บูรพมหากษัตริย์ไทย

ในห้อง 'ในหลวงกับพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 4 มีนาคม 2012.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,494
    บูรพมหากษัตริย์ไทย


    พระมหากษัตริย์สมัยกรุงสุโขทัย

    สุโขทัยเป็นนครหลวงแห่งแรกของประชาชนเชื้อสายไทย สังคมไทยในยุคนี้มีลักษณะเป็นสังคมเผ่า มีความเกี่ยวพันและผูกพันกันอย่างหนาแน่นในสายโลหิต อาณาเขตของสุโขทัยในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ประกอบด้วยเมืองสุโขทัยและศรีสัชชนาลัยเท่านั้น

    ต่อมาได้ขยายกว้างขวางขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ความสัมพันธ์ของประชาชนก็มีลักษณะเป็นความสัมพันธ์ทางใจอันเกิดจากความรู้สึกว่าเป็นคนสายเลือดเดียวกันและอยู่ภายใต้การปกครองโดย พ่อขุน องค์เดียวกัน ตามหลักฐานศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

    แนวคิดเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในสมัยสุโขทัยนี้ทรงเป็นผู้ครองนคร ซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิเหนืออาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง สิทธิการเป็นพระมหากษัตริย์สืบทอดโดยการสืบสันตติวงศ์ ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงตัวผู้ปกครองแผ่นดิน พระมหากษัตริย์ยังคงเป็นของชาวพุทธแท้ๆ ไม่มีคตินิยมแบบพราหมณ์เข้ามาปะปน พอสิ้นรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงจนถึงรัชกาลกษัตริย์องค์ต่อๆมา เช่น พระมหาธรรมราชาลิไท อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์เริ่มเข้ามา กษัตริย์เริ่มเป็นเทพยดา แต่ก็ยังยึดศาสนาพุทธอยู่ จึงเป็นแค่ ธรรมราชา ซึ่งเป็นคำในศาสนาพุทธ เหมือนที่ใช้เรียกพระเจ้าอโศก แต่หลังจากนั้นเริ่มเป็น รามาธิบดี


    ลำดับพระมหากษัตริย์ไทย เริ่มนับตั้งแต่ไทยรวมตัวเป็นราชอาณาจักรที่มีอำนาจเป็นปึกแผ่นและเป็นอิสระจากอิทธิพลของขอม



    [​IMG]




    พ่อขุนศรีอินทราทิตย์


    [​IMG]

    พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ หรือพระนามเต็ม กำมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์ พระนามเดิม พ่อขุนบางกลางหาว ทรงเป็นปฐมวงศ์ราชวงศ์พระร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัย ครองราชสมบัติ ตั้งแต่ พ.ศ. 1782 (คำนวณศักราชจากคัมภีร์สุริยยาตรตามข้อเสนอของ ศ. ประเสริฐ ณ นครและ พ.อ.พิเศษ เอื้อน มณเฑียรทอง) แต่ไม่ปรากฏหลักฐานการสวรรคตหรือสิ้นสุดการครองราชสมบัติปีใด มีผู้สันนิษฐานที่มาของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ จากคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์ว่าบ้านเดิมของพระองค์อาจอยู่ที่ “บ้านโคน” ในจังหวัดกำแพงเพชร

    พระราชกรณียกิจ

    พ่อขุนศรีอินทราทิตย์เมื่อครั้งยังเป็นพ่อขุนบางกลาวหาวได้ร่วมกับพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราดแห่งราชวงศ์ศรีนาวนำถุม รวมกำลังพลกัน กระทำรัฐประหารขอมสบาดโขลญลำพง โดยพ่อขุนบางกลางหาวตีเมืองศรีสัชนาลัยและ เมืองบางขลงได้ และยกทั้งสองเมืองให้พ่อขุนผาเมือง ส่วนพ่อขุนผาเมืองตีเมืองสุโขทัยได้ ก็ได้มอบเมืองสุโขทัยให้พ่อขุนบางกลาวหาว พร้อมพระขรรค์ชัยศรีและพระนาม “ศรีอินทรบดินทราทิตย์” ซึ่งได้นำมาใช้เป็นพระนาม ภายหลังได้คลายเป็น ศรีอินทราทิตย์ โดยคำว่า “บดินทร” หายออกไป เชื่อกันว่าเพื่อเป็นการแสดงว่ามิได้ เป็น บดีแห่งอินทรปัต คืออยู่ภายใต้อิทธิพลของเขมร (เมืองอินทรปัต) อีกต่อไป การเข้ามาครองสุโขทัยของพระองค์ ส่งผลให้ราชวงศ์พระร่วงเข้า มามีอิทธิพลในเขตนครสุโขทัยเพิ่มมากขึ้น และได้แผ่ขยายดินแดนกว้างขวางมากออกไป แต่เขตแดนเมืองสรลวงสองแคว ก็ยังคงเป็นฐานกำลังของราชวงศ์ศรีนาวนำถุมอยู่

    ในกลางรัชสมัย ทรงมีสงครามกับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด ทรงชนช้างกับขุนสามชน แต่ช้างทรงพระองค์ ได้เตลิดหนีดังคำในศิลาจารึกว่า “หนีญญ่ายพ่ายจแจ” ขณะนั้นพระโอรสองค์เล็ก ทรงมีพระปรีชาสามารถ ได้ชนช้างชนะขุนสามชน ภายหลังจึงทรงเฉลิมพระนามพระโอรสว่ารามคำแหง


    [​IMG]


    ในยุคประวัติศาสตร์ชาตินิยม มีคติหนึ่งที่เชื่อกันว่า พระองค์ทรงเป็นผู้นำชนชาติไทย ต่อสู้กับอิทธิพลขอมในสุวรรณภูมิ ทรงได้ชัยชนะและประกาศอิสรภาพตั้งราชอาณาจักรสุโขทัยขึ้น และทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย แต่ภายหลัง คติดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง เพราะพระองค์ไม่ได้เป็นปฐมกษัตริย์ แต่พระองค์ถือว่าเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย

    พระราชวงศ์

    พ่อขุนศรีอินทราทิตย์มีพระราชโอรสและพระธิดารวม 5 พระองค์ ได้แก่
    1. พระราชโอรสองค์โต (ไม่ปรากฏนาม)เสียชีวิตตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
    2. พ่อขุนบานเมือง
    3. พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พระนามขณะที่ยังทรงพระเยาว์ไม่ปรากฏ)
    4. พระธิดา (ไม่ปรากฏนาม)
    5. พระธิดา (ไม่ปรากฏนาม)
    แม้ไม่ทราบแน่นอนว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ในปีใด แต่ภายหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว พ่อขุนบานเมือง ผู้เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ ได้สืบราชสมบัติแทน



    พ่อขุนรามคำแหงมหาราช


    [​IMG]

    พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 3 ในราชวงศ์พระร่วงแห่งราชอาณาจักรสุโขทัย เสวยราชย์ประมาณ พ.ศ. 1822 ถึงประมาณ พ.ศ. 1841 พระองค์ทรงรวบรวมอาณาจักรไทยจนเป็นปึกแผ่นกว้างขวาง ทั้งยังได้ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้น ทำให้ชาติไทยได้สะสมความรู้ทางศิลปะ วัฒนธรรม และวิชาการต่าง ๆ สืบทอดกันมากว่าเจ็ดร้อยปี

    พระราชประวัติ

    พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 3 ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับนางเสือง พระเชษฐาองค์แรกสิ้นพระชนม์ตั้งแต่พ่อขุนรามฯ ยังทรงพระเยาว์ พระเชษฐาองค์ที่สองทรงพระนามตามศิลาจารึกว่า “พระยาบานเมือง” ซึ่งได้เสวยราชย์ต่อจากพระราชบิดา และเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว พ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็เสวยราชย์แทนต่อมา

    ตามพงศาวดารโยนก พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งสุโขทัย พ่อขุนเม็งรายมหาราชแห่งล้านนา และพ่อขุนงำเมืองแห่งพะเยา เป็นศิษย์ร่วมพระอาจารย์เดียวกัน ณ สำนักพระสุตทันตฤๅษี ที่เมืองละโว้ จึงน่าจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน โดยพ่อขุนเม็งรายประสูติเมื่อ พ.ศ. 1782 พ่อขุนรามฯ น่าจะประสูติในปีใกล้เคียงกันนี้

    [​IMG]

    เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีพระชนมายุสิบเก้าพรรษา ได้ทรงทำยุทธหัตถีมีชัยต่อพ่อขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด (อยู่บนน้ำแม่สอดใกล้จังหวัดตาก แต่อาจจะอยู่ในเขตประเทศพม่าในปัจจุบัน) พระราชบิดาจึงทรงขนานพระนามว่า “พระรามคำแหง” ซึ่งแปลว่า “พระรามผู้กล้าหาญ”
    จากจดหมายเหตุจีน พ่อขุนรามคำแหงมหาราชสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 1841 และพระยาเลอไทยซึ่งเป็นพระราชโอรสได้เสวยราชย์แทนในปีนั้น

    พระราชกรณียกิจ

    รัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นยุคที่กรุงสุโขทัยเฟื่องฟูและเจริญ ขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก ระบบการปกครองภายในก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยอย่างมีประสิทธิภาพ มีการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศทั้งในด้านเศรษฐิกิจและการเมือง ประชาชนอยู่ดีกินดี สภาพบ้านเมืองก้าวหน้าทั้งทางเกษตร การชลประทาน การอุตสาหกรรม และการศาสนา อาณาเขตของกรุงสุโขทัยได้ขยายออกไปกว้างใหญ่ไพศาล

    การบริหารรัฐกิจ

    เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงขจัดอิทธิพลของเขมรออกไปจากกรุงสุโขทัยได้ในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 การปกครองของกษัตริย์สุโขทัยได้ใช้ระบบปิตุราชาธิปไตยหรือ “พ่อปกครองลูก” ดังข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า

    …เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดกินอร่อยดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตีหนังวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่อบ้านท่อเมือง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นาง ได้เงือนได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู…

    ข้อความดังกล่าวแสดงการนับถือบิดามารดา และถือว่าความผูกพันในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ ครอบครัวทั้งหลายรวมกันเข้าเป็นเมืองหรือรัฐ มีเจ้าเมืองหรือพระมหากษัตริย์เป็นหัวหน้าครอบครัว

    ปรากฏข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงใช้พระราชอำนาจในการยุติธรรมและนิติบัญญัติไว้ดัง ต่อไปนี้ 1) ราษฎรสามารถค้าขายได้โดยเสรี เจ้าเมืองไม่เรียกเก็บจังกอบหรือ ภาษีผ่านทาง 2) ผู้ใดล้มตายลง ทรัพย์มรดกก็ตกแก่บุตร และ 3) หากผู้ใดไม่ได้รับความเป็นธรรมในกรณีพิพาท ก็มีสิทธิไปสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้หน้าประตูวังเพื่อถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ได้

    นอกจากนี้ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชยังทรงใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องช่วยในการปกครอง โดยได้ทรงสร้างพระแท่นมนังคศิลาบาตรขึ้น เพื่อให้พระเถรานุเถระแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันพระ ส่วนวันธรรมดาพระองค์จะเสรด็จประทับเป็นประธานให้เจ้านายและข้าราชการปรึกษาราชการร่วมกัน

    ประดิษฐกรรม


    [​IMG]

    พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เมื่อ พ.ศ. 1826 ตัวหนังสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีลักษณะพิเศษกว่าตัวหนังสือของชาติอื่นซึ่งขอยืมตัวหนังสือของอินเดียมา ใช้ กล่าวคือ พระองค์ได้ทรงประดิษฐ์พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ เพิ่มขึ้นให้สามารถเขียนแทนเสียงพูดของคำในภาษาไทยได้ทุกคำ กับทั้งได้นำสระและพยัญชนะมาอยู่ในบรรทัดเดียวกันโดยไม่ต้องใช้พยัญชนะซ้อน กัน ทำให้เขียนและอ่านหนังสือไทยได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น

    วรรณกรรมสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชสูญหายไปหมดแล้ว คงเหลือแต่ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ. 1835) ซึ่งแม้จะมีข้อความเป็นร้อยแก้ว แต่ก็มีสัมผัสคล้องจองทำให้ไพเราะซาบซึ้งตรึงใจ เช่น

    …ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว…ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย…เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พิน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด

    นับเป็นวรรณคดีเริ่มแรกของกรุงสุโขทัยซึ่งตกทอดมาถึงปัจจุบันโดยมิได้มีผู้คัดลอกให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิม



    พระยาลิไท (พระมหาธรรมราชาที่ 1)


    [​IMG]

    พญาลิไท หรือ พระยาลิไท หรือ พระศรีสุริยพงศ์รามมหาราชาธิราช หรือพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ครองราชย์ พ.ศ. 1897 – พ.ศ. 1919) พระมหากษัตริย์อาณาจักรสุโขทัยราชวงศ์พระร่วงลำดับที่ 5 พระโอรสพญาเลอไท และพระราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

    พญาลิไทเป็นกษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งกรุงสุโขทัย ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระยางัวนำถม จากหลักฐานในศิลาจารึกวัดพระมหาธาตุ พ.ศ. 1935 หลักที่ 8 ข. ค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2499 ได้กล่าวว่า เมื่อพระยาเลอไทสวรรคต ใน พ.ศ. 1884 พระยางัวนำถมได้ขึ้นครองราชย์ ต่อมาพระยาลิไทยกทัพมาแย่งชิงราชสมบัติได้ และขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 1890 ทรงพระนามว่า พระศรีสุริยพงสรามมหาธรรมราชาธิราช ในศิลาจารึกมักเรียกพระนามเดิมว่า “พระยาลิไท” หรือเรียกย่อว่า พระมหาธรรมราชาที่ 1

    พญาลิไททรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ทรงผนวชในพระพุทธศาสนาเมื่อ พ.ศ. 1905 ที่วัดป่ามะม่วง นอกเมืองสุโขทัยทางทิศตะวันตก ทรงอาราธนาพระสามิสังฆราชจากลังกาเข้ามาเป็นสังฆราชใน กรุงสุโขทัย เผยแพร่เพิ่มความเจริญให้แก่พระศาสนามากยิ่งขึ้น ทรงสร้างและบูรณะวัดมากมายหลายแห่ง รวมทั้งการสร้างพระพุทธรูปเป็นจำนวนมาก เช่น พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา และพระพุทธรูปองค์สำคัญองค์หนึ่งของประเทศคือ พระพุทธชินราช ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

    ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญหลายประการ เช่น สร้างถนนพระร่วงตั้งแต่เมืองศรีสัชนาลัยผ่านกรุงสุโขทัยไปถึงเมืองนครชุม (กำแพงเพชร) บูรณะเมืองนครชุม สร้างเมืองสองแคว (พิษณุโลก) เป็นเมืองลูกหลวง ด้านอักษรศาสตร์ทรงพระปรีชาสามารถนิพนธ์หนังสือไตรภูมิพระร่วงที่นับเป็นงานนิพนธ์ที่เก่าแก่ที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย


    ----------------------------
    ขอบคุณที่มา :::
    พระมหากษัตริย์สมัยกรุงสุโขทัย | สำนักข่าวเจ้าพระยา
     
  2. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,494
    พระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยา

    [​IMG]



    เมื่อปลายกรุงสุโขทัย พระเจ้าอู่ทองได้สร้างกรุงศรีอยุธยา ศาสนาพราหมณ์เข้ามามีบทบาทอย่างมากโดยเฉพาะอิทธิพลของขอมและละโว้ ซึ่งถือว่ากษัตริย์คือพระผู้เป็นเจ้าอวตารมาเกิด พระเจ้าอู่ทองก็กลายเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 รูปแบบของสถาบันพระมหากษัตริย์สมัยอยุธยาแตกต่างจากสมัยสุโขทัยอย่างมาก ระบอบการปกครองของอยุธยาเป็นระบอบการปกครองซึ่งพระมหากษัตริย์มีอำนาจเป็นล้นพ้น

    สังคมในสมัยอยุธยาขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์โดยตรง ซึ่งต่างกับสมัยสุโขทัยที่พระมหากษัตริย์ทรงปกครองราษฎรเยี่ยงบิดาปกครองบุตร แต่ในสมัยอยุธยาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเจ้ากับข้าโดยแท้ ตำแหน่งพระมหากษัตริย์เป็นตำแหน่งที่ช่วงชิงกันด้วยอำนาจทางทหาร แนวความคิดเกี่ยวกับพราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทวราชและทรงใช้พระราชอำนาจในฐานะที่ทรงเป็นสมมติเทพ

    อาณาจักรอยุธยา เป็นอาณาจักรของไทยในอดีต มีหลักฐานของการเป็นเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 18 โดยมีร่องรอยของที่ตั้งเมือง โบราณสถาน โบราณวัตถุ และเรื่องราวเหตุการณ์ในลักษณะตำนาน พงศาวดารไปจนถึงศิลาจารึก ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานร่วมสมัยที่ใกล้เคียงเหตุการณ์มากที่สุด ว่าก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ใน พ.ศ. 1893 นั้น ได้มีบ้านเมืองตั้งอยู่ก่อนแล้ว มีชื่อเรียกว่า เมืองอโยธยา หรือ อโยธยาศรีรามเทพนคร หรือ เมืองพระราม มีที่ตั้งอยู่บริเวณด้านตะวันออกของเกาะ เมืองอยุธยาเป็นเมืองที่มีความเจริญทางการเมืองการปกครอง และมีวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองแห่งหนึ่ง


    อาณาจักรอยุธยามีพระมหากษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาถึง 34 พระองค์และมีพระราชวงศ์ผลัดเปลี่ยนกันครองรวม 5 ราชวงศ์




    [​IMG]






    พระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยาที่สำคัญมีดังนี้



    สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)


    สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา ทรงสถสปนาอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 1893 ได้รับการถวายพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตร พระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยาฯ ทรงครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1893- 1912

    สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงตั้งกรุงศรีอยุธยา ณ ชัยภูมิที่เอื้ออำนวยทั้งในด้านความปลอดภัยจากข้าศึกและความอยู่ดีกินดีของชาวอยุธยา พื้นที่เหมาะแก่การเกษตรกรรม เป็นศูนย์กลางทางการค้าและการคมนาคม อันเนื่องจากมีแม่น้ำสามสาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ไหลมาบรรจบ ควบคุมเส้นทางคมนาคมทางน้ำของบ้านเมืองที่อยู่เหนือขึ้นไปที่จะออกสู่ทะเล
    สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงนำลักษณะการปกครองทั้งของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งของกรุงสุโขทัยและของขอม มาประยุกต์ใช้กับกรุงศรีอยุธยา ในด้านการแผ่ขยายพระราชอาณาเขต ในปี พ.ศ. 1895 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพไปตีนครธม ราชธานีของขอมได้สำเร็จ นับว่าเป็นการทำสงครามครั้งแรกของกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในปี พ.ศ. 1897 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพไปยึดเมืองชัยนาท ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรสุโขทัย เป็นผลให้พระเจ้าลิไท ได้ส่งราชทูตมาขอเป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา และขอเมืองชัยนาทคืน

    สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงครองราชย์ได้ 19 ปี เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 1912 พระชนมายุได้ 55 พรรษา



    สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ


    สมเด็จพระไตรโลกนาถ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.1974 พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เมื่อพระองค์พระชนมายุได้เจ็ดพรรษา พระราชบิดาได้พระราชทานพระนามตามพระราชประเพณีว่า “สมเด็จพระราเมศวรบรมไตรโลกนาถบพิตร” พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.1991 พระชนมายุได้ 17 พรรษา เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่แปดของกรุงศรีอยุธยา
    สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงมีพราชสมัญญาอีกพระนามว่า พระเจ้าช้างเผือก เนื่องจากเมื่อปี พ.ศ.2014 พระองค์ได้ทรงรับช้างเผือก ซึ่งนับเป็นช้างเผือกช้างแรกของกรุงศรีอยุธยา
    สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงปฏิรูปการปกครอง โดยทรงรวมอำนาจการปกครองเข้าสู่ศูนย์กลางคือ ราชธานี และแยกฝ่ายทหารกับฝ่ายพลเรือนออกจากกัน มรการแต่งตั้งตำแหน่งข้าราชการให้มีบรรดาศักดิ์ตามลำดับจากต่ำสุดไปสูงสุดคือ ทนาย พัน หมื่น ขุน หลวง พระ พระยา และเจ้าพระยา มีกำหนดศักดินาเพื่อเป็นค่าตอบแทนการรับราชการ ทรงตั้งกฎมณเฑียรบาลขึ้น เป็นกฎหมายสำหรับการปกครอง
    ในรัชสมัยของพระองค์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งหนังสือมหาชาติคำหลวง นับว่าเป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาเรื่องแรกของกรุงศรีอยุธยา และเป็นวรรณคดีชั้นเยี่ยมที่ใช้เป็นแนวทางในการศึกษาภาษา และวรรณคดีของไทย
    สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.2031 ครองราชย์ได้ 40 ปี




    สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ


    สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงพระนามเดิมว่า พระเฑียรราชา ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 และทรงเป็นพระอนุชาต่างพระชนนี ในสมเด็จพระไชยราชาธิราช เสด็จพระราชสมภพเมื่อปี พ.ศ.2055 ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคู่กันกับท้าวศรีสุดาจันทร์ ในรัชสมัยสมเด็จพระยอดฟ้า ต่อมาได้เสด็จออกผนวช ณ วัดราชประดิษฐาน

    เมื่อขุนพิเรนทรเทพและคณะ ได้กำจัดขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์เสร็จสิ้นแล้ว จึงได้อันเชิญพระเฑียรราชา ให้ลาผนวชและขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช เมื่อปี พ.ศ.2091 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่สิบห้าของกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้สถาปนาพระมเหสีเป็นพระสุริโยทัย ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา 4 พระองค์คือ พระราเมศวร พระมหินทร พระวิสุทธิกษัตรี และพระเทพกษัตรี

    เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว ได้ทรงแต่งตั้งให้ขุนพิเรนทรเทพ เป็นพระมหาธรรมราชา ครองเมืองพิษณุโลก แล้วพระราชทานพระวิสุทธิกษัตรีให้เป็นพระมเหสี ขุนอินทรเทพ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช หลวงศรียศ เป็นเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหกลาโหม หมื่นราชเสน่หา เป็นเจ้าพระยามหาเทพ หมื่นราชเสน่หานอกราชการ เป็นพระยาภักดีนุชิต พระยาพิชัย เป็นเจ้าพระยาพิชัย พระยาสวรรคโลก เป็นเจ้าพระยาสวรรคโลก

    ในปี พ.ศ.2091 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชย์ได้เพียงเจ็ดเดือน พระเจ้าหงสาวดี (พระเจ้าตะเบงชะเวตี้) ทรงทราบว่า ทางกรุงศรีอยุธยาผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน เห็นเป็นโอกาสที่จะแผ่อำนาจมายังราชอาณาจักรไทย จึงได้ยกกองทัพมาทางเมืองกาญจนบุรี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เสด็จออกไปดูลาดเลากำลังศึก ณ ทุ่งภูเขาทอง พร้อมกับพระสุริโยทัย พระราเมศวร และพระมหินทราธิราช สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้กระทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปรช้างพระที่นั่งเสียที สมเด็จพระสุริโยทัยจึงทรงไสช้างเข้าขวางช้างข้าศึก เพื่อป้องกันสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระเจ้าแปรได้ทีจึงฟันสมเด็จพระสุริโยทัยด้วยของ้าว สิ้นพระชนม์บนคอช้าง พระราเมศวรและพระมหินทราฯ ได้ขับช้างเข้ากันพระศพกลับเข้าพระนคร

    ในปี พ.ศ. 2092-2106 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้ปรับปรุงกิจการทหารและเสริมสร้างบ้านเมืองให้มั่นคงกว่าเดิม ขุดคลองมหานาคเป็นคูเมืองออกไปถึงชายทุ่งภูเขาทอง โปรดให้จับม้าและช้างให้เข้ามาในราชการ สามารถจับช้างเผือกได้ถึงเจ็ดเชือก จึงได้รับการขนานพระนามว่า พระเจ้าช้างเผือกอีกพระนามหนึ่ง

    พระเจ้าบุเรงนอง ผู้ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ทราบปรื่องช้างเผือก จึงส่งราชทูตเชิญพระราชสาส์นมาขอพระราชทานช้างเผือก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงให้เหตุผลเชิงปฏิเสธ พระเจ้าบุเรงนองจึงถือสาเหตุนั้น ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.2106 ด้วยกำลังพลสองแสนคน จัดเป็นทัพกษัตริย์หกทัพ ได้เตรียมทัพเรือพร้อมปืนใหญ่กับจ้างชาวโปรตุเกสอาสาสมัคร ให้เมืองเชียงใหม่สนับสนุนเสบียงอาหาร โดยลำเลียงมาทางเรือ เปลี่ยนเส้นทางเดินทัพมาทางด่านแม่ละเมา เข้าตีหัวเมืองเหนือของไทยมาตามลำดับเพือ่ตัดกำลังที่จะยกมาช่วยกรุงศรีอยุธยา
    ฝ่ายไทยเตรียมตัวป้องกันพระนคร แต่ฝ่ายไทยต้านทานไม่ได้ต้องถอยกลับเข้ากรุงศรีอยุธยา กองทัพพม่าได้เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้แล้วระดมยิงปืนใหญ่เข้าในพระนครทุกวัน จนราษฎรได้รับความเดือดร้อนและเสียขวัญ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ต้องเสด็จเจรจากับพระเจ้าบุเรงนอง ที่พลับพลาบริเวณตำบลวัดพระเมรุการามกับวัดหัสดาวาส ยอมเป็นไมตรี โดยได้มอบช้างเผือกสี่เชือก พร้อมกับพระราเมศวร พระยาจักรี และพระยาสุนทรสงครามให้แก่พม่า

    ในปี พ.ศ.2111 พม่าได้ยกกองทัพใหญ่เจ็ดกองทัพ เดินทัพมาทางด่านแม่ละเมาเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ทั้งสี่ด้าน พระเจ้าบุเรงนองได้ทำอุบายให้พระยาจักรีที่พม่าขอไปพม่าในสงครามครั้งก่อน ลอบเข้ากรุงศรีอยุธยา เป็นไส้สึกให้พม่า จนทำให้การป้องกันกรุงศรีอยุธยาอ่อนแอลงไปตามลำดับ หลังจากพม่าล้อมกรุงอยู่เก้าเดือนก็เสียกรุงแก่พม่า เมื่อปี พ.ศ.2112
    สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.2111 ครองราชย์ได้ 20 ปี




    สมเด็จพระนเรศวรมหาราช


    สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชากับพระวิสุทธิกษัตรี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.2098 ที่เมืองพิษณุโลก พระนามเดิม พระองค์ดำ หรือพระนเรศวร
    หลังจากเสียกรุงแก่พม่า เมื่อปี พ.ศ.2112 สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา เขมรเห็นเป็นโอกาสที่ไทยอ่อนแอ จึงได้ยกทัพมาปล้นสดมภ์และกวาดต้อนผู้คนบริเวณชายพระนคร สมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงได้ขอตัวสมเด็จพระนเรศวรจากหงสาวดีกลับมาช่วยป้องกันบ้านเมือง เมื่อพระชนมายุได้ 15 พรรษา

    สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนเรศวรเป็นพระมหาอุปราชา ปกครองหัวเมืองทางทิศเหนือ และประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ในปี พ.ศ.2127 พระองค์ทรงได้ประกาศอิสรภาพของกรุงศรีอยุธยาจากอำนาจของพม่า หลังจากที่ตกอยู่ในอำนาจพม่าเป็นเวลา 15 ปี

    เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชา เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.2133 พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2133 เมื่อพระชนมายุได้ 35 พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนเรศวรหรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่2 และโปรดเกล้าฯให้พระเอกาทศรถ พระราชอนุชา ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช แต่มีศักดิ์เสมอพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง

    ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากพม่า และได้ทำสงครามกับอริราชศัตรูทั้งพม่าและเขมร จนราชอาณาจักรไทยเป็นปึกแผ่นมั่นคง
    การสงครามกับพม่าครั้งสำคัญที่ทำให้พม่าไม่กล้ายกทัพมารุกรานไทยอีกเลย เป็นเวลาเกือบสองร้อยปี คือ สงครามยุทธหัตถี เมื่อปี พ.ศ.2135

    สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้ปรับปรุงการปกครองหัวเมืองใหญ่เป็นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ยกเลิกระบบเมืองพระยามหานคร ยกเลิกให้เจ้านายไปปกครองเมืองเหล่านี้ แล้วให้ขุนนางไปปกครองแทน

    สมเด็จพระนเรศวรเสด็จสวรรคต ขณะที่พระองค์ทรงยกกองทัพไปตีเมืองอังวะ เมื่อเสด็จถึงเมืองหาง พระองค์ทรงประชวรเป็นฝีละลอกขึ้นที่พระพักตร์กลายเป็นพิษ เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2148 พระชนมายุ 50 พรรษา ครองราชย์ได้ 15 ปี



    สมเด็จพระนารายณ์มหาราช



    สมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรืออีกพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 หรือสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชญ์ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีพระเชษฐาคือ สมเด็จพระเจ้าไชย มีพระอนุชาคือ เจ้าฟ้าอภัยทศ พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ พระองค์ทอง และพระอินทราชา

    พระองค์ได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.2199 เมื่อพระชนม์มายได้ 25 พรรษา พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่ทรงพระปรีชาสามารถมาก ทำให้กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของพระองค์ มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าในทุกด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การต่างประเทศ การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม วรรณคดีที่สำคัญหลายเรื่องเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ จนได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของวรรณคดีในสมัยกรุงศรีอยุธยา

    ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีชาวตะวันตกเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขาย เผยแพร่ศาสนาตลอดจนเข้ารับราชการ ทำให้ชาวตะวันตกยอมรับนับถือกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก

    ในด้านการค้าขาย ได้มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากยิ่งกว่าในรัชสมัยอื่นๆ ทรงโปรดเกล้าฯให้ต่อเรือกำปั่นหลวง เพื่อทำการค้าขายกับต่างประเทศ จึงทำให้อยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้ากับต่างประเทศ

    พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ได้ส่งบาทหลวงสามคนเดินทางมากรุงศรีอยุธยา เมื่อทั้งสามคนมาถึงแล้วก็ได้มีใบบอกไปยัง พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และพระสันตปาปา ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่าจะใช้กรุงศรีอยุธยา เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่คริสตศาสนา พระบาทหลวงได้ตั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นว่า เป็นการนำความเจริญมาให้กรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้พระราชทานที่ดินให้สร้างวัดทางคริสตศาสนาด้วย

    ในปี พ.ศ.2224 สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทรงจัดคณะทูตนำพระราชสาสน์ไปเจริญทางพระราชไมตรี ณ ประเทศฝรั่งเศส แต่คณะราชทูตสูญหายไประหว่างทาง ต่อมาในปี พ.ศ.2226 พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดคณะทูตเดินทางไปฝรั่งเศสอีกครั้ง เพื่อสอบสวนความเป็นไปของทูตคณะแรก พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงทราบก็เข้าใจว่าสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทรงเลื่อมใสจะเข้ารีต จึงได้จัดคณะราชทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา โดยมีเชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ เป็นหัวหน้าคณะทูต เมื่อปี พ.ศ.2228ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทูลขอให้ทรงเข้ารีต แต่พระองค์ทรงปฏิเสธด้วยพระปรีชาสามารถว่า


    “การที่ผู้ใดจะนับถือศาสนาใดนั้น ย่อมแล้วแต่พระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์จะบันดาลให้เป็นไป ถ้าคริสตศาสนาเป็นศาสนาดีจริงแล้ว และเห็นว่าพระองค์สมควรที่จะเข้าเป็นคริสตศาสนิกแล้ว สักวันหนึ่งพระองค์จะถูกดลใจให้เข้ารีตจนได้”

    พระองค์ได้ให้เสรีภาพแก่ราษฎรทั่วไปที่จะนับถือคริสตศาสนาได้ตามความเลื่อมใสของตน ทำให้เชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ พอใจ

    ต่อมาในปี พ.ศ.2228 เมื่อคณะราชทูตฝรั่งเศสเดินทางกลับ พระองค์ก็ได้จัดให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นหัวหน้าคณะราชทูตเดินทางไปฝรั่งเศส นำพระราชสาส์นของพระองค์ไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และได้ส่งกุลบุตร 12 คน ไปศึกษาวิชาที่ประเทศฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงโปรดปรานเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นอย่างมาก ได้ให้เหรียญที่ระลึก และเขียนรูปภาพเหตุการณ์ไว้ด้วย เมื่อคณะราชทูตเดินทางกลับ พระองค์ได้โปรดให้มองสิเออร์ เดอลาลูแบร์ เป็นราชทูตเข้ามากรุงศรีอยุธยา พร้อมกับเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) และได้นำทหารฝรั่งเศสจำนวน 636 นาย เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาด้วย สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ทหารฝรั่งเศสจำนวนดังกล่าว ไปรักษาป้อมที่เมืองธนบุรีส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งมีกำลังสองกองร้อยให้ไปรักษาเมืองมะริด ซึ่งมีอังกฤษเป็นภัยคุกคามอยู่

    ในปี พ.ศ.2230 สมเด็จพระนารายณ์ทรงประกาศสงครามกับอังกฤษ เนื่องจากมีเหตุบาดหมางกันในเรื่องการค้าขายกับอินเดีย รัฐบาลอังกฤษให้บริษัทอังกฤษ เรียกตัวคนอังกฤษทั้งหมดที่รับราชการอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา ให้กลับประเทศอังกฤษ ต่อมาชาวอังกฤษได้มาก่อความวุ่นวายในเมืองมะริดและรุกรานไทยก่อน แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรไทยได้ เนื่องจากขณะนั้นมีทหารฝรั่งเศสรักษาเมืองมะริดอยู่

    ในรัชสมัยของพระองค์ แม้ว่าจะมีการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศ ที่เจริญรุ่งเรืองแล้วก็ตาม แต่ก็ได้มีการทำสงครามหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญได้แก่ การยกกองทัพออกไปตีพม่าที่กรุงอังวะ ตามแบบอย่างที่สมเด็จพระนเรศวร ฯ ได้ทรงกระทำมาแล้วในอดีต และได้มีการยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่สองครั้งจนได้ชัยชนะ

    สมเด็จพระนารายณ์ ฯ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.2231 เมื่อพระชนมายุได้ 50 พรรษา ครองราชย์ได้ 32 ปี




    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ


    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าเสือ พระนามเดิม เจ้าฟ้าพร เป็นพระอนุชา สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พระองค์ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 นอกจากนั้นพระองค์ยังมีพระนามอื่นตามที่ปรากฎในเอกสารทางประวัติศาสตร์คือ สมเด็จพระรามาธิบดินทร ฯ สมเด็จพระรามาธิบดี ฯ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุธรรมราชา ฯ และสมเด็จพระบรมราชา ทางฝ่ายพม่าเรียกว่า พระมหาธรรมราชา

    ในรัชสมัยของพระองค์พุทธศาสนาเฟื่องฟูมาก พระองค์ทรงมีความเลื่อมใสศรัทธาและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก โปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามทั้งในกรุงศรีอยุธยาและในบรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ได้แก่ วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดป่าโมก วัดหันตรา วัดภูเขาทอง และวัดพระราม โปรดเกล้า ฯ ให้ซ่อมเศียรพระประธานวัดมงคลบพิตร ที่ชำรุดอยู่

    ทรงให้ความสำคัญในการศึกษาทางพุทธศาสนาเป็นพิเศษ ผู้ที่ถวายตัวเข้ารับราชการต้องผ่านการบวชเรียนมาแล้ว

    ในปี พ.ศ.2296 พระเจ้ากีรติสิริราชสิงห์ กษัตริย์ลังกา ทรงทราบกิตติศัพท์ว่าพระพุทธศาสนาในกรุงศรีอยุธยารุ่งเรืองมาก จึงได้ส่งราชทูตมาขอพระมหาเถระ และคณะสงฆ์ไปช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา ซึ่งเสื่อมโทรมลงไป เนื่องจากกษัตริย์ลังกาองค์ก่อน หันไปนับถือศาสนาพราหมณ์ และทำลายพุทธศาสนา จนกระทั่งไม่มีพระสงฆ์เหลืออยู่ในลังกา สมเด็จพระเจ้าบรมโกษ จึงโปรดให้ส่งคณะสมณทูตประกอบด้วยพระราชาคณะสองรูปคือ พระอุบาลี และพระอริยมุนี พร้อมคณะสงฆ์อีก 12 รูป ไปลังกา เพื่อประกอบพิธีบรรพชา อุปสมบท ให้กับชาวลังกา คณะสงฆ์คณะนี้ได้ไปตั้งนิกายสยามวงศ์ขึ้นในลังกา หลังจากที่ได้ช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา เป็นเวลาเจ็ดปีแล้ว คณะสงฆ์คณะนี้บางส่วนได้เดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.2303

    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.2301พระชนมายุได้ 77 พรรษา ครองราชย์ได้ 26 ปี


    ข้อมูลจาก
    www.heritage.thaigov.net-


     
  3. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,494
    พระมหากษัตริย์สมัยกรุงธนบุรี



    สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช



    [​IMG]

    สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระนามเดิมว่า สิน ทรงพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๗๗ ที่บ้านใกล้กำแพงพระนครศรีอยุธยา พระราชบิดามีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพัฒน์ พระราชมารดาชื่อ นกเอี้ยง ต่อมาภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นกรมพระเทพามาตย์ เจ้าพระยาจักรี สมุหนายก ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้ขอรับไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี เจ้าพระยาจักรี ได้นำเข้าถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็ก ทำราชการอยู่ในบังคับบัญชาของหลวงศักดิ์นายเวร เมื่ออายุได้ ๒๑ ปี เจ้าพระยาจักรี ได้ทำการอุปสมบทให้ในสำนักพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส (วัดเชิงท่า) อยู่สามพรรษาแล้วลาสิกขาเข้ารับราชการตามเดิม
    ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ (สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓) ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นข้าหลวงพิเศษเดินทางไปชำระคดีความตามหัวเมืองฝ่ายเหนือ มีความดีความชอบ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก ต่อมาเมื่อพระยาตากถึงแก่กรรม ก็ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระยาตากแทน
    เมื่อพม่ายกกำลังเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่าครั้งที่สอง พระยาตากได้เข้ามาช่วยราชการป้องกันกรุงศรีอยุธยาอย่างเข้มแข็ง แต่ในที่สุดเมื่อเห็นว่าการป้องกันกรุงศรีอยุธยาในครั้งนั้น ไม่อำนวยให้กระทำได้อย่างเต็มที่ และอยู่นอกอำนาจหน้าที่ที่พระองค์จะแก้ไขได้ จึงได้หาทางต่อสู้ใหม่ ด้วยการตีฝ่าวงล้อมพม่าออกไป ด้วยกำลังเล็กน้อยเพียง ๕๐๐ คน ได้ต่อสู้กับกองทหารพม่าที่บ้านพรานนก ได้ชัยชนะจากนั้นได้นำกำลังไปตั้งมั่นที่เมืองจันทบุรี เพื่อรวบรวมกำลังมากู้กรุงศรีอยุธยาที่เสียแก่พม่า เมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๓๑๐

    [​IMG]

    เมื่อพระองค์ทรงรวบรวมกำลังพลได้ประมาณ ๕,๐๐๐ คน กับเรือรบ ๑๐๐ ลำ ก็ได้ยกกำลังทางเรือเข้ายึดเมืองธนบุรี ได้เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๑๑ ในวันต่อมาพระองค์ได้ตีค่ายทหารพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น และค่ายอื่นๆ แตกทุกค่าย ทำการกู้เอกราชกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จในเวลาเพียงเจ็ดเดือน
    หลังจากขับไล่พม่าออกไปแล้วพระองค์ก็ได้ทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๑๑ เมื่อพระชนมายุได้ ๓๔ พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ หรือสมเด็จพระบรมราชที่ ๔ แต่คนทั่วไปนิยมขนานพระนามพระองค์ว่า สมเด็จพระเจ้กรุงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
    พระองค์ทรงเห็นว่า กรุงศรีอยุธยาที่ถูกฝ่ายพม่าเผาผลาญวอดวาย ทำลายบ้านเมืองไปหมดสิ้น เกินกว่าที่จะบูรณปฎิสังขรณ์ให้กลับเป็นเมืองหลวงได้ จึงทรงเลือกเมืองธนบุรี ที่มีความเหมาะสมกว่าขึ้นเป็นราชธานี


    [​IMG]


    พระ ราชกรณียกิจของพระองค์ในลำดับต่อมา คือการรวบรวมกำลังไว้ต่อสู้กับพม่าต่อไปคือ ความเป็นปึกแผ่นของพระราชอาณาจักร ซึ่งในเวลานั้นได้มีผู้ตั้งตนเป็นใหญ่ห้าชุมนุมต่าง ๆ ได้แก่ ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก ชุมนุมเจ้าพระฝาง ชุมนุมเจ้าพิมาย และชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช เมื่อรวมชุมนุมของพระองค์เองที่กรุงธนบุรีแล้วก็มีถึงห้าชุมนุม พระองค์ทรงใช้เวลาในการปราบปรามชุมนุมต่าง ๆ อยู่สามปีจึงเสร็จ ปราบปรามได้เสร็จสิ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๓ ทำให้พระราชอาณาจักรเป็นปึกแผ่น ส่วนหัวเมืองมาลายูได้แก่ เมืองปัตตานี เมืองไทรบุรี เมืองกลันตัน และเมืองตรังกานู ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยามาแต่เดิม และได้แยกตัวเป็นอิสระเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์เห็นว่ายังไม่พร้อม และยังไม่มีความสำคัญเร่งด่วน ที่จะไปปราบปรามจึงได้ปล่อยไปก่อน


    [​IMG]

    ในการทำสงครามกับพม่าในระยะต่อมา พระองค์ได้เปลี่ยนหลักนิยมในการยึดพระนครเป็นที่ตั้งรับข้าศึก มาเป็นการยกกำลังไปยับยั้งข้าศึกที่ชายแดน ทำให้ประชาชนพลเมืองไม่ได้รับอันตรายเสียหายเดือดร้อนจากข้าศึก ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีการทำสงครามขยายพระราชอาณาเขต ของกรุงธนบุรีออกไปอย่างกว้างขวาง โดยได้ทำศึกสงครามกับพม่า และอาณาจักรอื่น ๆ รวม ๑๒ ครั้งคือ

    พ.ศ.๒๓๑๐ ศึกพม่าที่บางกุ้ง
    พ.ศ.๒๓๑๒ ศึกเมืองเขมรครั้งที่ ๑
    พ.ศ.๒๓๑๔ ศึกเมืองเชียงใหม
    พ.ศ.๒๓๑๔ ศึกเมืองเขมรครั้งที่ ๒
    พ.ศ.๒๓๑๕ – ๒๓๑๖ ศึกพม่าตีเมืองพิชัย
    พ.ศ.๒๓๑๗ ศึกเมืองเชียงใหม่
    พ.ศ.๒๓๑๘ ศึกพม่าที่บางแก้ว
    พ.ศ.๒๓๑๘ ศึกอะแซหวุ่นกี้ตีเมืองพิษณุโลก
    พ.ศ.๒๓๑๙ ศึกเมืองนครจำปาศักดิ์
    พ.ศ.๒๓๑๙ ศึกพม่าตีเมืองเชียงใหม่
    พ.ศ.๒๓๒๑ ศึกตีเมืองเวียงจันทน์
    พ.ศ.๒๓๒๓ ศึกเมืองเขมรครั้งที่ ๓

    ในปีพ.ศ.๒๓๒๔ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกทัพไปปราบเขมร แต่ต้องยกทัพกลับเนื่องจากทางกรุงธนบุรีเกิดจราจล โดยพระยาสรรค์ได้ก่อกบฏ ยกกำลังเข้ายึดกรุงธนบุรี แล้วจับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ให้ไปทรงผนวชที่วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหาษัตริย์ศึก ยกทัพกลับมาถึงกรุงธนบุรี ได้ปราบปรามกบฎได้สำเร็จ ราษฎรและบรรดามหาอำมาตย์ จึงได้พร้อมใจกันอัญเชิญให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕


    [​IMG]

    ตลอดรัชสมัยของพระองค์ได้ทรงทำศึกสงครามมาโดยตลอดเวลา ๑๕ ปี โดยมิได้หยุดหย่อน ได้ขยายพระราชอาณาเขตของกรุงธนบุรีออกไป จนเกือบเท่ากับสมัยกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงแก่พม่า พระองค์ได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


     
  4. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,494
    มหาราชของชาติไทย





    คำว่า “มหาราช” มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ หมายถึง คำซึ่งมหาชนถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินหรืออีกความหมายหนึ่งคือ ธงประจำพระองค์ พระเจ้าแผ่นดิน ที่เรียกว่า ธงมหาราช การถวายพระราชสมัญญา มหาราช แด่ พระมหากษัตริย์ของไทยในอดีตที่ผ่านมานั้น ไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่เป็นมติของมหาชนในสมัยต่อมาที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้ถวายพระสมัญญาต่อท้ายพระนามว่ามหาราช หรือพระราชสมัญญาอื่นที่แสดงถึงพระเกียรติคุณเฉพาะพระองค์ และเป็นที่ยอมรับในการขานพระนามสืบมา

    การเริ่มการถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” ต่อท้ายพระนามพระมหากษัตริย์นั้นสันนิษฐานว่าเริ่มมีขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ประมาณรัชกาลที่ ๔ หรือ ๕ เนื่องจาก เป็นสมัยที่เริ่มมีการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ของชาติและบรรพบุรุษมากขึ้น ทำให้ประจักษ์ถึงวีรกรรมและพระราชอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นๆ จึงได้มีการยกย่องพระมหากษัตริย์บางพระองค์ที่ทรงมีพระเกียรติคุณเด่นกว่า พระองค์อื่นขึ้นเป็น มหาราช ในเรื่องของการริเริ่มถวายพระราชสมัญญามหาราชต่อท้ายพระนามพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยต่างๆ นั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ในลายพระหัตถ์ที่ทรงมีถึงพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ดังนี้

    “… ที่เพิ่มคำ “มหาราช” เข้าต่อท้ายพระนามพระเจ้าแผ่นดินนั้น ในหนังสือไทยมีหนังสือพระราชพงศาวดาร เรียก “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ” ก่อนที่ใช้คำ “มหาราช” หมายอย่าง The Great ของฝรั่ง คนอื่นเขาก็ใช้มาก่อนหม่อมฉัน เป็นแต่ตามเขาหาได้เป็นผู้ริใช้ไม่ สังเกตดูพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งที่มีคำธีเกรตอยู่หลังพระนาม คำนั้นย่อมเพิ่มเข้าต่อเมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นล่วงลับไปแล้วบางที่ ก็ช้านาน และเพิ่มเข้าต่อเมื่อมีพระเจ้าแผ่นดินพระนามพ้องกัน โดยปกติมักเรียกพระองค์ก่อนว่า “ที่ ๑” พระองค์หลังว่า “ที่ ๒” และเปลี่ยนตัวเลขต่อไปตามลำดับ ถ้าพระองค์ใดเป็นอัจฉริยบุรุษจึงใช้คำธีเกรตแทนที่เลข จะยกตัวอย่างดังเช่น เอมเปอเรอวิลเฮมเยอรมัน เมื่อพระเจ้าวิลเฮม (ไกเซอ) เสวยราชย์ก็เรียกพระองค์แรกว่า ที่ ๑ พระองค์หลังว่าที่ ๒ มาหลายปี จนเยอรมันต่อเรือใหญ่ลำหนึ่ง อย่างวิเศษสำหรับพาคนข้ามมหาสมุทรแอตแลนติค พระเจ้าไกเซอ ประทานนามเรือนั้นว่า เอมเปอเรอวิลเฮม ธีเกรต แต่นั้นมาจึงเรียกเอมเปอเรอ พระองค์นั้นว่า ธีเกรต คือ มหาราช ที่ไทยเราเอามาใช้ไม่ตรงตามแบบฝรั่ง เพราะไม่ได้เรียกพระนามซ้ำกัน เรียกเพราะเป็นอัจฉริยบุรุษอย่างเดียว…”


    ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงได้รับการเทิดทูลยกย่องว่าเป็นมหาราชของชาติไทย ๘ พระองค์ มีรายพระนาม ดังนี้


    [​IMG]

    ๑. พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรือง ให้แก่อาณาจักรสุโขทัย ทรงขยายอาณาจักรให้กว้างขวาง ปกครองประชาราษฎร์ ให้ได้รับความสุข ยุติธรรมเสมือน “พ่อปกครองลูก” ทรงส่งเสริมการค้าโดยเสรี ทรงริเริ่มประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เอง เมื่อปี พ.ศ.๑๘๒๖ นับเป็นต้นกำเนิดอักษรไทยที่ใช้กันมาจนทุกวันนี้ และทรงรับเอาพระพุทธศาสนาจากลังกาเข้ามา เป็นศาสนาประจำชาติไทย


    ๒. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย ภายหลังที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 ในรัชสมัยของพระองค์ ทรงทำการศึกสงคราม และเอาชนะข้าศึกหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญที่สุดคือ ใน พ.ศ. 2135 พระมหาอุปราชาของพม่าได้ยกทัพมาตีไทย พระองค์ทรงชนช้างกระทำยุทธหัตถี และทรงฟันพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์บนคอช้าง ตั้งแต่นั้นมาพม่าก็เกรงกลัว เลิกยกทัพมารุกรานไทยอีก

    ๓. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ ในการปกครองประเทศ ทำให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง ทรงติดต่อเจริญพระราชไมตรีกับนานาประเทศ ทรงติดต่อการค้ากับชาวต่างชาติ และเมื่อมีเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น ก็ทรงแก้ไขด้วยความเฉลียวฉลาด ทรงพระปรีชาในด้านกวี และทรงส่งเสริมการกวี จนเป็นเหตุให้เกิดมีกวีที่มีชื่อเสียงหลายคน มีวรรณคดีเกิดขึ้นหลายเล่ม นับเป็นยุคทองแห่งวรรณคดีไทย


    [​IMG]

    ๔. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรืออีกพระนามหนึ่งว่า พระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2310 และสร้างกรุงธนบุรีเป็นราชธานีใหม่ของไทย ทรงปราบปรามผู้ก่อตั้งชุมนุมต่างๆ จนราบคาบ และรวบรวมประเทศชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และทรงกระทำสงครามจนได้รับชัยชนะ ขยายอาณาเขตประเทศออกไปอย่างกว้างขวาง


    ๕. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงสร้างกรุงเทพมหานครเป็นราชธานีของไทย ทรงกระทำศึกสงครามกับพม่าหลายครั้ง ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง ทรงสร้างปราสาทราชวัง ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากเวียงจันทร์ สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และวัดอื่นๆ ทรงรื้อฟื้นสังคยานาพระไตรปิฎก รวบรวมกฎหมายตราสามดวง และโปรดให้แต่งบทละครต่างๆ ขึ้นแทนของเก่าที่ถูกพม่าเผาทำลาย


    [​IMG]

    ๖. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยะมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชา เป็นที่รักยิ่งของประชาชน ทรงนำประเทศชาติรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจหลายครั้ง จนประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในเอเซียเฉียงใต้ ที่รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น ทรงปรับปรุงประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศ ทรงโปรดให้เลิกทาส ให้มีการรถไฟ การไปรษณีย์ การไฟฟ้าและการประปาขึ้นเป็นครั้งแรก


    ๗. พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาในด้านอักษรศาสตร์ ทั้งพระราชนิพนธ์ บทละคร ประวัติศาสตร์ เรื่องแปล สารคดี เรื่องปลุกใจให้รักชาติ ทรงนำประเทศไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทรงตั้งกองลูกเสือไทย ส่งเสริมการศึกษา ประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา ทรงสร้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งธนาคาร ประกาศใช้พระราชบัญญัตินามสกุล ออกแบบธงไตรรงค์ขึ้นใช้

    [​IMG]



    ๘. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเปรียบเสมือน “พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย” ทรงพระปรีชาสามารถในทุกแขนงวิชา ทรงรักและห่วงใยพสกนิกร และแก้ไขปัญหาต่างๆ ทรงริเริ่มจัดตั้งมูลนิธิต่างๆ ทรงค้นคว้า วิจัย การทำฝนเทียม ด้านการเกษตร การชลประทาน การสาธารณสุข และอื่นๆอีกมากมาย ทรงส่งเสริมความรักและสามัคคีให้เกิดในชาติ ทรงดูแลทุกข์สุขประชาชน ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงงานหนักมากที่สุดของโลก


    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน สืบเนื่องจากคำถวายอาศิรวาทราชสดุดี และถวายชัยมงคลของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เมื่องานสโมสรสันนิบาต เนื่องในวโรกาสวันฉัตรมงคล วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2530 ณ ทำเนียบรัฐบาล ดังปรากฏดังนี้

    “… เมื่อประชาชนชาวไทยในปัจจุบันได้พิจารณาข้อความจารึกที่ฐานพระบรมราชานุสรณ์ ณ ลานพระราชวังดุสิต ถึงปัจจัยที่ประชาชนในกาล 80 ปีก่อนโน้น น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ก็ประจักษ์ชัดว่าพระบรมราชคุณูปการแห่งพระมหาราชเจ้าพระองค์นั้น มิได้ผิดเพี้ยนไปจากพระมหากรุณาธิคุณแห่งใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแม้แต่น้อย ดังนั้นอาณาประชาราษฎร์แห่งใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ก็ยิ่งทวีความปิติปราโมทย์ มีสามัคคีสมานฉันท์เทิดทูนไว้เหนือเศียรเกล้า และภาคภูมิใจนักที่ได้มีพระบรมธรรมิกราช ผู้ทรงยิ่งด้วยพระขัตติยวัตรธรรม จึงขอ พระราชทาน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” แด่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ในขณะยังทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ในไอศูรย์ราชสมบัติ ทำนองเดียวกับประชาราษฎร์ สมัยเมื่อ 80 ปี ที่ล่วงมาได้พร้อมใจกันน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย พระราชสมัญญาแก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัยกาธิราชเจ้าว่า “พระปิยมหาราช…”
    “…. ในอภิลักขิตมหามงคลสมัยแห่ง “วันฉัตรมงคล” ในรอบปีที่ 37 ในวันนี้ บรรดาอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงและรัฐบาล สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ประกาศความสมานฉันท์พร้อมเพรียงกันเฉลิมพระเกียรติ และถวายพระราชสมัญญาเป็น “มหาราช” ด้วยความจงรักภักดีมีในปวงข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าฯ ตั้งสัตยาธิษฐานเดชะคุณพระศรีรัตนตรัย เป็นประธาน พร้อมด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์โปรด อภิบาลพระบรมราชจักรีวงศ์ให้สถิตธำรง อยู่คู่ดินฟ้าและโปรดประทานชัยมงคลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ขอจงทรงพระเจริญสิริสวัสดิ์ในไอศูรย์ ราชสมบัติแห่งสยามรัฐสีมาขอพระมหาราชเจ้า เผยแผ่พระบรมกฤษฎาเดชานุภาพ คุ้มเกล้าคุ้มกระหม่อมเหล่าพสกนิกร ตลอดในจิรัฐิติกาล เทอญ”


    พระมหาราชทั้ง ๘ พระองค์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นแก่ประชาชนชาวไทยและประเทศชาติ ได้ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์ ทำให้ชาติไทยเราสามารถรักษาความเป็นเอกราชและอธิปไตยไว้ได้จนทุกวันนี้ ทำให้บ้านเมืองของเรามีความสงบสุขเรียบร้อย ผ่านวิกฤตการณ์ต่างๆ มาด้วยดี ทำให้ประชาชนชาวไทยมีแผ่นดินที่ร่มเย็นเป็นสุขเป็นที่อยู่อาศัย พวกเราชาวไทยทุกคนจึงควรมีจิตสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของมหาราชของชาติไทยทั้ง ๘ พระองค์ ด้วยความกตัญญูกตเวที โดยการปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาท พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัส


    ----------------
    ขอบคุณที่มา :::
    มหาราชของชาติไทย | สำนักข่าวเจ้าพระยา
     

แชร์หน้านี้

Loading...