วัดเทียนมู่และการต่อสู้ของสงฆ์

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 28 กันยายน 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,591
    เส้นทางจากตลาดดงบา ย่านการค้าสำคัญของเว้ฝั่งเมืองเก่าไปยังวัดเจดีย์เทียนมู่ ระยะทาง 5.5 กิโลเมตร ผมปั่นจักรยานที่ยืมมาจากโรงแรมเลียบแม่น้ำหอมทางซ้ายมือ และกำแพงเมืองเว้ทางขวามือ (ในช่วงต้นเส้นทาง) จักรยานมือสองจากญี่ปุ่นคันนี้แม้ไม่มีเกียร์ แต่วิ่งฉิวและเบาเท้า อุปสรรคสำคัญอยู่ที่แดดมากกว่า เวลาบ่ายแก่แล้ว แต่ยังร้อนเหลือหลาย หันไปเห็นร้านขายน้ำอ้อยคั้นสดข้างทางจึงได้ทีจอดแวะ

    e0b8a2e0b899e0b8a1e0b8b9e0b988e0b981e0b8a5e0b8b0e0b881e0b8b2e0b8a3e0b895e0b988e0b8ade0b8aae0b8b9.jpg
    เจดีย์ 7 ชั้นและประตูวัดมองจากด้านในของวัดเจดีย์เทียนมู่ วัดอายุมากกว่า 400 ปีแห่งเมืองเว้

    คนท้องถิ่นนั่งกันบนโต๊ะเก้าอี้เตี้ยๆ ริมบาทวิถี แม่ค้าพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย มีผู้หญิงคนหนึ่งมาช่วยตกลงกับผมเรื่องราคา แกหยิบธนบัตรใบละหมื่นดองออกมาเพื่อสื่อสารว่าเป็นราคาของน้ำอ้อย เท่ากับว่าแกก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เหมือนกัน แต่มีสัญชาตญาณแม่ค้ามากกว่าเจ๊ที่กำลังหีบอ้อย ผมยื่นเงินให้ 10,000 ดอง แกเอาใบละ 5,000 ดองให้กับแม่ค้า ส่วนแบงก์หมื่นเก็บไว้เองแล้วปั่นจักรยานออกไป

    ผมไม่คิดว่าเป็นการชำระหนี้สินค้างเก่าระหว่างกัน เงิน 5 พันนั้นน่าจะเป็นค่าคอมมิชชั่นมากกว่า เพราะในย่านนักท่องเที่ยวแถวที่พักของผมราคาน้ำอ้อยติดป้ายไว้แค่ 8 พันดอง อันที่จริงตัวแม่ค้าก็ไม่ได้ขาดทุนกำไร เพราะยังไงก็รับ 5 พันเท่าเดิม ดีเสียอีกที่เงินอีก 5 พันหมุนไปสู่กระเป๋าของเพื่อนร่วมชาติที่ใช้ไหวพริบธรรมดาๆ แลกมา

    แม่ค้าใส่ต้นอ้อยเข้าไปในเครื่องหีบแล้วใช้มือผลักก้านหมุน น้ำอ้อยไหลลงสู่แก้วพลาสติกที่รองไว้ แกบดแล้วบดอีกจนน้ำอ้อยในแก้วเป็นฟองครีมสีเขียวอ่อน หากนำไปขายในห้างสรรพสินค้าจะตั้งชื่อว่าน้ำอ้อยลาเต้ก็เก๋ไปอีกแบบ นอกจากทำกำไรจากฟองครีมแล้วผลิตภัณฑ์ก็ดูหน้าตาดี ได้น้ำอ้อยค่อนแก้วแล้วแม่ค้าก็นำน้ำแข็งก้อนใหญ่มาไสเป็นเกล็ดโปะลงในแก้วน้ำอ้อย แกปิดฝา เจาะหลอดลงไป ใส่ถุงพลาสติกหูหิ้ว ผมรับมาดูดอย่างชื่นใจแล้วแขวนไว้บนแฮนด์จักรยานก่อนปั่นต่อไปอีกแค่ไม่กี่ร้อยเมตรก็ถึงวัดเจดีย์เทียนมู่

    ที่จอดรถและร้านรวงขายของที่ระลึกตั้งอยู่ด้านขวามือ ผมรวบรวมแรงขาปั่นขึ้นเนิน เลยบันไดทางขึ้นวัดไปหน่อยทางก็โค้งไปด้านขวาเหมือนว่าโอบรัดเนินลูกนี้ไว้ จากนั้นจอดจักรยานไว้ใต้ร่มไม้ริมถนนพร้อมถุงน้ำอ้อยที่ยังหาถังขยะไม่เจอ เบื้องล่างคือแม่น้ำหอม มองออกไปเห็นส่วนที่เป็นโค้งน้ำหักศอกไปทางซ้าย แม่น้ำไหลมาจากทิศทางนั้น

    b8a2e0b899e0b8a1e0b8b9e0b988e0b981e0b8a5e0b8b0e0b881e0b8b2e0b8a3e0b895e0b988e0b8ade0b8aae0b8b9-1.jpg
    จักรยาน (ยืม) ของผู้เขียนจอดอยู่ริมตลิ่งแม่น้ำหอม

    เนินเขาที่พูดถึงนี้ชื่อว่า “ห่าเค” ในอดีตเมื่อ 400 กว่าปีก่อน ชาวบ้านเล่ากันว่ามักจะเห็นผู้หญิงในชุดท่อนล่างสีน้ำเงินท่อนบนสีแดงปรากฏกายอยู่เนืองๆ และรำพันว่าจะมีผู้ยิ่งใหญ่ใจบุญเดินทางมาสร้างเจดีย์ขึ้นบนเนินเขาเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของดินแดนแถบนี้

    แม้จะขึ้นชื่อว่ารับใช้จักรพรรดิราชวงศ์เลในเมืองหลวงฮานอย ขุนนางตระกูลเหงียนที่ปกครองดินแดนครึ่งล่างของเวียดนามในเวลานั้น รวมถึงแคว้นทวนหัว (ปัจจุบันคือเว้) คือผู้มีอำนาจที่แท้จริง “เหงียนฮวง” เดินทางมายังบริเวณเนินห่าเคนี้ เห็นเป็นรูปร่างคล้ายมังกรนอนหันศีรษะไปทางด้านหลังก็ชื่นชอบทำเล ทั้งยังได้ฟังเรื่องเล่าของชาวบ้านเข้าก็เลยออกคำสั่งให้สร้างวัดขึ้น ผู้คนเรียกว่า “วัดเทียนมู่” ซึ่งเทียนมู่หมายถึง “นางสวรรค์” คนไทยแปลชื่อวัดให้เสร็จสรรพว่า “วัดเทพธิดาราม”

    อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานบันทึกไว้ในปี ค.ศ.1553 (ก่อนสร้างวัดเทียนมู่ครึ่งศตวรรษ) ว่าบนเนินดังกล่าวนี้เคยมีโบราณสถานของชนชาติจามตั้งอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นโบราณสถานในศาสนาพราหมณ์ฮินดู ทั้งนี้ อาณาจักรจามปารุ่งเรืองสูงสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 9 ถึง 10 ก่อนจะค่อยๆ เสื่อมอำนาจลง

    b8a2e0b899e0b8a1e0b8b9e0b988e0b981e0b8a5e0b8b0e0b881e0b8b2e0b8a3e0b895e0b988e0b8ade0b8aae0b8b9-2.jpg
    ทางขึ้น-ทางเข้าวัดเจดีย์เทียนมู่

    วัดเทียนมู่ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1601 จากนั้นในสมัยขุนนางตระกูลเหงียนคนต่อๆ มาก็ได้มีการสร้างเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งปี ค.ศ.1710 เหงียนฟุคชูได้สั่งให้หล่อระฆังขนาดยักษ์ขึ้น หนักถึง 3,285 ตัน ถือเป็นหนึ่งในสมบัติสูงค่าที่สุดในเวียดนามยุคนั้น ว่ากันว่าเสียงระฆังได้ยินไกลถึงราว 10 กิโลเมตรเลยทีเดียว มีบทกวีและบทเพลงในเวลานั้นมากมายที่ระบุถึงระฆังยักษ์นี้

    ไม่กี่ปีต่อมา “เหงียนฟุคชู” ยังให้สร้างส่วนต่างๆ ของวัดขึ้นอีก อาทิ ซุ้มประตูหลักที่มี 3 ช่องทางเดิน หอพระไตรปิฎก หอระฆัง หอกลอง วิหารอีกหลายหลัง และอารามสำหรับพระสงฆ์ ซึ่งทั้งหมดมีหลงเหลือจนถึงปัจจุบันไม่มากนัก

    b8a2e0b899e0b8a1e0b8b9e0b988e0b981e0b8a5e0b8b0e0b881e0b8b2e0b8a3e0b895e0b988e0b8ade0b8aae0b8b9-3.jpg
    เจดีย์ฟึกเซียนที่ถูกเรียกกันติดปากว่าเจดีย์เทียนมู่

    หลัง “เหงียนอันห์” ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิซาลองปกครองเวียดนามและได้สร้างพระราชวัง-กำแพงเมืองเว้ขึ้น จากนั้นในยุคจักรพรรดิมินห์มัง พระราชโอรสก็ได้ปฏิสังขรณ์วัดเทียนมู่ขึ้นอีกเป็นครั้งใหญ่ และแล้วในปี ค.ศ.1844 สมัย “จักรพรรดิเชียวชี” จักรพรรดิราชวงศ์เหงียนองค์ที่ 3 (พระราชโอรสของจักรพรรดิมินห์มัง) ได้ดำริให้สร้างเจดีย์ทรง 8 เหลี่ยมขึ้น 7 ชั้น (สูง 21 เมตร) อุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้า 7 องค์ หรือ 7 ชาติภพ

    b8a2e0b899e0b8a1e0b8b9e0b988e0b981e0b8a5e0b8b0e0b881e0b8b2e0b8a3e0b895e0b988e0b8ade0b8aae0b8b9-4.jpg
    แผ่นศิลาจารึกบนหลังเต่าตั้งอยู่ใกล้ๆ เจดีย์เทียนมู่

    เจดีย์นี้ในปัจจุบันเมื่อเดินขึ้นบันไดที่อยู่ติดถนนขึ้นไปก็จะเห็นตั้งตระหง่านโดดเด่น เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญของเมืองเว้ กลายเป็นชื่อเรียก “เจดีย์เทียนมู่” ซึ่งในภาษาเวียดนามเรียกว่า “เจดีย์ฟึกเซียน” ล้อมรอบสี่ทิศด้วยหอระฆัง หอเต่าแกะสลักจากหินอ่อนขนาดใหญ่จารึกคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้บนแผ่นศิลาที่ตั้งอยู่บนหลังของเต่าอีกที และหอจารึกบทกวีต่างๆ โดยเฉพาะบทกวีจากจักรพรรดิเชียวชี

    จากนั้นเดินผ่านซุ้มประตูที่มี 3 ช่อง แต่อนุญาตให้ใช้ช่องกลางแค่ช่องเดียว ด้านบนมีลักษณะเหมือนหอคอยทว่าประดิษฐานพระอวโลกิเตศวรหันพระพักตร์เข้าด้านในวัด ถัดมาเป็นวิหารหลังใหญ่ประดิษฐานพระพุทธรูป 3 องค์ สื่อถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต สามารถเข้าไปกราบสักการะได้ ผมกราบเสร็จออกมานั่งใส่รองเท้าผ้าใบตรงบันไดทางขึ้นซึ่งไม่สูงนัก คุณยายชาวเวียดนามท่านหนึ่งก้าวมาอย่างช้าๆ ระมัดระวัง อายุอานามคงเลยหลักแปดสิบไปแล้ว ท่านยื่นมือออกมาผมก็รีบลุกพยุงท่านให้เดินขึ้น พอเดินขึ้นไปได้ท่านก็ปล่อยมือ แล้วตรงไปยังหน้าพระพุทธรูป ชายหนุ่มที่น่าจะเป็นหลานเข้ามาขอบคุณผมแล้วรี่ไปหาคุณยาย เขาคงเดินชมนกชมไม้จนเผลอลืมไปว่ามีผู้สูงอายุมาด้วย

    ด้านข้างวิหารหลังนี้มีน้ำตกประดิษฐ์ สระปลาคาร์พ และสนามหญ้า จัดเป็นสวนสวยงาม เดินไปอีกหน่อยเป็นกลุ่มอาคารทำมุมเป็นสี่เหลี่ยม ตรงกลางเป็นลานตั้งกระถางบอนไซไว้หลายต้น ห้องหนึ่งในอาคารทางด้านซ้ายมือเป็นที่สนใจของผู้มาเยือนเป็นจำนวนมาก ห้องแคบๆ นี้จัดแสดงรถยนต์ออสตินสีฟ้า ภาพและประวัติของภิกษุสงฆ์ท่านหนึ่ง

    b8a2e0b899e0b8a1e0b8b9e0b988e0b981e0b8a5e0b8b0e0b881e0b8b2e0b8a3e0b895e0b988e0b8ade0b8aae0b8b9-5.jpg
    อีกหนึ่งมุมถ่ายรูปยอดนิยมในวัดเจดีย์เทียนมู่


    พุทธศาสนาในเวียดนามนั้นเจริญรุ่งเรืองแซงหน้าฮินดูของชนชาติจามที่ถูกขับลงไปทางใต้ บ้างหันไปนับถือศาสนาอิสลามและต้องเข้าไปอยู่ในดินแดนเขมร กระทั่งยุคที่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเข้ามา และฝรั่งเศสยึดเวียดนามเป็นอาณานิคม มีการจำกัดการประกอบพิธีในพุทธศาสนา แต่แล้วฝรั่งเศสก็ต้องถูกถีบกลับออกไปโดยเวียดมินห์ สหรัฐอเมริการับไม้ต่อพิทักษ์เวียดนามใต้ในนามของค่ายประชาธิปไตยเพื่อต้านคอมมิวนิสต์จากทิศเหนือ จักรพรรดิบ่าวได๋ ประมุขหุ่นเชิดแห่งเวียดนามใต้ ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของเวียดนามถูก “โงดิ่นเซียม” แย่งอำนาจผ่านการทำประชามติที่มีหลักฐานการโกงอย่างโจ๋งครึ่ม และกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของเวียดนามใต้

    โงดิ่นเซียมนั้นนับถือโรมันคาทอลิก มีนโยบายที่กดขี่และเลือกปฏิบัติกับชาวพุทธ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 70 ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของเวียดนามใต้ จนชาวพุทธจำนวนไม่น้อยต้องเปลี่ยนศาสนาไปเป็นคาทอลิก โดยที่ส่วนมากไม่มีความเต็มใจ

    ความคับข้องในหมู่ชาวพุทธทวีขึ้นเรื่อยๆ และเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนก็คือ ในปี ค.ศ.1963 รัฐบาลได้ออกคำสั่งห้ามประดับธงพุทธศาสนาที่เมืองเว้ในวันวิสาขบูชาที่กำลังจะมาถึง โดยไม่กี่วันก่อนหน้านั้นธงของวาติกันได้รับการประดับไปทั่วเพื่อฉลองให้กับอาร์คบิชอปแห่งเมืองเว้ อาร์คบิชอปท่านนี้มีชื่อว่า “โงดิ่นถึก” พี่ชายของโงดิ่นเซียมนั่นเอง

    b8a2e0b899e0b8a1e0b8b9e0b988e0b981e0b8a5e0b8b0e0b881e0b8b2e0b8a3e0b895e0b988e0b8ade0b8aae0b8b9-6.jpg
    รถยนต์ออสติน รุ่นเวสต์มินเตอร์ ด้านหลังคือภาพถ่ายโดยมัลคอล์ม บราวน์ ขณะภิกษุติชกวางดุ๊กเผาตัวเพื่อเรียกร้องความเสมอภาคให้กับพุทธศาสนา ด้านซ้ายเป็นภาพสาวกประคองหัวใจที่ไม่ไหม้ไฟของท่านดุ๊ก


    อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนิกชนได้รวมตัวกันในวันวิสาขบูชาเพื่อประท้วงและเดินขบวนถือธงที่สื่อถึงศาสนาพุทธไปยังสถานีวิทยุของรัฐบาล ปรากฏว่ามีกองกำลังกราดยิงเข้าใส่ผู้ประท้วง เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 9 คน ประธานาธิบดีโงดิ่นเซียมปฏิเสธความรับผิดชอบ อ้างว่าเป็นฝีมือของฝ่ายเวียดกง ทำให้การประท้วงเพื่อความเท่าเทียมทางศาสนาระอุขึ้นอีก และถี่กว่าเดิม

    เช้าวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ.1963 ขบวนผู้ประท้วงในกรุงไซง่อนประกอบด้วยพระสงฆ์และแม่ชีรวมกันหลายร้อยชีวิต ท่านติชกวางดุ๊ก เจ้าอาวาสแห่งวัดฟุคหัว กรุงไซง่อน นั่งมาในรถยนต์นำขบวน รถคันนี้คือออสตินรุ่นเวสต์มินเตอร์สีฟ้า ทะเบียน DBA 599 ภิกษุรูปหนึ่งได้ขอสละชีวิตแทน แต่ท่านติชกวางดุ๊กใช้ความอาวุโสสูงกว่ายับยั้งไว้

    เมื่อขบวนมาถึงสี่แยกใกล้ๆ ทำเนียบประธานาธิบดี และสถานทูตกัมพูชาประจำเวียดนามใต้ ท่านดุ๊กลงจากรถพร้อมกับพระสงฆ์อีก 2 รูป หนึ่งในนี้วางอาสนะลงบนพื้นถนน อีกรูปเปิดกระโปรงรถหยิบถังน้ำมันขนาด 5 แกลลอนออกมา คณะผู้ประท้วงทำวงกลมล้อมท่านดุ๊กไว้ที่เวลานี้นั่งขัดสมาธิอยู่บนอาสนะก่อนที่น้ำมันจะถูกราดลงบนศีรษะของท่าน ผู้ที่กำลังจะกระทำบูชายัญใช้นิ้วไล่ลูกประคำที่ละเม็ดพร้อมบริกรรมภาวนาถึงพระอมิตาภพุทธะ จากนั้นนำกลักไม้ขีดออกมาจุดไฟแล้วทิ้งลงสู่ร่างที่โชกด้วยน้ำมัน ชั่วเวลาเพียงกะพริบตาท่านดุ๊กก็อยู่ในกองเพลิง

    มีจดหมายที่ท่านได้เขียนทิ้งไว้ว่า “ก่อนจะปิดตาลงและก้าวไปพบพุทธะ ข้าพเข้าขออ้อนวอนต่อท่านประธานาธิบดีโงดิ่นเซียมด้วยความเคารพ โปรดให้ความเห็นใจประชาชนในชาติและปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความเสมอภาคทางศาสนาเพื่อความเข้มแข็งของมาตุภูมิของเราชั่วนิรันดร์ ข้าพเจ้าขอเรียกร้องไปยังผู้ที่นับถือพุทธด้วยความเลื่อมใสและสมาชิกคณะสงฆ์ให้สร้างความเป็นปึกแผ่นเพื่อเสียสละและปกป้องพุทธศาสนา”

    b8a2e0b899e0b8a1e0b8b9e0b988e0b981e0b8a5e0b8b0e0b881e0b8b2e0b8a3e0b895e0b988e0b8ade0b8aae0b8b9-7.jpg
    แม่น้ำหอมเมื่อยามตะวันใกล้จะตกดิน


    ภาพถ่ายท่านติชกวางดุ๊กในกองเพลิงโดย “มัลคอล์ม บราวน์” แห่งสำนักข่าวเอพีได้รับการเผยแพร่และดึงดูดความสนใจจากคนทั่วโลก “จอห์น เอฟ. เคนเนดี” ประธานาธิบดีสหรัฐในเวลานั้น (ถูกลอบสังหารในอีกไม่กี่เดือนต่อมา) กล่าวถึงภาพนี้ว่า “ไม่เคยมีภาพข่าวใดในประวัติศาสตร์ที่กระจายอารมณ์ความรู้สึกไปทั่วโลกได้เท่ากับภาพข่าวนี้” และภาพข่าวนี้เองที่ทำให้มัลคอล์ม บราวน์ ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ภาพข่าวยอดเยี่ยมในปีนั้น

    แม้แรงกดดันที่ถาโถมได้ทำให้ประธานาธิบดีโงดิ่นเซียมประกาศที่จะปฏิรูปด้านความเสมอภาคทางศาสนา แต่คำสัญญาก็ไม่ได้รับการปฏิบัติ เกิดการประท้วงขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง กองกำลังพิเศษที่ภักดีต่อ “โงดิ่นยู” น้องชายของโงดิ่นเซียมได้เริ่มปฏิบัติการกวาดล้างวัดพุทธทั่วเวียดนามใต้ รวมทั้งยึดหัวใจที่ไม่ไหม้ไฟของท่านติชกวางดุ๊ก (จากการปลงศพ) ทำให้พระสงฆ์อีกหลายรูปกระทำบูชายัญในแบบเดียวกับท่านดุ๊ก จนในที่สุดกองทัพก็ยึดอำนาจประธานาธิบดีโงดิ่นเซียมโดยมีสหรัฐหนุนหลัง และแล้วโงดิ่นเซียมก็ถูกลอบฆ่าในวันที่ 2 พฤศจิกายน ปีเดียวกันนั้น

    รถยนต์ออสตินถูกนำมาเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ในพื้นที่ของวัดเทียนมู่ เนื่องจากเป็นวัดแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญต่อชาวพุทธในเวียดนาม ผมถ่ายรูปอยู่ได้ไม่นานก็ต้องรีบถอยออกมา เพราะมีคนรอคิวถ่ายอีกมาก

    พื้นที่ของวัดเทียนมู่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยส่วนหน้าและหลังแคบ เลยส่วนกลุ่มอาคารที่ล้อมกันเป็นสี่เหลี่ยมนี้แล้วก็เป็นเขตสังฆาวาสทางด้านซ้ายมือ ด้านหน้ามีสนามปูกระเบื้อง เด็กๆ กำลังเตะฟุตบอลกันอยู่ นักเรียนศาสนาในชุดขาวที่ยังหนุ่ม 2 คนก็ร่วมโชว์ฝีเท้าด้วย ส่วนหลังสุดของวัดมีเจดีย์ขนาดเล็ก 6 ชั้นตั้งอยู่ กระถางธูปอยู่ด้านหน้า เจดีย์นี้สร้างถวายแด่ท่านติชดอนเฮา อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์เทียนมู่ เป็นพระสงฆ์อีกรูปหนึ่งที่อุทิศทั้งชีวิตเพื่อสังคมและพุทธศาสนา

    ผมเดินกลับลงไปยังริมแม่น้ำหอม จักรยานยังจอดอยู่ที่เดิม ถุงน้ำอ้อยก็ยังอยู่ มองไปยังโค้งน้ำเบื้องหน้าทางทิศตะวันตก พระอาทิตย์ใกล้จะตกดินในทิศทางนั้น.

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.thaipost.net/main/detail/46837
     

แชร์หน้านี้

Loading...