ปฏิจจสมุปบาท ปรมัตถธรรมอันเป็นเหตุปัจจัยให้ตรัสรู้

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 9 ตุลาคม 2009.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,896
    ปฏิจจสมุปบาท เป็นธรรมอันลึกซึ้ง ที่ภายหลังจากการตรัสรู้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงน้อมพระทัยที่จะไม่สั่งสอนสรรพสัตว์, มีพุทธดําริในแรกเริ่มว่าจะไม่เผยแผ่ธรรมที่ท่านตรัสรู้ เนื่องจากความยากและลึกซึ้งของ "ปฏิจจสมุปบาท และ นิพพาน" (พระไตรปิฎก-วินัยปิฎก เล่ม๔/ข้อ๗/หน้า๘ ; มัชฌิมนิกายมูลปัณณาสก เล่ม๑๒/ข้อ๓๒๑/หน้า๓๒๓) เหตุที่กล่าวแสดงดังนี้ เพื่อให้ท่านได้พิจารณาธรรมนี้โดยละเอียดและแยบคายจริงๆ ไม่ประมาทว่าเป็นของง่ายๆ ดังปรากฎแก่พระอานนท์มหาเถระมาแล้ว(ดังความต่อไปนี้) จึงจักเกิดประโยชน์สูงสุดขึ้นได้ และควรกระทําการพิจารณา(ธรรมวิจยะ)โดยละเอียดและแยบคายด้วยความเพียรพยายามอย่างยิ่ง เพราะพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้แล้วว่า"ยากและลึกซึ้ง" แต่เรามีแนวทางปฏิบัติของท่านแล้ว จึงเป็นสิ่งอันพึงปฏิบัติได้ แต่กระนั้นเราผู้เป็นปุถุชนจึงมิควรประมาทว่าเข้าใจแล้วโดยการอ่าน, การฟังแต่เพียงอย่างเดียวโดยเด็ดขาดเพราะเกินกำลังอำนาจของปุถุชน จักต้องทําการพิจารณาโดยละเอียดและแยบคายจริงๆ(โยนิโสมนสิการ)จึงจักบังเกิดผลอย่างแท้จริง

    ปฏิจจสมุปบาท ดำเนินเป็นไปตามหลักธรรม อิทัปปัจจยตา ที่มีพระพุทธพจน์ ตรัสสอนไว้ว่า

    เมื่อเหตุนี้มี ผลนี้จึงมี เพราะเหตุนี้เกิดขึ้น ผลนี้จึงเกิดขึ้น

    เมื่อเหตุนี้ไม่มี ผลนี้จึงไม่มี เพราะเหตุนี้ดับ ผลนี้จึงดับ

    อันแลดูเป็นธรรมดา แต่กลับแสดงถึงสภาวะธรรมหรือสภาวะธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ตามความเป็นจริงถึงขั้นสูงสุด(ปรมัตถ์) ถึงปัจจัยอันเนื่องสัมพันธ์กันจึงเป็นผลให้เกิดอีกสิ่งหนึ่งขึ้น อันเป็นหัวใจสําคัญในพุทธศาสนาที่ยึดในหลักธรรมที่ว่า" สิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย " หรือ " ธรรม(สิ่งหรือผล)ใด ล้วนเกิดแต่เหตุ " อันเป็นเฉกเช่นเดียวกับหลักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันนั่นเอง แตกต่างกันแต่ว่าหลักวิทยาศาสตร์นั้นส่วนใหญ่ครอบคลุมแต่เพียงด้านวัตถุธรรมหรือรูปธรรมเพียงด้านเดียว แต่ธรรมของพระพุทธองค์นั้นครอบคลุมถึงขั้นปรมัตถ์คือตามความเป็นจริงขั้นสูงสุด จึงครอบคลุมทั้งฝ่ายรูปธรรม(วัตถุ)และนามธรรม(จิต,นาม), ปฏิจจสมุปบาทก็เนื่องมาจากหลักธรรมอิทัปปัจจยตาหรือกฎธรรมชาตินี้ แต่เป็นหลักธรรมที่เน้นเฉพาะถึงเหตุปัจจัยให้เกิดผลอันคือทุกข์และการดับไปแห่งทุกข์โดยตรงๆแต่เพียงอย่างเดียว

    ช่างยนต์ ต้องรู้เรื่องเครื่องยนต์อย่างดี จึงจักซ่อมบํารุงได้ดี ฉันใด

    ผู้ที่ต้องการดับทุกข์ จึงต้องกำหนดรู้เรื่องทุกข์และการดับทุกข์อย่างดี จึงจักดับทุกข์ได้ดี ฉันนั้น

    ปฏิจจสมุปบาท เป็นธรรมในรูปกฎแห่งธรรมชาติขั้นสูงสุดคือเป็นสภาวะธรรมจริงแท้แน่นอนอย่างที่สุดหรือมันต้องเป็นเช่นนั้นเอง อันกล่าวถึง กระบวนจิตของการเกิดขึ้นของทุกข์และการดับไปของทุกข์ ที่แสดงถึง การอาศัยกันของเหตุต่างๆ มาเป็นปัจจัยกัน แล้วก่อให้เกิดเป็นความทุกข์ขึ้น, หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า

    ธรรมที่แสดงถึงเหตุปัจจัยชนิดต่างๆ ที่ทําให้เกิดเหตุปัจจัยต่อเนื่องสืบต่อกัน อันเป็นผลให้เกิดทุกข์ในที่สุด, หรือกล่าวอย่างละเอียดได้ว่า

    ธรรมที่แสดงถึงการที่ทุกข์เกิดขึ้นได้นั้น เพราะอาศัยเหตุปัจจัยอันเกิดต่อสืบเนื่องกันมาเป็นลําดับ...ซึ่งมีองค์ประกอบ ๑๒ ส่วนหรือองค์ธรรม เกี่ยวเนื่องเป็นปัจจัยแก่กันและกัน หมุนเวียนไปเป็นวงจรเกี่ยวเนื่องกันไปเป็นลําดับ แต่หาต้นหาปลายไม่ได้เพราะเป็นภวจักรหรือวงจร ซึ่งเกิดจากเหตุปัจจัยอันหนึ่งเป็นปัจจัยของอีกอันหนึ่ง และปัจจัยอีกอันหนึ่งนี้ก็เป็นปัจจัยของอีกอันอื่นๆสืบต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด......จึงก่อเกิดเป็นสังสารวัฏการเวียนว่ายตายเกิดในภพ....ในชาติ, และมีการเกิดภพ เกิดชาติ ตั้งแต่ในปัจจุบันชาตินี้เอง คือเกิด ภพ ชาติ ตั้งแต่ ณ ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้นั่นเอง! และสามารถเกิด ภพ เกิด ชาติ อันเป็นทุกข์ได้ในทุกขณะจิต!

    เพราะความลึกซึ้งและแยบคายของปฏิจจสมุปบาทอันเป็นปรมัตถธรรมคือเป็นธรรมหรือสิ่งที่เป็นจริงขั้นสูงสุด จึงมีความหมายครอบคลุมไปถึงเรื่องข้ามภพ ข้ามชาติ ตลอดจนแม้กระทั่งกําเนิดของโลก แต่พระพุทธประสงค์โดยแท้แล้วต้องการแสดงการเกิดภพ เกิดชาติ แล้วดับภพ ดับชาติ เหล่านั้น เสีย ตั้งแต่ในปัจจุบันชาตินี้ก่อนตายหรือแตกดับ หรือดับความทุกข์ที่เกิดจากภพจากชาติเหล่านี้ ที่เกิดดับ..เกิดดับ อยู่เป็นระยะๆทุกขณะจิตโดยไม่รู้และไม่เข้าใจด้วยอวิชชา เป็นการ เกิดดับๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาขณะทั้งๆที่ยังมีชีวิตอยู่ เยี่ยงนี้จึงเป็นเรื่องที่ถูกพระพุทธประสงค์อย่างถูกต้องและแท้จริงเป็นที่สุด และเมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแท้จริง(ญาณ)ย่อมทําให้ดําเนินไปในธรรมได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว (อ่านรายละเอียดได้ใน การตีความปฏิจจสมุปบาท)

    เห็นทุกข์อะไร? จึงเริ่มเห็นธรรม อย่างแท้จริง

    หลายท่านเข้าใจว่าการปฏิบัตินั้น "ต้องเห็นทุกข์ จึงจะเห็นธรรม" อย่างผิดความหมาย อย่างเป็นอวิชชา(ความไม่รู้ตามความเป็นจริง)คือเข้าใจว่าต้องเกิดทุกข์ขึ้นเสียก่อน แล้วจึงจะเหมาะแก่การเริ่มปฏิบัติ จึงจะสามารถเห็นหรือเข้าใจในธรรมต่างๆได้ดี หลายๆท่านจึงทอดทิ้งการปฏิบัติโดยกล่าวอ้างว่าไม่มีทุกข์ ทั้งๆที่มีทุกข์ หรือกําลังก่อความทุกข์อยู่ในทุกๆขณะจิตโดยไม่รู้ตัว, แท้ที่จริงนั้นคําว่า เห็นทุกข์ หรือเห็นทุกข์อริยสัจนั้นหมายถึงการมีความรู้ความเข้าใจหรือเห็นในสภาวะธรรม(ธรรมชาติ)ของทุกข์อย่างถูกต้องตามความเป็นจริงแห่งธรรม(ธรรมชาติ) มิได้มีความหมายถึงการที่ต้องประสบกับความทุกข์เสียก่อนแล้วจึงควรแก่การปฏิบัติ, ดังนั้นก่อนอื่นจึงต้องกำหนดรู้ทุกข์ อันเป็นกิจอันพึงกระทำใน อริยสัจ๔ (กิจจญาณ) ทำความเข้าใจความหมายของคําว่า ทุกข์ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างถูกต้องเสียก่อน มิฉนั้นจะไม่เข้าใจในสภาวธรรม(ธรรมชาติ)ของทุกข์ และไม่รู้เป้าหมาย(ทุกข์)ที่จะกําจัดอย่างแท้จริง อันคือ "ทุกข์อะไร?" ที่จะดับสนิทไม่ให้เหลือได้สมดังพระพุทธประสงค์ และเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าทุกข์อะไรที่เป็นทุกข์ประจําขันธ์หรือชีวิต อันเป็นสภาวะธรรม(ธรรมชาติ)ที่ยังคงต้องเกิด ต้องมี ต้องเป็น? และต้องปฏิบัติเยี่ยงไรจึงไม่เป็นทุกข์ เพราะถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจ(อวิชชา)ถึงจุดมุ่งหมายในการปฏิบัติอย่างถ่องแท้ถูกต้อง จักทําให้การปฏิบัตินั้นวนเวียนไม่ก้าวหน้าเพราะมัวแต่ปฏิบัติในสิ่งที่ยึด,ในสิ่งที่ตนเองเข้าใจผิด,หรือเป็นเพราะการยึดถือตามๆกันมาตามประเพณีที่สืบทอดต่อๆกันมาโดยไม่ถูกต้องหรือเข้าใจผิด อันทําให้ปฏิบัติไปตามความเชื่อ ความเข้าใจที่ผิด จึงเป็นไปในสภาพที่พยายามปฏิบัติให้เหนือกว่าสภาวะธรรม(กฎของธรรมชาติ)อันยิ่งใหญ่โดยไม่รู้ตัว อันอุปมาได้ดั่งการวิ่งไล่จับเงาที่ย่อมไม่มีวันประสบผลสําเร็จ ดังเช่น ความไม่เข้าใจว่าทุกข์อริยสัจ อันเป็นทุกข์ประจำขันธ์หรือชีวิตของทุกคน และ เวทนา(ความรู้สึกรับรู้) อันเป็นทุกข์ธรรมชาตินั้นยังคงมีอยู่ เมื่อไม่รู้จึงเกิดการพยายามดับทุกข์อริยสัจ บางประการและทุกขเวทนา อันเป็นความเข้าใจผิด ที่ตามความเป็นจริงแห่งธรรมแล้วเราต้องดับทุกข์อุปาทาน หรือไม่มีหรือไม่เป็นทุกข์อุปาทาน แต่เพราะอวิชชาจึงแยกแยะสภาวะธรรม(ธรรมชาติ)ของทุกข์อริยสัจและเวทนาอย่างแท้จริงไม่ได้ อันยังก่อให้เกิดการปฏิบัติแบบนอกลู่ผิดทาง และก่อให้เกิดวิปัสสนูปกิเลสอีกด้วย อันยังให้ไม่สามารถก้าวหน้าในการปฏิบัติสมดั่งวัตถุประสงค์เพื่อความดับสนิทแห่งทุกข์หรือพ้นทุกข์ อันเป็นสุขอย่างยิ่ง, หรือจางคลายจากทุกข์ตามควรแห่งฐานะตน

    ใน "ธัมมจักกัปปวัตนสูตร" ซึ่งเป็นปฐมเทศนา คือการแสดงธรรมเป็นครั้งแรกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแก่เหล่าพระปัญจวัคคีย์ทั้ง๕, ตลอดจนหลักธรรม อริยสัจ๔, สติปัฏฐาน๔, หรือในบทสวดมนต์ทําวัตรเช้าบท"สังเวคปริกิตตนปาฐะ" และแก่นธรรมทั้งหลาย พระพุทธองค์ท่านทรงตรัสอธิบายเรื่องทุกข์ไว้เหมือนกันดังนี้

    ภิกษุทั้งหลาย นี้แล คือความจริงอันประเสริฐเรื่องความทุกข์ คือความเกิดก็เป็นทุกข์, ความแก่ก็เป็นทุกข์, ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์, ความตายก็เป็นทุกข์, ความประจวบกับสิ่งที่ไม่รักก็เป็นทุกข์, ความพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์, ความปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ กล่าวโดยย่อ ขันธ์๕ที่ประกอบด้วยอุปาทานเป็นทุกข์

    (บาลี มหาวาร, สํ๑๙/๕๒๘/๑๖๖๔, ตรัสแก่ภิกษุทั้ง๕ที่อิสิปตมฤคทายวัน)

    ถ้าเราใช้การ "โยนิโสมนสิการ" คือการพิจารณาโดยละเอียดและแยบคายตามความเป็นจริงในสภาวะธรรม(สิ่ง)นั้น ไม่ใช้แต่เพียงความคิดเห็นหรือความเชื่อของตนเองอันคือทิฏฐิ อันมักมีอคติหรือศรัทธาใดๆมานําให้เห็นผิดไปจากความเป็นจริง, แล้วจักเห็นได้ว่า ทุกข์ ที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ทั้ง ๗ ข้างต้น อันมี ๑.ความเกิด ๒.ความแก่ ๓.ความเจ็บ ๔.ความตาย ๕.การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ๖.การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ๗.ความปรารถนาในสิ่งอันใดแล้วไม่ได้ในสิ่งอันนั้น ทั้ง๗ ประการนี้ เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้น หรือเหตุแห่งทุกข์นั่นเอง อันครอบคลุมความทุกข์ทุกรูปแบบทุกประการประดามีในโลกนี้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ และเป็นไปอย่างปรมัตถ์คือตามความเป็นจริงขั้นสูงสุด จึงครอบคลุมสรรพทุกข์ของบรรดาสรรพสัตว์ล้วนสิ้น ตั้งแต่อดีตกาล จวบจนปัจจุบันและต่อไปในอนาคตและจักยังครอบคลุมทุกกาลสมัยหรืออนันตกาลตลอดไป ถ้าเราใส่ใจสังเกตุโดยแยบคายจักพบคําว่า โดยย่อแล้ว ขันธ์๕ที่ประกอบด้วยอุปาทาน เป็นทุกข์ หรือก็คือความหมายว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์นั่นเอง อันเป็นแก่นสาระ ที่มีความหมายที่สําคัญยิ่งว่า เหตุแห่งความทุกข์ทุกประการประดามีที่กล่าวมาแล้วทั้ง ๗ นี้ สามารถย่อหรือ "สรุป" ลงเหลือเพียงเป็น "หนึ่งเดียว" เท่านั้น กล่าวคือ ทุกข์ทั้ง๗นี้ อันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ชนิดที่พระพุทธองค์ทรงเพียรสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้ดับสนิทลงไป คือ อุปาทานขันธ์๕ อันเป็นทุกข์ หรือ "อุปาทานทุกข์" หรือก็คือ " ขันธ์๕(กระบวนการดำเนินชีวิต)ที่เกิดในสภาวะที่มีอุปาทานร่วมหรือครอบงําด้วย " อันเป็นความทุกข์ที่บังเกิดแก่ใจหรือจิต นี้แหละคือความทุกข์แท้ๆ ที่สัตว์โลกทั้งหลายมองไม่เห็นด้วยตาหรือใจธรรมดา ซึ่งตามปกติมักเติมเต็มไปด้วยกิเลส,ตัณหาและอุปาทาน จึงปิดบังดวงตาไม่ให้เห็นสัจจธรรมนี้ จึงต้องอาศัยธรรมคําสั่งสอนของพระองค์ท่านเป็นแนวทาง เพื่อให้เกิดดวงตาเห็นธรรมที่หมายถึงตาแห่งปัญญาหรือความเข้าใจที่ถูกต้องแท้จริง(ญาณ) จึงจักสามารถมองเห็นได้อย่างแทงตลอด ถูกต้อง และแท้จริง

    ก่อนอื่นต้องโยนิโสมนสิการ ให้เกิดความเข้าใจจนน้อมย้อมรับตามความเป็นจริงว่า การดับทุกข์นั้น ไม่ใช่การดับทุกข์อริยสัจ อันมี เกิด, แก่, เจ็บ, ตาย, การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก, การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก, หรือความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น. ซึ่งล้วนเป็นเหตุปัจจัยอันเป็นสภาวธรรมหรือกฎธรรมชาติแท้ๆ คือ เป็นสภาวะที่จริง แท้ แน่นอน, สิ่งเหล่านี้เมื่อสัตว์,บุคคลใดเกิดขึ้นมาในโลกนี้แล้วย่อมต้องประสบพบพาน ไม่มีผู้ใดหลีกเลี่ยงจากสภาวธรรม(ธรรมชาติ)นี้ หรือกฎพระไตรลักษณ์ได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเหล่าพระอริยเจ้าทุกพระองค์, แต่พระพุทธองค์ทรงค้นพบสัจจธรรมขั้นปรมัตถ์อันสูงสุดว่า ทุกข์เหล่านั้นเป็นทุกข์ตามธรรมชาติ หรือทุกข์ประจําขันธ์หรือชีวิตอันยังต้องเกิด ต้องมี ต้องเป็น หรือมันเป็นเช่นนั้นเอง เป็นไปตามกระแสสภาวะธรรมหรือธรรมชาติ แต่เพราะความไม่รู้ด้วยอวิชชา จึงไม่รู้จะกระทําหรือปฏิบัติเยี่ยงไรต่อทุกข์เหล่านั้นอันเป็นสภาวะธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้นและเป็นไปเป็นธรรมดา ที่ตามธรรมชาติเดิมแท้ ของมันนั้น ไม่เป็นทุกข์อันเร่าร้อนเผาลน และยาวนาน ต้องปฏิบัติเยี่ยงไรไม่ให้แปรปรวนไปถูกครอบงำด้วยตัณหา อุปาทาน อันเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความทุกข์ หรือ อุปาทาน ทุกข์ ที่ปุถุชนรู้สึก เร่าร้อนเผาลนเกิดแก่ใจหรือจิตและเป็นไปอย่างยาวนาน เพราะแยกแยะไม่ออกเนื่องจากยังไม่มีวิชชา ของพระพุทธองค์ จึงยังคงถูกครอบงําด้วยอวิชชา อันคือความไม่รู้ตามความเป็นจริงในสภาวะธรรม(ชาติ)ของทุกข์และการดับทุกข์ จึงปฏิบัติดับทุกข์ที่เหตุ อันทำให้เกิดทุกข์ขึ้นนั้นเป็นไปอย่างไม่ถูกต้อง กลับไปพยายามแสวงหาหรือปฏิบัติที่จะไม่ให้เกิดเหตุแห่งทุกข์ใดๆ อันเป็นสภาวะธรรมที่ยังคงเกิดมีเป็นเช่นนั้นเอง กล่าวคือ ไม่อยากให้มีทุกข์ ไม่ให้มีโศก ไม่ให้มีโรค ไม่ให้มีภัย ไม่ให้มีเสนียดจัญไรใดๆมากระทบหรือเกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และเป็นไปอย่างไม่รู้ตัวว่ายึดเยี่ยงนี้อยู่ โดยมัวแต่ยึดในบุญในกุศล เพื่อหวังผลบุญช่วยคํ้าจุนดังกล่าว จนขาดการปฏิบัติเพื่อดับภพ ดับชาติ อันเป็นเส้นทางตัดตรงถึงบุญถึงกุศลขั้นสูงสุด อย่างถูกต้องดีงาม.

    พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า

    "เมื่อกล่าวสรุปให้สั้นอย่างที่สุดแล้ว เบญจขันธ์(ขันธ์ ๕)ที่มีอุปาทาน เป็นตัวทุกข์."

    สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา

    คําสั่งสอนของพระพุทธองค์นั้น ล้วนเป็นคําสั่งสอนให้นําออกหรือดับอุปาทานทุกข์ หรือทุกข์ที่บังเกิดแก่ใจล้วนสิ้น และ"อุปาทานทุกข์"นี้แหละคือความทุกข์จริงๆที่มนุษย์ทั้งหลายกําลังเผชิญกันอยู่ทุกๆขณะจิต เพียงแต่ไม่รู้ไม่เข้าใจว่าเป็นอุปาทานทุกข์, เพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจในสภาวะธรรม(ธรรมชาติ)ของทุกข์ที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอน นักปฏิบัติและปุถุชนส่วนใหญ่เพราะอวิชชาจึงพยายามปฏิบัติหาทางดับเวทนา อันเป็นทุกข์ธรรมชาติ หรือทุกข์ประจําขันธ์(กระบวนการของชีวิต) อันเป็นสภาวธรรมชาติแท้ๆไปด้วย โดยไม่รู้ตัว, ที่แม้แต่พระพุทธองค์ก็ทรงยอมรับและประสบกับสภาวธรรมชาติเหล่านี้เช่นกัน, เมื่อไม่เข้าใจจึงก่อกลายเป็นอุปาทานทุกข์อันเป็นทุกข์แท้ๆให้เกิดขึ้นจากความไม่รู้ไม่เข้าใจเพิ่มขึ้นอีก จึงเกิดการเวียนวนไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติจนเหนื่อยอ่อน เพราะแน่นอนที่ย่อมไม่สามารถปฏิบัติให้ชนะธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ได้ตามความเชื่อ,ความเข้าใจผิดนั้นได้ จึงอุปมาดั่งวนเวียนไล่จับเงาตนเองอยู่ตลอดกาลสมัย ซึ่งย่อมไม่มีวันประสบความสําเร็จไม่ว่าจักนานไปถึงภพชาติใดๆก็ตาม

    อุปาทานคืออะไร? อะไรเป็นเหตุ มาเป็นปัจจัยที่ทําให้เกิด? เข้าใจจริงๆหรือไม่?

    ปฏิจจสมุปบาทสามารถอธิบายได้ว่าอุปาทานคืออะไร? อะไรเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น?

    เมื่อไม่คลุมเครือและเข้าใจอย่างชัดแจ้งว่า อันใดเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดอุปาทานอันเป็นมวลเหตุแห่งทุกข์ทั้งมวลแล้ว ย่อมสามารถแก้ปัญหาคือดับทุกข์ที่เหตุได้อย่างถูกต้อง อันย่อมต้องบังเกิดผลดั่งที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้

    ธรรมใดเกิดแต่เหตุ เมื่อเหตุดับ ธรรมนั้นก็ดับ

    อันคือ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนเกิดแต่เหตุ เมื่อเหตุดับ สิ่ง(ผล)นั้นก็ดับ

    จากปฏิจจสมุปบาทถ้าท่านพิจารณาโดยละเอียดและแยบคายแล้ว ท่านจะได้ประโยชน์อันสูงลํ้าค่า

    สมดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า

    ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม

    อนึ่งเราควรอ่านพิจารณาแยกแยะเวทนา(การเสวยอารมณ์หรือการเสวยความรู้สึก เป็นสุขเวทนา,ทุกขเวทนา,อทุกขมสุขหรือไม่ทุกข์ไม่สุข)อันคือทุกข์ธรรมชาติของชีวิตหรือขันธ์๕ อันเป็นกระแสสภาวะธรรมหรือสภาวะธรรมชาติแท้ๆ ให้ออกจาก"ความทุกข์แท้ๆ"(ทุกข์อุปาทาน)อันเกิดแต่เหตุปัจจัยชนิดที่ไม่จําเป็นในการดํารงชีวิตมาปรุงแต่งจนเป็นทุกข์ให้ชัดเจน เพราะเป็นปัจจัยสําคัญให้เข้าใจในสภาวะธรรม อันจะมีกล่าวไปเป็นลําดับขั้น คําศัพท์บาลีอาจมีค่อนข้างมากเพื่อเทิดพระเกียรติ์แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ธรรมอันชอบด้วยพระองค์เอง และเพื่อการสืบทอดพระศาสนา เพื่อให้คงความหมายเดิมของพระพุทธองค์ไว้ แต่จะมีวงเล็บอธิบายไว้เป็นส่วนใหญ่ และบางคําท่านสามารถคลิกดูความหมายได้ทันที, หรือค้นหาคำศัพท์ โดยคลิกที่เม้าส์ขวาของทุกหน้า, ตลอดจนSearch Engine สำหรับการค้นหาข้อมูลภายในเว็บปฏิจจสมุปบาท, และเป็นความตั้งใจของผู้เขียนที่ต้องการให้อ่านอย่างพิจารณาช้าๆแต่โดยละเอียด เพื่อที่จะได้พิจารณาโดยแยบคาย(อย่างชาญฉลาด) และสามารถที่จะศึกษาต่อจากแหล่งข้อมูลอื่นๆได้อันล้วนแต่อ้างอิงหรือแปลมาแต่พระบาลีกันทั้งสิ้น, ขณะอ่านขอให้อ่านอย่างพิจารณาและพยายามลดละความมานะ (ความถือตัว,ถือตน ว่าดี ดีกว่า เก่งกว่า ด้อยกว่า) และทิฏฐุปาทานลงเสียให้ได้สักชั่วขณะระยะหนึ่ง อันเป็นอุปาทาน ชนิดยึดมั่นถือมั่นในทฤษฎี ในความเชื่อ ในความคิดของตัวเอง อันมีเป็นปกติธรรมของปุถุชนเพียงแต่ไม่รู้ตัว และเป็นสิ่งที่เรากําลังจะศึกษาและปฏิบัติเพื่อนําออกและละเสียให้ได้ จึงจะดับทุกข์ได้ โดยเฉพาะความคิดที่ว่า "รู้แล้ว เข้าใจแล้ว" เพื่อท่านจักได้ประโยชน์อันสูงสุดในการดับทุกข์สมดั่งพระพุทธประสงค์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เมล็ดพืชอันเป็นสภาวะธรรม(ชาติ)ถึงแม้มีอยู่ แต่จักงอกเป็นต้นไม่ได้ถ้าขาดปัจจัยคือดินและนํ้า คือ เมื่อไม่มีดินและนํ้าอันเป็นปัจจัยสําคัญให้เมล็ดพืชงอก, เมล็ดพืชนั้นย่อมไม่สามารถงอกเป็นต้นได้ฉันใด, เหตุแห่งทุกข์(อันคือบรรดาความเกิด, แก่, เจ็บ, ตาย, การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก, การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก, ความปรารถนาสิ่งอันใดไม่ได้ในสิ่งนั้น ทั้ง๗ประการ)ถึงแม้มีอยู่ดุจดั่งเมล็ดพืชอันเป็นไปตามสภาวะธรรม(ธรรมชาติ) แต่เมื่อไม่มีปัจจัยต่างๆอื่นอีก ก็ย่อมไม่สามารถงอกงามหรือเติบโตไปเป็นความทุกข์ได้ฉันนั้น.

    สรรพทุกข์ทุกอย่างในโลกนี้ล้วนคือ"ทุกข์อุปาทาน หรือ อุปาทานขันธ์๕ อันเป็นทุกข์" ท่านไม่อยากทราบอุปาทาน "เกิด" และ "ทํางาน" อย่างไร ? และจะ"ดับ"ได้อย่างไร ? ทําไมถึงครอบงําทุกสรรพสัตว์ไว้ได้ทุกกาลสมัย ? ให้เวียนว่ายตายเกิดในภพในชาติ และยังจะเป็นเช่นนี้จวบจนโลกนี้แตกสลายไปในที่สุด อันพึงยกเว้นแต่เหล่าพระอริยเจ้า

    ข้อพึงสังวรณ์ การอ่านแล้วมีความเข้าใจอย่างถูกต้องโดยประมาณ จักมีประโยชน์จนเราสัมผัสและรู้สึกได้ด้วยตนเอง(ปัจจัตตัง)ในระดับหนึ่งจนแปลกใจ แต่จะยังไม่ใช่คุณประโยชน์อันอนันต์ของปฏิจจสมุปบาท ท่านจักต้องพึงกระทําโยนิโสมนสิการในธรรมนี้ต่อไปคือพิจารณาในธรรมนี้โดยละเอียดและแยบคายด้วยความเพียรเพราะเป็นกระบวนธรรมของจิตอันสลับซับซ้อนละเอียดอ่อน การอ่านแล้วเข้าใจยังไม่ใช่การพิจารณาธรรม(ธรรมวิจยะ)หรือวิปัสสนา, ควรพยายามพิจารณาแก้ข้อสงสัยต่างๆ เมื่อพบแล้วพึงพิจารณาให้เข้าใจถึงใจ จนวิจิกิจฉาคือความสงสัยใดๆในธรรมนี้หมดสิ้นไป เพราะความเข้าใจ ไม่ใช่เพราะการจําได้จากการอ่าน,การฟังหรือการคล้อยตามข้อธรรม จึงจักยังให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด และนํามาเป็นแนวทางปฏิบัติ อันจักทําให้หมดความสงสัยที่แอบซ่อนอยู่ลึกๆในหลักธรรมพระพุทธศาสนา แล้วเราจักพบกับคุณอนันต์ของ

    ปฏิจจสมุปบาท
    ปรมัตถธรรม กระบวนธรรมของการเกิดขึ้นและดับไปแห่งทุกข์

    องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอยู่เนืองๆว่าท่านทรงสอนแต่เรื่องให้รู้จักทุกข์ ที่หมายถึงรู้เข้าใจและรู้เท่าทัน ก็เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการดับทุกข์เท่านั้น ดังนั้นคําสอนทั้งหลายของพระองค์จึงมุ่งหมายเป็นที่สุดอยู่ที่การดับทุกข์ อันเป็นสุข สงบ บริสุทธิ์เป็นอย่างยิ่งทั้งสิ้น แต่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับเป้าหมาย บุคคล สถานะการณ์ และกิเลสตัณหาอันมากมายหลากหลาย คําสอนจึงมีตั้งแต่ขั้นทาน ศีล สติ สมาธิ ปัญญา เป็นลําดับขึ้นไป อันขึ้นอยู่กับเพศคือฆราวาสหรือบรรพชิตและภูมิปัญญาและจริตของแต่ละบุคคล คําสอนของท่านจึงมีมาก และยังแตกแขนงและได้ขยายความออกไปตามกาลสมัยถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์และเกิดเป็นนิกายต่างๆ แต่แก่นของธรรมแท้ๆยังคงแฝงอยู่ อันล้วนมุ่งสู่จุดหมายเดียวกันทั้งสิ้นคือ"ดับทุกข์" อันคือ"ดับอุปาทานทุกข์" หรือ "ดับทุกข์ที่บังเกิดแก่จิต" อันยังให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนั่นเอง ดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า

    ผู้ไม่มีอุปาทานย่อมบรรลุพระนิพพาน
    (เวสาลีสูตร ๑๘/๑๒๓)

    อันล้วนปรากฎอยู่ในหลักธรรม "ปฏิจจสมุทปบาท" นี้ทั้งสิ้น, แม้ในขณะที่ทรงพระชนม์ชีพอยู่ พระองค์ท่านก็ได้ตรัสสั่งสอนปฏิจจสมุปบาทอยู่เนืองๆ แต่เนื่องจากความยากและลึกซึ้ง จึงได้แยกออกเป็นส่วนๆ หรือกล่าวในแนวทางอื่นๆเช่นกล่าวแบบอนุโลมคือการเกิดขึ้นของทุกข์บ้าง, แบบปฏิโลมการดับไปของทุกข์บ้าง, หรือการกล่าวจากท้ายวงจรของปฏิจจสมุปบาทย้อนไปต้นวงจรบ้าง(ปฏิโลมเทศนา), หรือองค์ธรรมย่อยๆแต่ละองค์ธรรมบ้าง ฯลฯ. ก็เพื่อสั่งสอนสรรพสัตว์ตามความเหมาะสมและสถานะการณ์นั้นๆ หรือตามจริตหรือกิเลสอันมีมากมายและหลากหลายของผู้ที่ท่านสั่งสอนเท่านั้น

    นักปฏิบัติสามารถใช้แก่นธรรมนี้เป็นหลักปฏิบัติ(มรรค-ทางปฏิบัติให้พ้นทุกข์ โดยใช้ความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาท)จนดับทุกข์ที่เกิดที่เป็นให้ดับลงไป หรือให้จางคลายจากทุกข์เพื่อให้อยู่ในโลกนี้ได้อย่างเป็นสุขตามควรแห่งฐานะของตน หรือเพื่อนิโรธอันเป็นการสิ้นภพ สิ้นชาติ ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันชาติ อันเป็นการสิ้นทุกข์อุปาทานหรือความทุกข์ทั้งปวงตลอดกาล, เมื่อสิ้นทุกข์ทั้งปวง นั่นแหละคือสิ่งที่สุขที่สุด ที่เราปุถุชนแสวงหากันจากภายนอกโดยไม่เข้าใจ เพราะความจริงแล้ว สุขนั้นก็ไม่มี มีแต่ทุกข์และดับทุกข์เท่านั้น

    ปฏิจจสมุปบาท แม้เป็นธรรมอันลึกซึ้ง ยากแก่การเข้าใจ สมดั่งพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ แต่พระพุทธองค์ท่านได้ทรงชี้แนวทางไว้แล้ว จึงไม่เกินความเพียรที่แน่วแน่อย่างแน่นอน แต่ต้องใช้ปัญญา ปัญญานี้ไม่ใช่ปัญญาในทางโลกๆที่เราท่านทั้งหลายเคยชิน ยึดมั่น เคยปฏิบัติกันในชีวิต แต่เป็นปัญญาที่หมายถึงความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องในสภาวะธรรม(ธรรมชาติ)เรื่องทุกข์และการดับทุกข์, อันเน้นที่ความเข้าใจในสภาวะธรรม(ธรรมชาติ)แท้ๆในการเกิดขึ้นของทุกข์และการดับลงของทุกข์ที่ใจหรือจิตเป็นสําคัญ อันในที่สุดย่อมยังผลให้จิตและกายเป็นสุขอย่างแท้จริงสูงสุดตามสภาวะธรรม(ธรรมชาติ)

    แนวทางปฏิบัติในโฮมเพจปฏิจจสมุปบาทนี้จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องสูงสุดตามหลักพุทธศาสนาที่แม้จะยากต่อการทําความเข้าใจแต่ก็ให้ผลตอบแทนอย่างสูงสุด ให้สมดังพระพุทธประสงค์ เพื่อความจางคลายจากทุกข์ตามฐานะแห่งตน หรือเพื่อการดับสนิทไปแห่งทุกข์ อันเป็นจุดหมายสําคัญอันสูงสุดของพระพุทธศาสนาเท่านั้น ดังเช่น

    ๑. ชี้ให้เห็นอริยสัจ๔ โดยเฉพาะ การกำหนดรู้ ทุกข์, ทุกข์อะไร? ที่เราต้องหมายมั่นกําจัด และสามารถกําจัดหรือดับได้จริงๆ และถูกต้องตามพระพุทธประสงค์ และทุกข์อะไร? ที่ยังคงเกิดคงมีเป็นสภาวะแห่งธรรมชาติ และปฏิบัติเยี่ยงไรจึงไม่รู้สึกเป็นทุกข์หรือทุกข์นั้นมารบกวนไม่ได้

    ๒. ชี้ให้เห็นและเข้าใจจริงๆในสภาวะธรรม(ธรรมชาติ)ต่างๆ ดังเช่น

    หลักธรรมอิทัปปัจจยตา อันเป็นธรรมแสดงกฎธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ว่า ทุกสรรพสิ่งล้วนเกิดแต่เหตุ ดังนั้น เมื่อเหตุดับ ผลก็ย่อมต้องดับ เป็นไปเยี่ยงนี้ในทุกสรรพสิ่งทั้งในฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม ที่ไม่รู้อย่างแจ่มแจ้งก็เพียงแต่เพราะว่า เรารู้เหตุแค่ไหนเท่านั้นเอง อุปมาพุทธญาณหรือความรู้นั้นดังใบไม้ในป่าใหญ่ ส่วนธรรมคำสอนของพระองค์ท่านดุจดั่งใบไม้ในกำมือ เพราะหลักธรรมคำสอนนี้เพื่อนำไปปฏิบัติพิจารณา เพื่อให้เห็นเหตุอย่างแจ่มแจ้ง เพื่อที่จะได้ปฏิบัติดับที่เหตุได้อย่างถูกต้องดีงาม และธรรมของพระองค์ท่านเป็นการเน้นโดยเฉพาะเพื่อการดับไปแห่งทุกข์อันคืออุปาทานทุกข์นั่นเอง ที่มีแนวคำสอนอันดีงามไว้เป็นแนวทางปฏิบัติ

    ขันธ์๕ กระบวนการแห่งชีวิตที่เราใช้ในการดําเนินชีวิตให้เป็นปกติสุข โดยเฉพาะเวทนา(ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการกระทบสัมผัส)และจิตสังขาร(ความคิดความนึก,โทสะ,โมหะ,ราคะ ฯลฯ.)อันเป็นสังขารขันธ์ที่เป็นขันธ์หนึ่งของขันธ์๕ ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยสําคัญที่ก่อให้เกิดความทุกข์ที่หมายถึงอุปาทานทุกข์, และอุปาทานอะไร? ทําไมจึงกล้าแกร่งนัก? จนสามารถครอบงําสรรพสัตว์ไว้ได้ตลอดมาและตลอดไป ทุกภพ ทุกชาติ

    ธรรม หรือ ธรรมะ ในพระพุทธศาสนานั้นก็คือ คําสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องสภาวธรรมหรือธรรมชาติในการเกิดขึ้นของทุกข์และการดับไปแห่งทุกข์นั่นเอง เพื่อให้เกิดปัญญาหรือญาณ อันจักนําพาให้พ้นทุกข์

    ความยากในการปฏิบัติในข้อนี้คือการพิจารณาจนใจน้อมยอมรับด้วยใจหรือความเข้าใจในเรื่องสภาวะธรรมหรือสภาวะธรรมชาติ อันเป็นจริงยิ่งใหญ่ ที่มันเป็นเช่นนั้นเอง จึงจะสามารถปฏิบัติได้ก้าวหน้า

    ๓. อธิบายกระบวนการเกิดขึ้นและดับไปของทุกข์อย่างละเอียดโดยพิศดารตามความเป็นจริง โดยใช้หลักปฏิจจสมุปบาทและขันธ์ ๕ มาร่วมอธิบายแจกแจงอย่างเป็นระบบโดยละเอียดที่ยังไม่มีผู้ใดบันทึกไว้นับแต่อดีต เพื่ออธิบายถึงกระบวนการทํางานของจิตในการเกิดขึ้นแห่งทุกข์โดยแยบคาย อันเมื่อเข้าใจแล้ว(ญาณ)จะเกิดคุณอนันต์ในการปฏิบัติให้ถึงจุดมุ่งหมาย

    ๔ ใช้ความเข้าใจในธรรมนั้นมาปฏิบัติโดยตนเอง เพื่อดับทุกข์จริงๆ อันเป็นสิ่งจําเป็นอย่างยิ่งยวดในการปฏิบัติ เป็นแนวทางมรรคปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผล กล่าวคือ เพื่อยังให้เกิดมรรคองค์ที่๙อันคือ สัมมาญาณ(สัมมาปัญญา)ซึ่งจักยังผลให้เกิดมรรคองค์ที่๑๐ อันคือสัมมาวิมุตติ(สุขจากการหลุดพ้น)ขึ้นได้ (อ่านมรรคมีองค์๑๐ หรือ สัมมัตตะ ๑๐)

    นักปฏิบัติส่วนใหญ่มักจะรอให้เกิดความทุกข์ขึ้นเสียก่อน(แต่ไม่เห็นทุกข์อันหมายถึงไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องทุกข์-ทุกข์อุปาทานจริงๆ)จึงคิดปฏิบัติ อันทําให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างยากลําบากและไม่สามารถดับทุกข์ที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที เพราะไม่เข้าใจว่าเหตุแห่งทุกข์นั้นยังคงมีอยู่อันเป็นสภาวะธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ อันไม่มีผู้ใดหลบหนีได้หมดสิ้น นักปฏิบัติที่มีความเพียรเสียตั้งแต่ไม่มีทุกข์จึงก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว และได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่ตั้งอยู่บนความประมาท

    การอ่านนั้นควรอ่านอย่างช้าๆ พร้อมพิจารณาอย่างละเอียดไปด้วย ควรเปรียบเทียบกระบวนจิตต่างๆที่อธิบายอย่างแยบคายไปด้วย ไม่ควรอ่านแล้วเชื่อโดยทันที ควรตั้งอยู่บนหลักกาลามสูตร ไม่ควรอ่านอย่างรวดเร็วเพียงเพื่อให้จบๆไป เพราะจะไม่เกิดประโยชน์ตามควร สมดั่งเป็นปรมัตถธรรมขั้นสูงสุด ที่แม้พระพุทธองค์ทรงตรัสว่ายากและลึกซึ้งอันมีเพียงสอง แต่ก็มีคุณอันยิ่งใหญ่สมดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้

    ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม

    (มหาหัตถิปโทปมสูตรที่ ๘)

    ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเราตถาคต

    (วักกลิสูตร๑๗/๑๒๙)

    ดังนั้น คงพอสรุปได้ว่า "ทุกข์อะไร? ที่ยังคงเกิด คงมี" และ "ทุกข์อะไร? ที่ดับสนิทได้ ตามพระพุทธประสงค์"

    "ทุกข์อะไร ที่ยังคงเกิด คงมี" คือ เหล่าทุกขอริยสัจ อันเป็นทุกข์ประจำชีวิตหรือขันธ์๕นั่นเอง อันมี ๑.ความเกิด ๒.ความแก่ ๓.ความเจ็บ ๔.ความตาย ๕.การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ๖.การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ๗.ความปรารถนาในสิ่งอันใดแล้วไม่ได้ในสิ่งอันนั้น ทั้ง๗ นี้เป็นสภาวธรรมของชีวิต ที่ไม่อาจหลีกหนีได้ในที่สุด

    และทุกขเวทนาหรือความรู้สึกรับรู้ ที่พึงเกิดขึ้น จากการกระทบสัมผัส(ผัสสะ) อันพึงต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา หรือเป็นทุกข์ธรรมชาติ ที่ยังคงเกิดขึ้นเป็นธรรมดาของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นสภาวธรรมหนึ่งของชีวิต ที่ไม่อาจหลีกหนีได้เช่นกัน

    ทั้ง๒ กล่าวได้ว่า เป็นทุกข์ธรรมชาติ เป็นทุกข์โดยสภาวธรรมหรือธรรมชาติของชีวิตนั่นเอง และยังคงต้องเกิดขึ้น และเป็นไปเยี่ยงนี้ในผู้มีชีวิตเป็นธรรมดา

    "ทุกข์อะไรที่ดับสนิทได้ตามพระพุทธประสงค์" อันคือ ทุกข์อุปาทาน หรือ อุปาทานทุกข์ อันเป็นทุกข์ที่เร่าร้อนเผาลนมวลมนุษย์ชาติอยู่ทุกผู้คน เพียงแต่จำแนกแยกแยะไม่ออกด้วยอวิชชา อันเป็นสิ่งที่พระองค์ท่านเพียรสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้ดับสนิทไม่เหลือ มาโดยตลอดตั้งแต่ตรัสรู้จวบจนเข้าสู่พระปรินิพพาน ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ต้องการปลดปล่อยเวไนยสัตว์ให้ออกจากกองทุกข์หรืออุปาทานทุกข์นั่นเอง

    สิ้นภพ สิ้นชาติ ตั้งแต่ปัจจุบันชาติ

    คือสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเพียรพยายามสั่งสอนเวไนยสัตว์.

    "สุขนั้นไม่มีเป็นเพียงภาษาสมมุติ, จริงๆแล้ว มีแต่ทุกข์ที่เกิดขึ้น และดับทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นลงไปเท่านั้น"

    ดับทุกข์ คือความสุขในภาษาสมมุตินั่นเอง

    ดับทุกข์ทั้งปวง จึงเป็นสุขอย่างยิ่ง

    ทุกฺขเมว พิ สมฺโภติ ทุกฺขํ ติฏฺฐติ เวติ จ
    นาฌฺฌตฺร ทุกฺขาสมฺโภติ นาฌฺฌตฺร ทุกฺขานิรูชฺฌติ

    (สุ.สํ. สคาถวรรค ๑๕/๑๑๙)

    ความจริง ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป
    นอกจากทุกข์แล้ว ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์แล้ว ไม่มีอะไรดับ

    มรดกที่ ๔๗. ตรัสว่า แต่ก่อนก็ดี บัดนี้ก็ดี เราบัญญัติแต่เรื่องความทุกข์ กับความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เท่านั้น ดังนั้น พวกเรา อย่าต้องเสียเวลา ในการศึกษา การถาม การเถียง กันด้วยเรื่องอื่นที่มิใช่สองเรื่องนี้ กันอีกเลย. (จาก "มรดกของพุทธทาส")

    อ้างอิงจาก
    www.nkgen.com
     

แชร์หน้านี้

Loading...