวันนี้ พระอาจารย์สุชาติ เป็นผู้ดูแลพระสงฆ์ในวัดญาณสังวรารามแทน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ไม่ว่าใครจะมาบวชที่วัดแห่งนี้ ท่านจะเป็นผู้ดูแล พร้อมทั้งให้แนวทางการเรียนรู้หลักธรรมกับผู้ที่สนใจ เช่นเดียวกับ นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ก็ได้มาบวชเพื่อทบทวนชีวิต ณ วัดแห่งนี้ โดยท่านจะเน้นย้ำไม่ให้พระรูปใดไปยึดติดกับวัตถุสิ่งของนอกกาย

    ธรรมะข้อหนึ่งที่พระอาจารย์สุชาติมักพูดกับญาติโยมเสมอๆ ว่า "ทำบุญเท่าไรก็ไม่สามารถลบล้างบาปได้ บุญอยู่ส่วนบุญ บาปอยู่ส่วนบาป" และต่อไปนี้คือบทสัมภาษณ์พระอาจารย์สุชาติแบบ "คม ชัด ลึก"

    * ทำไมพระอาจารย์จึงบอกว่าบาปล้างไม่ได้ครับ ?

    อาตมาอยากบอกว่า การทำบุญทำทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม ไหว้พระสวดมนต์ ไม่ใช่เป็นการล้างบาป บาปเป็นสิ่งที่ล้างไม่ได้ บาปที่ได้ทำไปแล้วย่อมมีผลตามมาไม่ช้าก็เร็ว การทำบุญทำทาน การรักษาศีล ไม่ใช่เป็นการชำระบาป แต่เป็นการชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด จิตใจที่สกปรกเต็มไปด้วยกิเลสตัณหาคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ความอยากในกาม ความอยากมีอยากเป็น ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น เป็นสิ่งที่สร้างความเศร้าหมองให้กับชีวิต

    การทำบาปไว้มากๆ ผลที่จะตามมาเป็นอย่างไรครับ ?

    ผลที่จะตามมามีอยู่ ๓ ลักษณะ คือ

    ๑.ผลที่ปรากฏขึ้นในใจ เมื่อทำไปแล้วก็จะเกิดความไม่สบายอกไม่สบายใจ

    [​IMG]๒.ผลที่เกิดจากภายนอก เกิดจากบุคคลอื่นที่จะตอบแทนสิ่งที่เราทำกับเขา เราสร้างความทุกข์ สร้างความเดือดร้อน ให้กับเขา ยอมสร้างความอาฆาตพยาบาท สร้างเวรสร้างกรรมไว้ เมื่อเขามีโอกาส เขายอมตอบแทนบาปกรรมที่เราทำไว้กับเขา การตอบแทนนี้ อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว หรือช้า ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัย บางอย่างอาจจะไม่เกิดขึ้นในชาตินี้เลย แต่จะตามไปในภพหน้าชาติหน้า บาปที่เคยทำไว้แล้วในอดีต แต่ยังไม่ได้มีโอกาสแสดงผล ก็อาจจะตามมาปรากฏผลขึ้นในชาตินี้ก็เป็นได้

    และ ๓.จะเป็นนิสัยไม่ดีติดตัวไป เวลาพูดโกหก ลักขโมย ฯลฯ ก็จะติดนิสัยไป ทำให้ง่ายต่อการกระทำบาปครั้งต่อไป จึงยากต่อการเลิกกระทำ เช่นเดียวกับการกระทำความดีหรือทำบุญ ก็มีผลแบบเดียวกับบาป เพียงแต่ว่าเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือเป็นผลดี เวลาทำดีในใจเราก็มีความสุข เวลาทำดีต่อผู้อื่น ผู้อื่นย่อมมีความชื่นชมยินดีในตัวเรา เวลาเห็นเราเดือดร้อน มีความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือ เขาก็ยินดีที่จะช่วยเหลือ มันก็จะติดตัวไป ทำให้ทำความชั่วได้ยาก

    จริงๆ แล้วชาติหน้าหรือนรกสวรรค์มีจริงไหมครับ ?

    จากที่อาตมาได้ศึกษาแล้วรู้ว่าสิ่งเหล่านี้มันมีจริง แต่บางคนที่ไม่เชื่อว่ามีจริง ก็เพราะว่าไม่ได้ศึกษาหลักธรรมขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า อาตมาจะยกตัวอย่างให้ภาพชัดเจน เมื่อคนเราทำบุญทำทานจิตใจก็เบิกบานผ่องใส มีความสุข นั่นก็เป็นสวรรค์ ส่วนคนที่ใจคิดร้ายไปฆ่าคนอื่นได้ พวกนี้ก็เหมือนกับตกนรกแล้ว แม้ตัวเราตายไปสิ่งที่เหลืออยู่คิดจิตวิญาณที่จะล่องลอยไป ถ้าทำบุญมาดีก็จะได้ไปเกิดเป็นคนหรือไม่ก็ไปเกิดเป็นเทพเทวดา ส่วนคนที่ฆ่าคน ทำบาปเป็นประจำ ก็จะต้องเกิดไปเป็นสัตว์เดียรัจฉาน หรือเป็นพวกเปรต

    เมื่อบาปล้างไม่ได้แล้วคนเราควรทำอย่างไรกับบาปที่มีอยู่ครับ ?

    เราต้องเชื่อพระพุทธเจ้า ต้องเชื่อในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่สอนให้ทำแต่ความดี ละเว้นจากการกระทำชั่ว ละความอยากมีอยากเป็น จิตใจเราก็จะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ถ้าอยากจะชำระก็ขอให้ชำระกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจของเรา อย่าไปชำระบาป บาปนั้นชำระไม่ได้ ถ้าไม่อยากจะรับผลของบาป ก็อย่าไปทำเสียตั้งแต่วันนี้

    ส่วนผลของบาปในอดีต ก็จะค่อยๆ แสดงออกมาแล้วจะค่อยๆ หมดไป เหมือนกับการใช้หนี้ เรามีหนี้ ถ้าเราไม่ไปสร้างหนี้ใหม่ หนี้เก่าเราก็ทยอยใช้คืนไปเรื่อยๆ ผ่อนไปทีละเดือน เดี๋ยวหนี้เก่ามันก็หมดไปเอง เช่นเดียวกับการทำบาปทำกรรมอยู่ หนี้สินใหม่ก็จะเพิ่มขึ้นมาอีก เวรใหม่ก็จะเกิดขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ ก็ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าไม่ต้องการรับผลบาปต่อไป ก็ต้องละเว้นจากการกระทำบาป

    [​IMG]ในส่วนของการทำบุญ ทำทานมีผลต่อชีวิตคนเราอย่างไรบ้างครับ ?

    เวลาที่เราทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ว่าจะทำกับใคร แล้วเขาจะเอาไปทำอะไรต่อ มันก็ยังเป็นบุญอยู่นั่นเอง เพราะบุญคือการชนะใจเรา ชนะสิ่งที่ต่ำ สิ่งที่คอยฉุดลากให้ไปสู่ความทุกข์ สู่ความไม่สบายใจ คือ ความตระหนี่ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว เวลาที่ได้ให้ทาน แสดงว่าได้ชนะความโลภ ได้ชนะความตระหนี่ เราได้ชนะความเห็นแก่ตัวแล้ว นี่แหละคือผลที่เราได้ เป็นบุญแล้ว บุญนั้นเกิดขึ้นในใจของเรา เราได้ชนะสิ่งที่ไม่ดี ได้ชำระขัดเกลาใจของเราให้สะอาดขึ้น เมื่อได้ชำระขัดเกลาสิ่งเหล่านี้ให้เบาบางลงไป ก็ทำให้ใจของเรามีความสุขมากขึ้น

    แล้วใจจะมีผลต่อการดำเนินชีวิตของคนเราอย่างไรครับ ?

    ใจของเราบางครั้งก็เสียใจ บางครั้งก็ดีใจ บางครั้งจิตใจเราก็โมโหด้วยอารมณ์โกรธ นั่นแสดงว่าใจของเราไม่ยอมหยุด ใจเรามันก็เหมือนกับรถที่ไม่ยอมเบรก ดังนั้น ถ้าเรารู้จักการฝึกใจให้รู้จักหยุด ในทางพระพุทธศาสนา จึงถือใจเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เป็นสิ่งที่จะต้องได้รับการดูแลอบรม เพราะว่าใจที่ได้รับการอบรมดีแล้ว จะนำความสุขมาให้ แต่ใจที่ไม่ได้รับการอบรม ก็จะนำมาแต่ความทุกข์ ความวุ่นวายใจ เพราะใจเปรียบเหมือนกับเด็กๆ เวลาเกิดมาใหม่ๆ ต้องให้พ่อแม่คอยอบรมสั่งสอน เพราะยังไม่รู้เรื่องผิดถูกดีชั่ว ไม่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร เมื่อคนเราไม่ได้เข้าวัด ฟังเทศน์ ฟังธรรม ก็จะทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นไปตามความอยากของตน

    นอกจากการทำบุญให้จิตใจสบายแล้วอย่างอื่นที่ชาวพุทธควรทำคืออะไรครับ ?

    อาตมาคิดว่าการทำบุญไม่ควรทำเพียงแต่ให้ทานอย่างเดียว ควรทำอย่างอื่นด้วย เช่น ควรรักษาศีล มีความกตัญญูกตเวที ขยันหมั่นเพียร มีสัมมาคารวะ ฟังเทศน์ ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งทำสมาธิ เจริญปัญญา เจริญวิปัสสนา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เห็นว่าสภาวธรรมต่างๆ สิ่งต่างๆ ที่มาเกี่ยวข้องกับชีวิตจิตใจของเรานั้น ล้วนเป็นของไม่เที่ยงทั้งสิ้น

    [​IMG]มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วต้องดับไป มีการมาและมีการไปเป็นธรรมดา แม้กระทั่งร่างกายของเรา ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน มีการเกิดขึ้น ก็ต้องมีการแก่ มีการเจ็บไข้ได้ป่วย มีการตายไปในที่สุด แต่ใจผู้รู้เรื่องเหล่านี้ ไม่ต้องไปตกใจ เพราะใจกับกายเป็นสภาวธรรม ประกอบขึ้นจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มารวมตัวกัน ในที่สุดก็ต้องแยกสลายจากกัน

    ทำไมพระอาจารย์ถึงได้ตัดสินใจบวชไม่สึกครับ ?

    อาตมาสนใจธรรมะมาตั้งแต่สมัยที่เรียนอยู่ โรงเรียนแอดเวนติสต์ (Adventist Ekamai School) เอกมัย กรุงเทพฯ เมื่อเรียนจบเกรด ๑๒ (ม.๖) ก็ได้ไปเรียนต่อด้านวิศวกร ที่มหาวิทยาลัยในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อเรียนจบ กลับมายังเมืองไทย ได้ทำงานเป็นผู้จัดการร้านขายไอศกรีมอยู่ระยะหนึ่ง กระทั่งคิดว่าหนทางสงบที่แท้จริงก็คือการบวช ครั้งนั้นตัดสินใจบวชเมื่ออายุได้ ๒๗ ปี (พ.ศ. ๒๕๑๘) ณ วัดบวรนิเวศ โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นพระอุปัชฌาย์

    โยมพ่อโยมแม่ก็ไม่ได้ว่าอะไร ท่านคงเข้าใจว่าเป็นการตัดสินใจของอาตมาเอง จากนั้นก็ได้ไปจำพรรษาอยู่กับหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี เป็นเวลา ๙ ปี หลังจากนั้นก็กลับมาจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศฯ อยู่อีก ๑ ปี ก่อนจะเดินทางมาจำพรรษาที่วัดญาณสังวราราม ตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ จนถึงปัจจุบัน และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสในการดูแลการปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ รวมทั้งการรักษาพื้นที่ของวัดทั้งหมด

    ด้วยเหตุใดพระสงฆ์ที่วัดถึงเคร่งครัดในเรื่องของพระวินัยสงฆ์ครับ ?

    ปัจจุบันเราจะเห็นว่า คนที่มีทุกข์ก็จะเข้าหาวัดเป็นที่พึ่ง ที่วัดจะมีผู้หญิงมานุ่งขาวห่มขาว มาถือศีลเป็นระยะเวลา ๕ วัน อาตมาคิดว่ามันก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะอย่างน้อยวัดก็ยังเป็นที่พึ่งทางใจให้กับญาติโยม อาตมาคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี ส่วนที่ทางวัดมีกฎระเบียบเคร่งครัดต่อพระวินัยสงฆ์ ก็เพื่อเป็นการฝึกให้ลดละในเรื่องของรส กลิ่น เสียง ใดๆ แม้กระทั่งการฉันอาหารเมื่อบิณฑบาตมาแล้ว พอเวลาฉันก็ต้องให้เทอาหารทุกอย่างรวมกันในบาตร เพื่อเป็นการฝึกไม่ให้ยึดในเรื่องของรสชาติของอาหารทั้งปวง

    พระที่มาบวชในวัดจะต้องตื่นทำวัตรด้วยการนั่งสมาธิตั้งแต่ตี ๔ จนถึงตี ๕ ก็จะเป็นเวลาร่วมกันไหว้พระสวดมนต์ หลังจากฉันอาหารเสร็จก็จะอนุโมทนาให้พร บ่ายๆ ก็ให้ปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ เดินจงกรม เมื่อถึงตอนเย็นก็สรงน้ำเตรียมลงไปทำวัตรเย็น จนกระทั่งถึง ๑ ทุ่มครึ่ง ก็แยกย้ายกลับกุฏิปฏิบัติธรรมหรือพักผ่อนตามอัธยาศัย ประมาณตี ๔ ก็เริ่มทำปฏิบัติกิจต่อไป

    พระอาจารย์หากประชาชนอยากฝึกปฏิบัติธรรมด้วยตนเอง จะต้องเริ่มอย่างไรครับ ?

    สิ่งแรกที่ควรกระทำคือ การกำหนดบริกรรมคำว่า พุทโธๆ ๆ หรือกำหนดลมหายใจเข้าออกโดยมีสติควบคุมจิต ไม่ให้จิตลอยไปที่อื่น ให้รู้อยู่กับงานที่จิตกำลังทำอยู่ แล้วจิตก็จะค่อยๆ สงบตัวลงเข้าสู่ความสงบ เมื่อสงบแล้วจิตก็สบาย มีความสุข มีความอิ่ม มีความปีติ เป็นความสุขที่มหัศจรรย์ เป็นความสุขที่เลิศกว่าความสุขทั้งหลาย ที่เราเคยได้สัมผัสกัน ไม่ว่าจะเป็นความสุขจากการเที่ยวเตร่ จากการรับประทานอาหารอันเลิศหรู หรือมีความสุขกับเพื่อนๆ เมื่อเทียบกับความสุขที่เกิดจากความสงบสุขของจิตใจแล้ว ไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบกันได้

    [​IMG]พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่า ไม่มีความสุขอันใดในโลกนี้ จะเสมอเท่ากับความสุขอันเกิดจากความสงบของใจ คือความสุขที่เกิดจากการไหว้ พระสวดมนต์ นั่งทำสมาธิ จนกระทั่งจิตนิ่ง ไม่คิด ไม่ปรุงอะไร จะนิ่งอยู่ได้นานสักแค่ไหนก็สุดแท้แต่เหตุปัจจัยคือ การปฏิบัติของจิตแต่ละดวง หลังจากที่จิตออกจากความสงบแล้ว ท่านทรงสอนให้เจริญวิปัสสนา เจริญปัญญาเป็นลำดับต่อไป คือ พิจารณาให้เห็นสภาพความเป็นจริงของ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราไปเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ ข้าวของ เงินทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุขทั้งหลาย รวมทั้งบุคคลรอบข้างที่เราเกี่ยวข้อง ที่มีการเจริญขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ต้องดับไปเป็นเรื่องธรรมดา

    มาถึงวันนี้สัจธรรมชีวิตที่แท้จริงของคนเราคืออะไรครับ ?

    สัจธรรมความจริงนั้น ได้แสดงไว้แล้วโดยพระพุทธเจ้าว่า ความสุขที่แท้จริงนั้น อยู่ที่ใจเกิดจากความพอต่างหาก เกิดจากใจที่ชนะความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดจากใจที่ชนะกิเลสตัณหาความอยากทั้งหลาย นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง ใจของเราเวลาไม่อยาก ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงแล้ว ใจเราสบาย อย่างในขณะนี้เรานั่งอยู่ที่นี่ เรามีความรู้สึกสบายใจ เพราะขณะนี้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่แสดงตัวขึ้นมา ความอยากไม่ได้แสดงตัวขึ้นมา เราจึงอยู่เป็นสุข

    พระอาจารย์มีหลักธรรมอะไรถึงผู้อ่านบ้างครับ ?

    ไม่ว่าจะทำอะไรต้องมี ทาน ศีล ภาวนา สมาธิ ปัญญา วิมุตติหลุดพ้น ธรรมเหล่านี้ล้วนต้องมีสติเป็นผู้นำ จึงไม่มีธรรมอันใดที่จะมีความสำคัญเท่ากับสติ ถ้าไม่มีสติแล้ว จะทำอะไรอย่างอื่นย่อมเป็นไปไม่ได้ อย่างคนที่เสียสติ ถ้าไม่รู้จักผิดถูกดีชั่ว ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ คนที่ไม่มีสติที่เราเรียกว่า คนบ้า ก็ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้อื่น ของคนที่มีสติ ต้องคอยเลี้ยงเขา ต้องอาบน้ำให้เขา ต้องดูแลเขาเหมือนเป็นเด็กทารก เพราะเขาไม่มีสติ ไม่มีความสามารถที่จะทำอะไรด้วยตนเอง

    ถ้าปราศจากสติแล้ว ย่อมไม่สามารถเจริญคุณธรรมความดีทั้งหลายได้ จึงควรให้ความสำคัญกับสติ ควรเจริญสติอยู่ทุกเมื่อทุกกรณี ดังในพระบาลีที่ทรงแสดงไว้ว่า สติมีความสำคัญในทุกกรณี ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม จะคิดก็ดี จะพูดก็ดี จะทำอะไรก็ดี ล้วนต้องมีสติเป็นผู้กำกับ เป็นผู้ดูแล เป็นผู้นำ ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะทำอะไรไปในทิศทางไม่ดี อย่างเวลาที่เสพสุรายาเมา ก็จะขาดสติ ไม่มีสติควบคุม ความคิด การพูด การกระทำ ดังนั้น ถ้าต้องการความสุข ความเจริญ ก็ต้องเจริญสติอย่างสม่ำเสมอ และควรฝึกอย่างต่อเนื่อง

    <TABLE cellSpacing=2 cellPadding=2 width=550 bgColor=#ff6600 border=0><TBODY><TR><TD bgColor=#ffcc66>

    ประวัติวัดญาณสังวราราม

    วัดญาณสังวราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร สร้างขึ้นเมื่อปี ๒๕๑๙ โดย นายแพทย์ขจร และ คุณหญิงนิธิวดี อันตระการ พร้อมด้วยบุตรธิดา มีจิตศรัทธาบริจาคที่ดินจำนวน ๑๐๐ ไร่ ๑ งาน ๙๒ ตารางวา แด่ สมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร (ปัจจุบันทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๒ ถึงปัจจุบัน) เพื่อสร้างวัดในพระพุทธศาสนา และปรารถนาให้มีนามตามทินนามสมณศักดิ์ของสมเด็จฯ วัดนี้จึงมีชื่อว่า "วัดญาณสังวราราม"

    ระยะแรก วัดนี้มีฐานะเป็นสำนักสงฆ์ และได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ และรับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๒๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นวัดใน พระบรมราชูปถัมภ์ และได้ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยก วัดญาณสังวราราม เป็น พระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรมหาวิหาร ตั้งแต่วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๓๑ ปัจจุบันอาณาเขตของวัดมีพื้นที่ ๓๖๖ ไร่ ๒ งาน ๑๑ ตารางวา นอกจากนี้ยังมีเนื้อที่ในเขตโครงการพระราชดำริประมาณ ๒,๕๐๐ ไร่เศษที่ติดต่อกับอาณาเขตวัด วัดญาณสังวราราม อาจถือเป็นวัดประจำรัชกาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากคณะผู้สร้างวัดได้พร้อมใจกันสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อม กระหม่อม ถวายแด่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ผู้สนศรัทธาสนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วัดญาณสังวราราม บ้านห้วยใหญ่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โทร. ๐-๓๘๒๓-๗๕๐๖, ๐-๓๘๒๓-๕๒๔๕ หรือ ๐-๓๘๒๓-๕๒๔๗

    </TD></TR></TBODY></TABLE>



    0 เรื่อง สุทธิคุณ กองทอง /ภาพ นัทพล ทิพย์วาทีอมร 0
     

แชร์หน้านี้

Loading...