หาผู้รู้แปลเรื่องวิปัสสนาจากไทยเป็นภาษาจีนค่ะ

ในห้อง 'แปลธรรมะเป็นภาษาอื่นๆ' ตั้งกระทู้โดย leesansuk, 11 มิถุนายน 2016.

  1. leesansuk

    leesansuk เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 มกราคม 2010
    โพสต์:
    116
    ค่าพลัง:
    +332
    เรียนผู้รู้ที่มีความสามารถด้านแปลภาษาจีนพุทธศาสนา แปลเรื่อง วิปัสสนา จากไทยเป็นภาษาจีนค่ำ

    หากผู้ใดสามารถแปลได้รบกวนช่วยติดต่อกลับที่ dinfinity_bkk@hotmail.com
    กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ

    ------------------------------------------------------------------

    วิปัสสนา ง่ายนิดเดียว

    วิ แปลว่า พิเศษ
    ปัสสนา ” เห็น
    วิปัสสนา ” เห็นอย่างพิเศษ

    ที่ชื่อว่าเห็นอย่างพิเศษนั้นหมายถึงการเห็น ๔ ประการดังต่อไปนี้
    ๑. เห็นลักษณะเฉพาะ (ปัจจัตตลักษณะ)
    ๒. เห็นลักษณะทั่วไป (สามัญญลักษณะคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตต)
    ๓. เห็นอริยสัจ๔
    ๔. เห็นนิพพาน (เห็นอะไรที่นอกเหนือไปจาก๔อย่างนี้ไม่ชื่อว่าวิปัสสนา)

    คำว่า “ลักษณะเฉพาะ” หมายถึง ลักษณะเฉพาะของนานาความรู้สึกสามัญ ที่เรามีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เช่นความรู้สึกหิว เจ็บ ปวด เมื่อย คัน แสบ เหน็บชา โกรธ โลภ อิจฉา ริษยา ศรัทธา เมตตา กรุณา อุเบกขา เบื่อ เหงา เศร้า โศรก ฟุ้งซ่าน ง่วงนอน ฯลฯ โดยปกติมนุษย์มีความรู้สึกตามธรรมชาติหลากหลายชนิดอยู่แล้ว ไม่ต้องสร้างไม่ต้องทำอะไร ก็มีเองโดยธรรมชาติ ซึ่งความรู้สึกมากมายหลายหลากชนิดเหล่านั้น ถ้าสังเกตดูให้ดีก็จะพบว่า

    หนึ่งความรู้สึกจะมีหนึ่งลักษณะเฉพาะ
    ย้ำอีกครั้งว่า
    หนึ่งความรู้สึกจะมีหนึ่งลักษณะเฉพาะ

    เช่น โกรธ มีลักษณะร้อน เผา ดุ
    เมตตา มีลักษณะเย็น อ่อน โยน
    ฟุ้งซ่าน มีลักษณะกระสับกระส่าย
    ง่วงนอน มีลักษณะริบหรี่ๆ
    เหงา มีลักษณะอย่างเหงา
    เบื่อ มีลักษณะอย่างเบื่อ
    เจ็บ มีลักษณะอย่างเจ็บ
    ปวด มีลักษณะอย่างปวด
    แสบ มีลักษณะอย่างแสบ
    คัน มีลักษณะอย่างคัน
    เหน็บชา มีลักษณะอย่างเห็บชา เป็นต้น
    ลักษณะเฉพาะนี้ภาษาบาลีเรียกว่า ปัจจัตตลักษณะ(ลักษณะเฉพาะ) หรือบางทีก็เรียกว่าปรมัตถลักษณะ(ลักษณะที่เป็นจริง) หรือบางทีก็เรียกว่าวิเสสลักษณะ (ลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนกัน ) วิปัสสนาที่แปลว่าเห็นอย่างพิเศษนั้น หมายถึงการเห็น หรือดู(เห็นหรือดูด้วยตาใจไม่ใช่ตาเนื้อ) หรือกำหนดรู้หรือระลึกรู้ไปที่ลักษณะเฉพาะต่างๆเหล่านี้
    กล่าวคือ ณ วาระที่ความรู้สึกใดๆเกิดขึ้นเป็นปัจจุบันอารมณ์อยู่เฉพาะหน้า วาระนั้นพึงมีสติระลึกรู้ กำหนดรู้ ดู เห็น ไปที่ปัจจัตลักษณะของความรู้สึกนั้นๆอันกำลังปรากฏอยู่เฉพาะหน้า เช่น
    ถ้าตอนนี้ โทสะเกิดขึ้น ก็ระลึกรู้หรือดูไปที่ลักษณะ ร้อน เผา ดุ
    ถ้าตอนนี้ เมตตาเกิดขึ้น ก็ระลึกรู้หรือดูไปที่ลักษณะ เย็น อ่อน โยน
    ถ้าตอนนี้ ง่วงนอนเกิดขึ้น ก็ระลึกรู้หรือดูไปที่ลักษณะ ริบหรี่ๆ
    ถ้าตอนนี้ เหน็บชาเกิดขึ้น ก็ระลึกรู้หรือดูไปที่ลักษณะ เหน็บชา
    ถ้าตอนนี้ ปวดเกิดขึ้น ก็ระลึกรู้หรือดูไปที่ลักษณะ ปวด
    ถ้าตอนนี้ เจ็บ เหน็บชา คัน แสบ หิว หนาว (เย็น) ร้อน เหงา เบื่อ เสียใจ ดีใจ ฯลฯ ทุกความรู้สึกที่มีในชีวิต อะไรก็ตาม เกิดขึ้นเฉพาะหน้าก็ระลึกรู้หรือดูไปที่ความรู้สึกนั้นๆ ทุกความรู้สึก ทุกทวาร ทุกอารมณ์(หรือแม้แต่นามธรรมพิเศษเช่นสมาธิดิ่ง ปิติ สุข แสงสว่าง คันยุกๆยิกๆตามผิว ขนลุก ฯลฯ อันเป็นไซด์เอฟเฟคของสมาธิซึ่งมักเกิดขึ้นในระหว่างนั่งสมาธิ ก็ล้วนมีลักษณะเฉพาะประจำตัวของนามธรรมที่เป็นไซด์เอฟเฟ็คนั้นๆเช่นกัน พึงกำหนดรู้ทุกลักษณะตามลำดับที่เกิดขึ้นจริง ข้อที่สำคัญก็คือ ต้องเป็นความรู้สึกในปัจจุบันขณะที่กำลังเกิดอยู่เฉพาะหน้าเดี๋ยวนี้

    ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าจะตรัสเรียก นานาความรู้สึกที่แต่ละความรู้สึกมีลักษณะเฉพาะตนเหล่านี้ว่า “ธรรม” หรือ “ธรรมะ” หรือ “ธรรมทั้งหลาย” เช่น
    “ธรรมชาติใด ย่อมทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน ฉะนั้นธรรมชาตินั้นชื่อว่า ธรรมะ”
    “ที่ชื่อว่า ธรรม เพราะอรรถว่าทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน”
    “บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมที่เป็นปัจจุบันไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ บุคคลนั้นควรเจริญการเห็นธรรมนั้นๆให้แจ่มแจ้ง ควรทำความเพียรตั้งแต่วันนี้ทีเดียว ใครเล่าจะรู้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้ เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนามากนั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบเรียกบุคคลผู้มีปกติทำความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ”

    “ เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณผู้มีความเพียร เพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไปเพราะมารู้ ธรรม พร้อมทั้งเหตุ ” (คำว่าธรรมทั้งหลายหมายถึงปรมัตถลักษณะทั้งหลาย ส่วนคำว่าเหตุหมายถึงสมุทัยคือตัณหา)

    “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ ในธรรม๒ อย่าง ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน ธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือนาม และ รูป ”(อํ. ปฐม. ๒๔/๒๗/๔๗) (วิปัสสนากรรมฐานนี้ถ้าปฏิบัติไปให้ถึงระดับคุณภาพแล้ว จะเกิดการเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดก็หลุดพ้น)

    ดังนั้นคำว่า
    - นานาความรู้สึกทั้งหลาย ๑
    - ปรมัตถลักษณะทั้งหลาย ๑
    - ธรรมทั้งหลาย ๑
    - รูป นาม ทั้งหลาย ๑

    คำเหล่านี้มีความหมายเป็นอันเดียวกัน เป็นไวพจน์ซึ่งกันและกัน ใช้แทนกันได้ ถ้ามีการกล่าวถึงคำใดคำหนึ่งขอให้ถือว่า คำที่เหลือได้ถูกกล่าถึงด้วย และจากนี้ไปลักษณะเฉพาะของแต่ละความรู้สึกตามนัยที่กล่าวมานี้ จะถูกเรียกว่า

    ปรมัตถลักษณะ แปลว่า ประเสริฐโดยลักษณะ
    หรือเรียกว่า
    ปรมัตถธรรม แปลว่า ทรงไว้ซึ่งลักษณะที่ประเสริฐ

    เนื่องจากคนเรามีทวารอันเป็นที่เกิดของปรมัตถธรรมอยู่ ๖ ทวารด้วยกัน คือ
    ตา เป็นที่เกิดของ วรรณรูป (แสงสี)
    หู ” สัททรูป (เสียง)
    จมูก ” คันธารูป (กลิ่น)
    ลิ้น ” รสารูป (รส)
    กาย ” โผฏฐัพพรูป (สัมผัส)
    ใจ ” ธรรมารมณ์ (คิดนึก )

    แต่ละทวารจะมีศักยภาพในการรับรู้อารมณ์แตกต่างกัน เช่น ทางตารับรู้แสงสีได้แต่รับรู้ เสียง กลิ่น รส โกรธ โลภ ดีใจ เสียใจ ฯลฯไม่ได้ แม้ว่าเวลาร้องไห้ น้ำจะไหลออกตาแต่ความเสียใจก็ไม่ได้เกิดที่ตา หรือแม้เวลาง่วง ตาจะหลับแต่ความหลับก็มิได้เกิดที่ตา หากแต่เกิดที่ใจ เป็นต้น ฉะนั้นเราจะมาเรียนรู้กันว่า ใน ๖ ทวารนี้ มีปรมัตถลักษณะชนิดใด เกิดที่ทวารไหนบ้าง เพื่อนำทางข้าไปสู่ความเข้าใจในชั้นของการปฏิบัติอย่างแท้จริง โดยจะขอเริ่มจากทวารกายก่อน

    ทวารกาย
    ทางกายมีปรมัตถลักษณะเกิดขึ้นได้ ๗ ลักษณะคือ
    - เย็น กับ ร้อน หมายถึงลักษณะเฉพาะของความรู้สึกเย็นกับร้อน ไม่ใช่ชื่อที่ใช้เรียกว่าเย็นหรือร้อนโปรดแยกลักษณะปรมัตถ์ออกจากชื่อที่ใช้เรียก เพราะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ซึ่งในเวลาปฏิบัตินั้นสติสัมปชัญญะจะ ระลึกรู้ กำหนดรู้ ดู เห็น ไปที่ปรมัตถลักษณะแต่ละลักษณะ ผู้เจริญวิปัสสนาย่อมอยู่ในโลกด้วยอรรถทั้งสองคือ ปรมัตถลักษณะก็รู้ ชื่อหรือสมมติบัญญัติที่ใช้เรียกปรมัตถ์นั้นก็รู้ ส่วนผู้ไม่เจริญวิปัสสนาย่อมอยู่ในโลกด้วยอรรถเดียว คือรู้ชื่อและสมมติบัญญัติต่างๆ แต่ไม่รู้ปรมัตถลักษณะ เย็นกับร้อนนี้เป็น “เตโชธาตุ” ผู้ใดประสงค์จะกำหนดรู้ธาตุไฟพึงกำหนดรู้ที่ลักษณะเย็นกับร้อนนี้แหละ ยามเมื่อเขาปรากฏขึ้นที่ผิวกาย บาลีเรียกว่า “ลักขณะเตโช” (หรือ “เตโชโผฏฐัพพารมณ์” ก็เรียก)
    - อ่อน กับ แข็ง ก็โดยนัยเดียวกัน เปลี่ยนแต่ชื่อตอนท้ายว่าเป็น “ปฐวีธาตุ” ซึ่งเรียกในภาษาบาลีว่า “ลักขณะปฐวี” หรือ “ปฐวีโผฏฐัพพารมณ์”
    - ตึง กับ ไหว ก็โดยนัยเดียวกัน เปลี่ยนแต่ชื่อตอนท้ายว่า “วาโยธาตุ” ซึ่งเรียกในภาษาบาลีว่า “ลักขณะวาโย” หรือ “วาโยโผฏฐัพพารมณ์”(โปรดสังเกตว่าไม่มีการกล่าวถึง “อาโปธาตุ” หรือธาตุน้ำเพราะเป็นปรมัตถ์ที่ละเอียดอ่อนจนไม่สามารถเห็นได้ด้วยวิปัสสนาระดับสามัญชน ต้องเป็นปัญญาระดับพระพุทธเจ้าหรือพระสารีบุตรจึงจะเห็นได้)
    - ความรู้สึก... สุข ทุกข์ เจ็บ ปวด เมื่อย คัน แสบ เหน็บชา สบายกาย ไม่สบายกาย ฯลฯ ซึ่งเกิดขึ้นที่ทวารกาย ภาษาบาลีเรียกว่า “เวทนา”

    เวลาปฏิบัติก็เพียงแต่ระลึกรู้ กำหนดรู้ รู้ ดู เห็น ไปที่ลักษณะเฉพาะของนานาความรู้สึกเหล่านี้

    ถามว่า ปฏิบัติเวลาไหน
    ตอบว่า ทุกเวลา ทุกปัจจุบันขณะ ทุกอากัปกริยา จะนั่งสมาธิหรือไม่นั่งก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการปฏิบัติทั้งนั้น (ยกเว้นตอนหลับที่ปฏิบัติไม่ได้)

    ในการรู้นี้ ขอให้รู้ทุกปโยคะ คำว่า “ปโยคะ” ในที่นี้หมายถึงความเคลื่อนไหวกาย โดยที่ไม่ว่าอวัยวะใดๆก็ตามตั้งแต่ศรีษะจรดปลายเท้าของเรา เกิดการขยับเคลื่อนไหว นับแต่เริ่มเคลื่อนไปจนถึงหยุด จะนับเป็นหนึ่งปโยคะ เช่นถ้าตอนนี้เรากระพริบตาหนึ่งกระพริบก็นับหนึ่ง ปโยคะ ถ้าเราเหลียวหน้าไปทางซ้ายนับแต่เริ่มเหลียวไปจนหยุดก็นับหนึ่งปโยคะ ถ้าเราเหลียวหน้ากลับมาตั้งตรงแล้วหยุดก็นับหนึ่งปโยคะ ถ้าเราเหลียวไปทางขวาก็โดยนัยเดียวกันเป็นต้น โดยปกติคนเราย่อมไม่สามารถเคลื่อนไหวทุกๆอวัยวะของร่างกายพร้อมกันในเวลาเดียว กรณีนี้ขอให้รู้แต่ละปโยคะตามลำดับเกิด
    ดังนั้นสติพึงระลึกรู้ตามลำดับที่เกิดเฉพาะหน้าและรู้ต่อเนื่องไปทุกประโยคะ อาจจะมีเผลอบ้างไม่รู้บ้างก็ไม่เป็นไร รู้สึกตัวเมื่อไหร่ก็ให้เริ่มต้นรู้ใหม่ ที่สำคัญขอให้รู้ให้โดนปรมัตถลักษณะด้วย และเห็นตามความเป็นจริงว่าแต่ละปรมัตถลักษณะนั้นมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนกันอย่างไร เผลอบ้างก็ช่างเถอะดีกว่าไม่รู้เลย เพราะคนที่รู้ทุกขณะไม่เผลอเลยก็มีแต่พระอรหันต์เท่านั้น จงหมั่นรู้ให้เป็นนิสสัยนานๆเข้าก็จะชำนาน เผลอน้อย รู้โดยมากไปเอง หัวใจสำคัญที่สุดคือรู้จนเป็นนิสสัย ภาษาคัมภีร์ใช้คำว่ามีปกติเห็น(กายในกาย) คือเห็นการเคลื่อนไหวกายทุกปโยคะจนเป็นปกติในชีวิตประจำวัน (แต่ถ้าเมื่อใดมีเวลาว่างก็ควรไปเข้าคอร์สปฏิบัติบ้าง ๓วัน ๗วัน ยิ่งถ้า ๗ เดือน ๗ ปี ก็ยิ่งดี มีโอกาสถึงมรรคผลในชาตินี้ทีเดียว)
    นอกจากนี้ แต่ละปโยคะอาจจะปรากฏ(Show)ปรมัตถลักษณะต่างๆกันไป บางปโยคะอาจปรากฏไหวลักษณะเช่นเวลาที่เราแกว่งแขน บางปโยคะปรากฏตึงลักษณะ เช่น ในเวลากำมือ(จะตึงที่หลังมือ) ก็แลในกำมือเดียวกันนั้นเอง บริเวณที่เล็บกระทบฝ่ามือก็ปรากฏแข็งลักษณะ ถ้ากดเล็บแรงหน่อยก็เจ็บลักษณะ และแม้แข็งกับเจ็บจะเกิดในพื้นที่เดียวกันแต่สภาวะก็ต่างลักษณะกัน เพราะฉะนั้นในด้านพื้นที่อาจมีการทับซ้อน แต่ในด้านสภาวะจะไม่มีการทับซ้อนกันได้เลย จะประกาศเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันเสมอ (คำว่าปัจจัตตลักษณะเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า “ปัจจัตตสภาวะ” แปลว่า สภาวะเฉพาะตน) บางปโยคะอาจจะเย็นเช่นหยิบจับแก้วน้ำแข็ง บางปโยคะอาจจะร้อนเช่นหยิบจับตะหลิวทำกับข้าว แค่รู้ลงไปก็เป็นวิปัสสนาแล้ว รู้ทีละขณะทีละปโยคะ ปโยคะใดเกิดเดี๋ยวนี้ก็รู้เดี๋ยวนี้ โปรดสังเกตว่าจะใช้คำว่าเดี๋ยวนี้ เพราะในโลกของปรมัตถธรรมจะมีแต่ปัจจุบันปรมัตถ์เท่านั้น ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต

    ท่านนับความเป็นปัจจุบันปรมัตถ์ธรรมกันที่ขณะทั้งสาม ที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้าคือ
    ขณะเกิดขึ้น (อุปาทขณะ)
    ขณะตั้งอยู่ (ฐีติขณณะ)
    ขณะดับไป (ภังคะขณะ)
    ตัวอย่างเช่น การดีดนิ้วครั้งหนึ่ง จะมีต้นเสียง กลางเสียง ปลายเสียง หรือพูดคำว่า “พุทธ” คำหนึ่ง “โธ” คำหนึ่ง แต่ละคำจะมีการ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ทุกเม็ดคำทั้งสามขณะเมื่อกำลังปรากฏอยู่ชื่อว่า ปัจจุบันธรรม ก่อนหรือหลังขณะทั้งสามไม่นับเป็นปัจจุบัน
    บางท่านอาจจะแย้งว่า ทำไมอดีต อนาคต จะไม่มี ถ้าเรานึกถึงเมื่อวานนี้ว่าไปทำอะไรมา ก็เป็นอดีตที่มีจริงแล้วหรือนึกถึงอนาคตว่าพรุ่งนี้จะไปทำอะไร อนาคตก็มีแล้ว จะบอกว่าไม่มีอดีตอนาคตได้อย่างไร
    ตอบว่า ทันทีที่นึก ก็เป็นปัจจุบันธรรมทางมโทวารทันที และเป็นปัจจุบันทุกที ณ ขณะที่นึก ดังนั้นจึงไม่เคยมีปรมัตถ์ธรรมใดผุดขึ้นในวาระอื่นใดที่ไม่ใช่ปัจจุบันวาระทั้ง ๓ (อุปาทะ ฐีติ ภังคะ)นี้ ทุกๆปรมัตถ์ย่อมไม่มีอยู่ก่อนแต่ที่เขาจะเกิดขึ้นครั้นเกิดขี้นแล้วก็ดับไปไม่ดำรงอยู่ในสถานะใดๆใน๓๑ภูมิ ผู้ใดไม่ระลึกรู้หรือไม่กำหนดรู้ ณ ปัจจุบันวาระ ก็จะไม่สามารถตามระลึกรู้ได้อีกเลยตลอดสังสารวัฏฏ์
    คำว่า “ปรากฏ” นั้นหมายถึงมันได้มีขึ้นจากสภาพที่ไม่มี เช่นถ้ามีใครปรบมือขึ้นเดี๋ยวนี้ เสียงก็ดังขึ้นจากสภาพที่ไม่มีเสียง รวมทั้งฝ่ามือที่กระทบกันก็จะรู้สึกแข็งหรืออ่อนนุ่มเมื่อกระทบซึ่งเป็นปรมัตถ์ที่ผุดขึ้นที่ฝ่ามือ จากที่เมื่อก่อนหน้านี้มิได้มีอยู่ที่ฝ่ามือมาแต่ก่อน ขอย้ำว่า คำว่าปรากฏนี้ย่อมหมายเอาการปรากฏของขณะทั้งสามคือ อุปทะ(ขณะเกิดขึ้น) ฐีติ (ขณะตั้งอยู่) ภังคะ(ขณะดับไป) ของปรมัตถ์นั้นๆ (ขณะทั้งสามนี้มีสองนัย อีกนัยหนึ่งเป็นนัยอภิธรรมท่านกล่าวไว้ว่า ดีดนิ้วครั้งเดียว เสียงจะเกิดดับไปแล้วแสนโกฏขณะ ซึ่งจะไม่นำมากล่าวในที่นี้เพราะไม่เอื้อต่อการปฏิบัติ)

    แบบฝึกหัดง่ายๆ
    ตอนนี้ขอให้ท่านยกมือขึ้นเกาศรีษะ นับแต่ยกมือจนปลายเล็บจรดผมและหนังศรีษะ และเริ่มขยับเกา ปโยคะเกิดขึ้นมากมาย อาจจะไม่ต้องนับว่ากี่ปโยคะ แต่ควรรู้ทุกปโยคะ และดูด้วยว่ามีปรมัตถลักษณะใดเกิดขึ้นบ้าง เช่น ขณะยกมือก็ไหวปรากฏ มือถูกเส้นผม ผมร้อนหรือเย็น ผมอ่อนนุ่มหรือแข็ง ตอนแรกอาจมีลักษณะคันปรากฏที่หนังศรีษะ แต่เมื่อเกาไปๆลักษณะคันที่แตกต่างจากตอนแรกก็ปรากฏแทน (อาการคันที่ยังไม่ได้เกากับอาการคันที่กำลังถูกเกา ย่อมมีลักษณะที่แตกต่างกัน) และถ้าเกาแรงๆขึ้นก็ปรากฏลักษณะเจ็บแสบหนังศรีษะขึ้นมาอีก ทุกลักษณะที่ปรากฏ นับตั้งแต่แรกยกมือไปจนถึงเกาเสร็จแล้วนั้น ไม่พ้นไปจากการเห็นของวิปัสสนาทุกขณะ
    ถ้าเราขยับตัว ถ้าเราปัดกวาดเช็ดถู ถ้าเราใส่เสื้อผ้า ถ้าเราใส่รองเท้า ถ้าเราก้มเงย ถ้าเรากระพริบตา กลืนน้ำลาย เหลียวซ้ายแลขวา ถ้าเรายิ้ม ถ้าเราสารพัด ก็โดยนัยเดียวกัน คือรู้ทุกปโยคะ และ รู้โดนปรมัตถลักษณะในทุกปโยคะ อย่างในกรณีที่เรายิ้มมากเป็นพิเศษ (ยิ้มแบบถูกลอตเตอรี่ลางวัลที่๑)
    ถามว่า จะมีปรมตถลักษณะใดเกิดขึ้นที่พวงแก้ม
    ตอบว่า ตึงลักษณะ แค่ระลึกรู้ลงไปก็ได้บุญแล้ว (ในชีวิตนี้เคยเอายิ้มทำบุญไหม)
    และทวารทางใจเกิดปีติโสมนัสที่ได้ลาภก็กำหนดรู้ความปีติด้วย แต่ถ้ามีใครมาว่าเราว่า “อียายคนนี้หน้าตึง” ถามว่าจะมีลักษณะเฉพาะของตึงปรมัตถ์ เกิดที่หน้าได้หรือไม่ คำว่า “หน้าตึง” นั้นเป็นสำนวนแปลว่าหน้างอ หน้าบอกบุญไม่รับ อย่างนี้วิปัสสนาต้องดูลักษณะขุ่นมัวที่ใจ ไม่ใช่ดูที่หน้า

    ทวารใจ
    ๑. อันดับแรกในเวลาที่เราคิดนึกทางใจ เราจะคิดเป็นมโนภาพ มโนภาพ มีลักษณะเป็นเพียงแค่ “มโนภาพ” บาลีเรียกว่า “ธรรมมารมณ์” แปลว่าอารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโนทวาร ซึ่งที่ทวารนี้จะเป็นแหล่งผลิตภาพจำนวนมากต่อวัน ภาพเหล่านั้นมีปรมัตถลักษณะต่างจาก สี เสียง กลิ่น รส เย็นร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ทุกภาพที่เกิดในใจ ล้วนมีสถานะเป็นธรรมารมณ์ คืออารมณ์ที่ปรากฏทางใจไม่ปรากฏทางทวารอื่น (คำว่าอารมณ์หมายถึงสิ่งที่รับรู้ได้ด้วยทวาร๖ โดยมากนิยมแบ่งอารมณ์ออกเป็นสองประเภทคือ ปัญจารมณ์ ได้แก่ สี เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ได้แก่ความรู้สึกนึกคิด ซึ่งจะได้ลงรายละเอียดต่อไป) โดยสถานะแล้วมโนภาพเป็นแค่อารมณ์ชนิดหนึ่ง แต่มีกิเลศที่ชื่อว่า “สักกายทิฏฐิกิเลศ” คอยเสี้ยมให้เราเห็นผิดว่ามโนภาพเป็นสัตว์ บุคคลตัวตน เรา เขา

    สักกายะ แปลว่า ตัวตนสัตว์บุคลล
    ทิฏฐิ ” ความเห็นผิด
    แปลรวมว่า เห็นผิดว่าเป็นสัตว์บุคลล

    โดยปกติของปุถุชนทั่วไป เวลาคิดถึงภาพไหนก็สำคัญว่าภาพนั้นเป็นสิ่งนั้น เช่นคิดถึงภาพช้างความคิดกลายเป็นช้าง คิดถึงภาพเสือความคิดกลายเป็นเสือ คิดถึงเพื่อนความคิดกลายเป็นเพื่อน คิดถึงศรัตตรูความคิดกลายเป็นศรัตรู คิดถึงผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก ภูเขา ตันไม้ ทะเล ความคิดก็เป็นสิ่งนั้นๆไปทันที ด้วยอำนาจของสักกายทิฏฐิ ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นแต่เพียงธรรมารมณ์(อารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโนทวาร) กระทบใจ
    จะขอยกอุทาหรณ์จากนิทานอีสบมาเปรียบเทียบสักเรื่องหนึ่ง ในนิทานเล่าว่า มีสุนัขตัวหนึ่งไปขโมยที่ตลาด คาบก้อนเนื้อแล้ววิ่งมาทางลำคลองเล็กๆสายหนึ่ง ขณะเดินข้ามสะพานพลันสายตาก็เห็นสุนัขอีกตัวหนึ่งอยู่ในน้ำคาบก้อนเนื้อชิ้นใหญ่กว่า จึงเกิดความโลภอยากจะแย่งเนื้อจากปากสุนัขตัวนั้น ด้วยยุทธวิธีของหมาก็จึงคำรามและอ้าปากเห่า เนื้อในปากของมันจึงตกน้ำไป เสียเนื้อฟรีๆไปก้อนหนึ่ง ในนิทานอีสบสรุปว่าสุนัขตัวนี้เสียนื้อไปเพราะความโลภ แต่อันที่จริงควรจะสรุปใหม่ว่าสุนุขตัวนี้เสียเนื้อไปเพราะความโง่เขลา คือโง่ที่หาค่าที่เป็นจริงของอารมณ์ไม่ได้ว่ามันเป็นเพียงแค่เงาในน้ำไม่ใช่สุนัขอีกตัวหนึ่ง ถามว่าถ้าเป็นมนุษย์เราเดินข้ามสะพานแล้วมองลงไปในน้ำเช่นนั้น เราจะทะเลาะกับเงาในน้ำไหม ตอบว่าเราไม่โง่เขลาอย่างสุนัขจะได้ไปทะเลาะกับเงาในน้ำ แต่.... แต่ว่าเราก็โง่ละเอียดกว่าสุนัข เพราะเราก็ทะเลาะกับเงาในใจทุกวันเลย ลองดูด้วยมุมมองใหม่คือมองดูด้วยวิปัสสนา ดูทีรึว่าภาพทุกภาพในใจล้วนเป็นเพียง มโนภาพ คือ “ธรรมารมณ์” (อารมณ์ที่เกิดทางมโนทวาร) หรือเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา กันแน่ สักว่าเป็นอารมณ์ทางมโนทวาร หรือว่าเป็นสัตว์บุคคล ขอให้ดูด้วยวิปัสสนาก็จะแจ้งแก่ใจตนเอง
    ในน้ำนั้น บางครั้งดูเหมือนมีดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ในน้ำ มีปุยเมฆในน้ำ มีนกบินในน้ำ หรืออะไรก็ได้นับไม่ถ้วนในน้ำ แต่ทั้งร้อย พัน หมื่นภาพในน้ำนั้น มีค่าที่เป็นจริงทางอารมณ์หนึ่งเดียวคือความเป็นเงาเท่านั้น อย่างนี้ฉันใด แสน โกฏิ ล้าน ภาพในใจก็มีค่าที่เป็นจริงหนึ่งเดียวโดยความเป็นธรรมารณ์ฉันนั้นเหมือนกัน

    ๒. อันดับที่สอง นอกจากคิดเป็นภาพแล้วคนเราจะคิดเป็นคำๆ เรียกว่า “มโนพจน์” ลองสังเกตดูให้ดีว่า วันๆหนึ่งเราคิดคำอะไรบ้าง ถ้อยคำเหล่านั้นเขย่าหัวใจหรือบีบคั้นเรามากน้อยเพียงใด ซึ่งถ้อยคำทุกถ้อยคำล้วนสามารถก่อเรื่องราวและความเป็นสัตว์ บุคลล ตัวตน เรา เขาได้โดยไม่เป็นรองมโนภาพเลยทีเดียว ซึ่งเมื่อว่าโดยค่าที่เป็นจริงของอารมณ์แล้วก็เป็นเพียงธรรมารมณ์อีกชนิดหนึ่ง ผุดขึ้นที่ใจหรือกระทบใจอยู่ตลอดเวลา แต่สักกายทิฏฐิกิเลศ (ของผู้ไม่รู้วิปัสสนา) จะเห็นทุกเม็ดคำที่ผุดในใจว่าเป็นสัตว์บุคคล เรื่องราว ตัวตน เรา เขา ขอให้เราลองดูใหม่ด้วยวิปัสสนาให้แน่ชัดว่าซิว่า เป็นสัตว์ บุคลล เรา เขา หรือ เป็นอะไรกันแน่ หรือเป็นแค่ มโนพจน์ปรากฏทางใจ ไม่ปรากฏทางทวารอื่น
    ข้อที่ควรระวังตั้งสติให้ดีก็คือ เมื่อภาพกับคำมาเชื่อมต่อเรียงร้อยเข้าด้วยกัน ภาพสลับคำ คำสลับภาพ สลับกันไปมาแบบต่อเชื่อมสัมพันธ์กันนั้น โลกแห่งตัวละคร เรื่องราว สัตว์ บุคคล ก็จะโลดแล่นไปในใจราวกับมหากาพย์ ที่เล่นหรือแสดงไม่มีวันหยุด (ซึ่งปุถุชนที่ไม่รู้จักวิปัสสนาจะอยู่ในโลกของมหากาพย์นี้ ติดอยู่ในคุกมหากาพย์นี้ ออกจากคุกนี้ไม่ได้มาเป็นเวลาแสนๆโกฏิล้านกัปป์กัลป์
    มีนิทานอยู่เรื่องหนึ่ง เล่าถึงม้าตัวหนึ่ง ที่เจ้านายหาหญ้าให้กินด้วยหญ้าเขียวสดเสมอๆ อยู่ต่อมาเขาขี่ม้าไปธุระในถิ่นที่หาหญ้าเขียวสดไม่ได้ จึงนำหญ้าแห้งที่พอจะหาได้มาให้ม้ากิน ม้าเมินหน้าไม่ยอมกินหญ้าแห้ง หลายวันเข้าม้าก็ผอม เจ้าของม้าคิดแก้ปัญหาไคร่ครวญอยู่พักใหญ่ก็เกิดปัญญา ได้นำเอาแว่นตาสีเขียวมาสวมใส่ให้ม้า ม้าจึงเห็นหญ้าทุกอย่างในโลกเป็นสีเขียวไปหมดและยอมกินหญ้าแห้งอย่างพออกพอใจ
    ฉันใดก็ฉันนั้น “สักกายทิฏฐิกิเลศ” เหมือน แว่นสีเขียว
    ปุถุชน เหมือน ม้า มองทุกอย่างเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นเรื่องเป็นราวไปหมด

    สรุป
    - สักกายทิฏฐิ ทำหน้าที่ เห็นมโนภาพเป็นสัตว์บุคคลเราเขา
    ” ” เห็นมโนพจน์ ”
    ” ” เห็นโทสะ โลภะ ฯลฯ ”
    ” ” เห็นบัญญัติธรรม ”

    ต่อไปนี้เป็นแบบฝึกหัด

    ก. รองสังเกตดูว่า ถ้อยคำในใจกับภาพในใจ เป็นอันเดียวกันหรือคนละอันกัน
    ข. ระหว่างภาพและคำที่เรียงต่อกันในความคิดนั้น แต่ละภาพแต่ละคำเชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกันเหมือนเส้นหมี่ หรือมาเรียงต่อกันเหมือนลูกประคำในพวง (ลูกประคำแต่ละลูกเป็นอิสระจากกันและกัน)
    ค. ภาพต่างๆที่ผุดขึ้นในความคิดนั้น ระหว่างภาพต่อภาพถ้าเป็นหลายๆภาพมาต่อกัน จะเชื่อมต่อเป็นเนื่อเดียวกันเหมือนเส้นหมี่ หรือแค่มาเรียงต่อกันเหมือนลูกประคำในพวง
    ง. ถ้อยคำต่างๆที่ผุดขึ้นในความคิดนั้น ระหว่างคำต่อคำมาเชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกันเหมือนเส้นหมี่หรือแค่มาเรียงต่อกันเหมือนลูกประคำในพวง
    จ. หรือไม่เป็นทั้งแบบเส้นหมี่หรือลูกปะคำแต่เป็นแบบว่า เกิดทีละหนึ่ง คือ มโนภาพหรือมโนพจน์ก็ตามเกิดได้ทีละหนึ่งภาพ/คำ เมื่อเกิดขึ้นและดับไปแล้ว ภาพ/คำอื่นจึงจะเกิดขึ้นและดับไปอีก เกิดดับอยู่เช่นนี้ไม่ขาดสายจนกว่าจะหลับจึงจะยุติ ครั้นตื่นขึ้นมาเมื่อไหล่ กระบวนการนี้ก็จะดำเนินต่อไปเช่นเดิม เป็นเช่นนี้อยู่ทุกวี่ทุกวัน (วิปัสสนาคุณภาพจะเห็นภาพ/คำเกิดดับทางมโนทวารต่อเนื่องไม่ขาดสายตลอดทั้งวัน)

    ๓. อันดับที่สาม นานาความรู้สึก ที่เกิดพร้อมภาพและคำ เช่น ภาพบางภาพผุดขึ้นรู้สึกโกรธ ภาพบางภาพผุดขึ้นรู้สึกโลภะตัณหา บางภาพรู้สึกอิจฉา บางภาพรู้สึกกลัว บางภาพเบื่อ บางภาพฟุ้ง บางภาพร้องไห้เลย ฯลฯ ในส่วนที่เป็นถ้อยคำก็โดยนัยดียวกัน

    ๔. อันดับที่สี่ บัญญัติธรรม (ชื่อ สมมติบัญญัติ ความหมายต่างๆ) ซึ่งมีลักษณะผุดความหมายขึ้นในใจ กิริยาผุดความหมาย อาการผุดความหมายทางใจ คือบัญญัติธรรม ถ้าเราถูกด่าด้วยภาษา ปาปัวนิวกินี อูกานดา โซมาเรีย จะมีแต่ปรมัตถ์เสียงล้วนๆกระทบที่หู การรู้ความหมายไม่ผุดที่ใจ แต่ถ้าเราถูกด่าด้วยภาษาไทยจะมีทั้งปรมัตถ์เสียงเกิดที่หู และการรู้ความหมายที่ผุดทางใจ

    ความหมายที่ผุดทางใจนั้นเป็นบัญญัตติธรรม
    แต่สักกายทิฏฐิกิเลศ จะคอยทำหน้าที่เห็นบัญญัติธรรมที่ผุดขึ้นเป็นสัตว์ บุคคล

    ต่อไปนี้คอยสังเกตการรู้ความหมายที่ผุดขึ้นทางใจชนิดคำต่อคำ สมมติว่ามีคนมาเล่าให้ฟังว่า “สมเด็จพระนเรศวรเมื่อชนะศึกยุทธหัตถีแล้วไม่นานก็ทรงยกทัพไปตีหงสาวดีเมืองหลวงของพม่า พวกพม่าเห็นว่าเหลือกำลังที่ต้านศึกตรั้งนี้ จึงเผาเมืองหงสาวดีแล้วเทครัวอพยพผู้คนไปปักหลักอยู่เมืองตองอู พระนเรศวรทรงยกทัพตามไปล้อมเมืองตองอูไว้สามเดือน เสบียงหมดจึงยกทัพกลับอยุธยา”

    เล่ามาถึงตรงนี้จะเห็นว่า แต่ละเม็ดคำที่กระทบหูก็จะผุดความหมายของคำขึ้นที่ใจ ซึ่งเท่าที่มีปรากฏอยู่เฉพาะหน้าก็คือ มีแต่เสียงกระทบหูกับความหมายของเสียงผุดขึ้นในใจ หาได้มีสัตว์ บุคคล สงคราม คนชาตินั้นชาตินี้ต่อตีกันเฉพาะหน้าแต่อย่างใด(ซึ่งถ้ามีคนมาเล่าเรื่องนี้ด้วยภาษา ปาปัวนิวกินี อูกานดา โซมาเรีย ความหมายก็คงจะไม่ผุดขึ้นที่ใจคงมีแต่ปรมัตถ์เสียงล้วนๆกระทบที่หู) แล้วในชีวิตประจำวันล่ะ จะได้ยินอะไรต่ออะไรกันเยอะไหม ตั้งแต่เกิดจนตายจะได้ยินกันอีกคนละเท่าไหร่ แต่นี้ต่อไปทุกครั้งที่ได้ยินเสียงขอให้สังเกตดูลงไปในใจ ดูความหมายที่ผุดเป็นขณะๆต่อเนื่องไปตามคำที่ดัง เรียกว่ามีวิปัสสนาปัญญา เห็นบัญญัติธรรมเป็นเพียงบัญญัติธรรมที่ผุดทางใจ (ส่วนการรู้ สภาพรู้ ตัวรู้ความหมายนั้นเป็นจิต ดังนั้นทุกครั้งที่รู้ความหมายอะไรก็แล้วแต่ จะมีบัญญัติธรรมและจิตเกิดร่วมกันเสมอ) แต่ถ้าไม่ตามดู ไม่ตามเห็น ไม่ตามกำหนดรู้ ไม่ตามระลึกรู้ด้วยสติ วิปัสสนาก็จะไม่ได้ทำกิจ คราวนี้ล่ะสักกายะกิเลศจะทำกิจแทน โดยจะจับกิริยาผุดความหมายเหล่านั้นมาปั้นแต่งเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ความทุกข์จากการปรุงแต่งก็จะเกิดตามมาดังสายน้ำทีเดียว

    ในเวลาได้ยินเสียงแต่ละครั้งจะมีสิ่ง๓สิ่งเกิดขึ้นคือ
    ๑. เสียงปรมัตถ์
    ๒. บัญญัตติธรรม
    ๓. สัตว์บุคคลเรื่องราว(สักกายทิฏฐิ)
    แต่ผู้ไม่รู้จักวิปัสสนาจะรับรู้ได้เพียงหนึ่งเดียวคือ สัตว์ บุคคล เรื่องราว อุปมาเหมือนกับจิตรกรเอกจะใช้อุปกรณ์ ๓ อย่าง คือ
    ๑. ผ้าใบสีขาว
    ๒. แม่สีสามสี (เหลือง แดง น้ำเงิน)
    ๓. ภู่กัน
    เขาละเลงสีลงไปบนผ้าใบสีขาวด้วยความชำนาญ ป้ายมาปาดไป แปล๊บเดียวก็เป็นรูปภาพเสือ สิงห์ ลิง ช้าง มนุษย์ ผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก ภูเขา ต้นไม้ ทะเล แม่น้ำ บ้านช่อง รถยนต์ ฯลฯ เมื่อนำเอาภาพต่างๆเหล่านั้นมาตั้งเรียงรายให้คนอื่นๆดู ผู้คนมากมายที่มาดูนั้นก็จะพากันเห็นรูปภาพต่างๆ พิจารณารายละเอียดในรูปต่างๆนั้น ไม่มีใครรู้สึกตัวว่าเขากำลังดูสีสามสีในผ้าขาว(ผ้าขาวกับสีสามสี) แม้ผ้าขาวจะมีอยู่ แม้สีสามสีจะมีอยู่เฉพาะหน้าแต่ก็หาได้เห็นไม่ อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น

    ปรมัตถลักษณะ เปรียบเหมือน ผ้าขาว
    บัญญัติธรรม ” แม่สีสามสี
    สัตว์บุคคล ” รูปภาพ เสือ สิงห์ ฯลฯ

    แม้ปรมัตถลักษณะปรากฏอยู่เฉพาะหน้า แม้บัญญัติธรรมผุดอยู่ที่ใจ ผู้ไม่รู้จักวิปัสสนาก็เห็นแต่เพียงสัตว์บุคลลตัวตนเราเขาอย่างเดียว ไม่เห็นทั้งปรมัตถ์และบัญญัติแต่ประการใดส่วนผู้เจริญวิปัสสนาจะเห็นธรรมสองอย่างคือปรมัตถธรรมกับบัญญัติธรรมไม่เห็นเป็นสัตว์บุคลลตัวตนเราเขา ณ ขณะที่สติปัฏฐาน(วิปัสสนา)บังเกิดขึ้น

    ในโลกนี้มีคน ๗ พันล้านคน สัตว์บุคลลและเรื่องราวที่โลดแล่นอยู่ใน ๗ พันล้านความคิดนั้น องค์ธรรมได้แก่สักกายทิฏฐิตัวเดียว ธรรมะหนึ่งเดียวคือสักกายทิฏฐินี้ สร้างตัวลครสัตว์บุคคลเรื่องราวให้เกิดในใจ ๗ พันล้านความคิด เหมือนหมึกสีดำสีเดียวสร้างหนังสือนวนิยาย๗ พันล้านเรื่อง แต่ละเรื่องยังมีตัวละครและเรื่องราวรายละเอียดปลีกย่อยอีกนับไม่ถ้วน ทั้งที่โดยข้อเท็จจริง ตัวละครและเรื่องราวเหล่านั้นไม่มีจริง เป็นเรื่องลมๆแล้งๆ เป็นของว่างเปล่าไม่มีตัวตนจริงๆ ที่มีจริงคือหยดหมึก หยดหมึกสิ่งเดียวแปลรูปเป็นตัวละครและเรื่องราวได้หมื่นแสนล้านตัวละครเรื่องราวฉันใด สักกายทิฏฐิตัวเดียวก็สร้างสัตว์บุคคลเรื่องราวได้แสนโกฏิล้าน ไม่รู้จบหรือ เป็นอินฟินิตี้ใน ๗ พันล้านความคิด ที่กำลังคิดพล่านอยู่ทั่วโลกในเวลานี้ฉันนั้น และถ้าเรื่องราวตัวละครทั้งหมดของนิยายทุกเล่มเป็นเรื่องลมๆแล้งๆ เป็นของว่างๆฉันใด เรื่องราวสัตว์บุคคลในใจคนก็ฉันนั้น มีแต่ความว่างเปล่าโลดแล่นไป ขับเคลื่อนไปด้วยความว่างเปล่าไร้แก่นสาร

    ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกับ พระโมฆราชะว่า
    “ดูก่อนโมฆราช เธอจงมีปัญญาเห็นโลกนี้โดยความเป็นของว่างเปล่า”

    ทวารตา
    ทางตา มีปรมัตถลักษณะเกิดขึ้นได้หนึ่งลักษณะนั่นคือ แสงสี คำว่าแสงสีนี้ไม่ใช่สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว สีม่วง สีน้ำเงินฯลฯ อะไรอย่างนั้น แต่เป็นอาการที่มันจ้าขึ้นที่ตา ไม่จ้าขึ้นที่หู ไม่จ้าขึ้นที่จมูก ไม่จ้าขึ้นที่ลิ้น ไม่จ้าขึ้นที่กาย ไม่จ้าขึ้นที่ใจ มีลักษณะเฉพาะคืออาการเจิดจ้าหรือลักษณะจ้าๆ ซึ่งลักษณะจ้าๆทางตานี้ เป็นลักษณะเฉพาะที่ ไม่เหมือนเสียง ไม่เหมือนกลิ่น ไม่เหมือนรส ไม่เหมือนเย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว ไม่เหมือนโทสะ โลภะตัณหา เมตตา ง่วงนอนฯลฯ และจ้าขึ้นที่ตาเท่านั้นไม่จ้าที่ทวารอื่น ในทางปฏิบัติบางสำนักให้บริกรรมว่า เห็นหนอๆๆๆๆๆๆๆ แต่ถ้ารู้ลักษณะปรมัตถ์อันเป็นลักษณะจ้าขึ้นที่ตาได้จะเป็นการดี
    แสงสีที่เกิดทางตานี้ ภาษาบาลีเรียกว่า “วรรณรูป” แปลว่า รูปสี

    วรรณรูปแบ่งเป็น ๒ อย่างคือ
    ๑. รูปที่มีภาษา
    ๒. รูปที่ไม่มีภาษา

    วรรณรูปที่มีภาษาเรียกว่า กายวิญญัติ เช่น การกวักมือ การพนมมือ การพยักหน้า การส่ายหน้า การกำสองนิ้วคือ นิ้วกลางกับนิ้วนาง แล้วชูสามนิ้วคือนิ้วโป้งนิ้วชี้นิ้วก้อยเป็นต้น(สมัยนี้เรียกว่าภาษากาย) กายวิญญัติพวกนี้เมื่อกระทบตาก็จะเกิดความหมาย (บัญญัติธรรม) ผุดขึ้นที่ใจ แต่กายวิญญัติบางชนิดเห็นแล้วบัญญัติธรรมไม่ผุดขึ้นทางใจ เช่น ภาษากายของพวกคนป่า ภาษากายที่เป็นรหัสเฉพาะของหน่วยงานบางหน่วยงาน หรือภาษากายของสัตว์เดรัจฉานบางชนิดเป็นต้น (จะผุดขึ้นรู้ เข้าใจภาษากัน เฉพาะกลุ่มของตน)
    วรรณรูปที่ไม่มีภาษาเป็นรูปปรมัตถ์ล้วน แต่ก็สื่อความหมายได้ เช่นดอกกุหลาบสีแดง หรือสรรพสิ่งที่เราเห็นแล้วรู้ว่ามันคืออะไร เช่น รูปทรงอย่างนี้เรียกว่า ไมโครโฟน รูปทรงอย่างนี้เรียกว่า เก้าอี้ รูปทรงอย่างนี้เรียกว่า ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น แต่ก็มีวรรณรูปบางอย่างที่เห็นแล้วไม่รู้ว่าเป็นอะไรเช่นอะไหร่ชิ้นส่วนของญาณอวกาศหรืองานศิลปะบางชิ้น หรือสิ่งใดก็ได้ที่เราดูแล้วไม่รู้เรื่อง ดังนั้นถ้าเขียนเป็นสูตรก็เขียนได้ดังนี้
    ภาษากายเห็นทางตาแล้ว ผุดความหมาย(บัญญัติธรรม)ที่ใจ
    “-----------------------------” ไม่ “-----------------------------------”
    วรรณรูปกระทบตาแล้ว ผุดความหมาย(บัญญัติธรรม)ขึ้นที่ใจ
    “----------------------------” ไม่ “----------------------------------”
    ทวารหู
    ทางหูมีปรมัตถลักษณะเกิดขึ้นได้หนึ่งลักษณะคือ เสียง เสียงมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนแสงสี ไม่เหมือน กลิ่น ไม่เหมือนรส ไม่เหมือนเย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว ไม่เหมือนโทสะ โลภะตัณหา เมตตา ง่วงนอน ฯลฯ เหมือนตัวของเขาเองเท่านั้นคือ เสียงลักษณะ เวลาปฏิบัติก็ง่ายนิดเดียว แค่ระลึกรู้เมื่อมีเสียงเกิดขึ้นที่หู เสียงกระทบขณะใดก็รู้ขณะนั้น สังเกตดูด้วยว่า ถ้าเป็นเสียงที่ดังต่อเนื่องกันนั้น แต่ละเม็ดเสียงเชื่อมต่อจนเป็นเนื้อเดียวกันหรือขาดออกจากกัน ไม่ทับซ้อนกัน และระยะห่างถี่ของแต่ละเสียงนั้น ห่าง หรือ ถี่ กันมากน้อยเพียงใด และระหว่างรู้เสียงนั้นทางทวารอื่นรู้ปรมัตถลักษณะอื่นๆแทรกสลับหรือไม่ มากน้อยเพียงใด
    เสียง ที่เกิดทางหูนี้ ภาษาบาลีเรียกว่า “สัททรูป” แปลว่า รูปเสียง
    เสียงที่เราได้ยินอยู่ทุกวี่วันนั้น แบ่งออกเป็นสองอย่างคือ
    ๑. เสียงที่มีภาษา
    ๒. เสียงที่ไม่มีภาษา
    เสียงที่มีภาษาเรียกว่า วจีวิญญัติรูป วจีวิญญัติของบางภาษาฟังแล้วรู้ความหมาย(ผุดบัญญัติธรรม)ขึ้นที่ใจ เช่น ภาษาไทยหรือภาษาของชาติใดที่เราแปลได้ บางภาษาไม่ผุดความหมายขึ้นที่ใจ เช่นภาษาที่เราไม่รู้แปลความไม่ได้
    เสียงที่ไม่มีภาษา เป็นปรมัตถ์เสียงล้วน บางเสียงฟังแล้วผุดความหมายขึ้นที่ใจ (เช่น เสียงแก้วแตก เสียงหัวเราะ เสียงร้องไห้ เป็นต้น) บางเสียงฟังแล้วไม่ผุดความหมายขึ้นที่ใจ ได้แก่เสียงที่เราแยกไม่ออกจริงๆว่าเป็นเสียงอะไร เช่น เสียงบางชนิดที่เราฟังแล้วไม่รู้ว่าเป็นเสียงอะไร แต่ถ้าผู้เชี่ยวชาญฟังแล้วรู้ บัญญัติธรรม (ความหมาย) ก็ผุดได้เฉพาะผู้ที่รู้เท่านั้น ส่วนผู้ไม่รู้บัญญัติธรรมย่อมไม่ผุดขึ้นเป็นต้น
    ดังนั้นถ้าจะเขียนเป็นสูตรก็ได้ดังนี้
    เสียงมีภาษาเกิดที่หู ผุดความหมาย(บัญญัติธรรม)ทางใจ
    เสียงมีภาษา ” ไม่ผุดความหมาย ”
    เสียงไม่มีภาษา” ผุดความหมาย ”
    เสียงไม่มีภาษา” ไม่ผุดความหมาย ”
    ความหมาย (บัญญัติธรรม) นี้เป็นของว่างๆ ไม่มีตัวตน สักแต่ว่ากิริยาผุดหมายขึ้นที่ใจเท่านั้น แต่สักกายทิฏฐิคอยทำหน้าที่เห็นบัญญัติเป็น สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ผู้มีวิปัสสนาระดับสูงจะเห็นบัญญัติธรมเป็นสุญญตา หรือเห็นเป็นธรรมะชนิดหนึ่งคือบัญญัติธรรม แม้เรื่องราวต่างๆก็เห็นเป็นสุญญตา คือบัญญัติธรรมหลายๆขณะเกิดขึ้นรียงต่อนื่องกันก็จะเป็นเรื่องราว (Story)
    ทวารจมูก
    ทวารจมูกมีปรมัตถลักษณะเกิดขึ้นได้หนึ่งลักษณะ คือลักษณะกลิ่น กลิ่นมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือน แสงสี ไม่เหมือนเสียง ไม่เหมือนรส ไม่เหมือนเย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว ไม่เหมือนเจ็บปวด--ฯ---เหน็บชา ไม่เหมือนโทสะ โลภะตัณหา เมตตา ง่วงนอน ฯลฯ เหมือนตัวของเขาเองเท่านั้นคือกลิ่นลักษณะ เกิดขึ้นที่จมูกไม่เกิดขึ้นที่ทวารอื่น เวลาปฏิบัติก็ง่ายนิดเดียว กลิ่นกระทบจมูกเมื่อไหร่ก็ระลึกรู้ ดูกลิ่นลักษณะเมื่อนั้น
    บางกลิ่นที่ดมแล้วรู้ว่าเป็นกลิ่นอะไร เช่น กลิ่นขนุน กลิ่นทุเรียน กลิ่นมะม่วง
    กลิ่นไข่เจียว กลิ่นปลาทูทอดฯลฯ นั้นหมายความว่า มีทั้งปรมัตถ์เกิดที่จมูกและบญญัติธรรมเกิดที่ใจ แต่บางกลิ่นที่กระทบจมูกแล้วไม่รู้ว่าเป็นกลิ่นอะไร อันนี้มีแต่ปรมัตถ์เกิดขึ้นที่จมูกแต่ไม่มีบัญญัติธรรมเกิดขึ้นที่ใจ
    กลิ่น ที่เกิดทางจมูกนี้ ภาษาบาลีเรียกว่า “คันธรูป” แปลว่า รูปกลิ่น

    ทวารลิ้น
    ปรมัตถลักษณะเกิดขึ้นได้หนึ่งลักษณะ คือลักษณะรส ซึ่งมีปรมัตถลักษณะไม่เหมือนสี ไม่เหมือนเสียง ไม่เหมือนกลิ่น ไม่เหมือนเย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว เจ็บปวด ---ฯ----เหน็บชา ไม่เหมือน โทสะ โลภะตัณหา เมตตา ง่วงนอน ฯลฯ เหมือนตัวของเขาเองเท่านั้นคือรสลักษณะ เกิดที่ทวารลิ้นเท่านั้นไม่เกิดที่ทวารอื่น เวลาปฏิบัติก็ง่ายนิดเดียว รสกระทบลิ้นเมื่อไหร่ ก็ระลึกรู้ดูรสลักษณะเมื่อนั้น
    บางรสเมื่อกระทบลิ้นแล้วรู้ได้ทันทีว่าเป็นรสอะไร เช่น รสขนุน ทุเรียน มะม่วง ไข่เจียว สมตำ ฯลฯ นั่นหมายความว่ามีทั้งปรมัตถ์เกิดที่ลิ้น และบัญญัติธรรมเกิดที่ใจ แต่ถ้าบางรสกระทบลิ้นแล้วไม่รู้ว่ารสอะไร เช่น อาหารจากอาฟริกา จากเอสกิโม จากขั้วโลกไต้ อันนี้มีแต่ปรมัตถ์เกิดขึ้นที่ลิ้น แต่บัญญัติธรรมไม่เกิดที่ใจ
    รส ที่เกิดทางลิ้นนี้ ภาษาบาลีเรียกว่า “รสรูป” (อ่านว่าระ สะ รูป) แปลว่า รูปรส
    ถ้อยคำที่ใช้เรียกว่า ขนุน ทุเรียน มะม่วง ไข่เจียว ส้มตำ นั้น
    ถ้าเรียกออกเสียงก็เป็นวจีวิญญัติกระทบหู
    ถ้าเรียกในใจไม่ออกเสียงก็เป็นธรรมารมณ์ (มโนพจน์) กระทบใจ
    ถ้านึกถึงภาพ ขนุน ทุเรียน มะม่วงไข่เจียว ปลาทูทอดฯลฯ ก็เป็น
    ธรรมารมณ์ (มโนภาพ) กระทบใจ
    ควรมีสติระลึกรู้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นทั้งเสียงที่เกิดทางหู ทั้งคำหรือภาพที่เกิดทางใจ

    สรุป
    ไม่ว่าวัตถุหรืออารมณ์ที่กระทบทวารทั้ง ๖ จะเป็นอะไรก็ตาม ตัวอย่างเช่น
    ขนุน ทุเรียน มะม่วง ไข่เจียว ส้มตำ

    - ถ้าเห็นทางตา เป็นวรรณรูป(สี) ปรมัตถลักษณะ ได้แก่แสงสีลักษณะ
    - ถ้าได้ยินทางหู เป็นสัททรูป (เสียง) ปรมัตถลักษณะ ได้แก่เสียงลักษณะ
    - ถ้ากลิ่นทางจมูก เป็นคันธรูป (กลิ่น) ปรมัตถลักษณะ ได้แก่กลิ่นลักษณะ
    - ถ้ารสทางลิ้น เป็นรสารูป (รส) ปรมัตถลักษณะ ได้แก่รสลักษณะ
    - ถ้าสัมผัสทางกาย เป็นโผฏฐัพพรูป(สัมผัส) ปรมัตถลักษณะ ได้แก่เย็นร้อน-ฯ-
    - คิดเป็นภาพ เป็นธรรมารมณ์(มโนภาพ) ปรมัตถลักษณะ ได้แก่คิดลักษณะ
    - คิดเป็นถ้อยคำ เป็นธรรมารมณ์(มโนพจน์) ปรมัตถลักษณะ ได้แก่คิดลักษณะ
    - ผุดความหมาย เป็นธรรมารมณ์(บัญญัติธรรม) ไม่มีปรมัตถลักษณะ เพราะเป็นสมมติ
    - จิตรู้ความหมาย เป็นจิต(ธรรมชาติรู้) ปรมัตถลักษณะ ได้แก่ลักษณะรู้

    ถามว่า ตอนนี้เหมือนมีหลายๆปรมัตถ์เกิดขึ้นพลั่งพลูพร้อมกัน ณ ที่ทวารทั้ง ๖
    จะรู้อันไหนก่อนดี
    ตอบว่า อันไหนชัดกว่า เอาอันนั้นก่อน
    ถามว่า อันไหนชัด รู้อันนั้นก่อน ลองดูแล้ว ต่อมาอันที่ไม่ชัดก็พลอยรู้ไปด้วย
    จะทำ อย่างไรต่อไป
    ตอบว่า แปลว่าก้าวหน้า ให้ดูต่อไป ไม่ทำอะไรมากไปกว่าการรู้ การดู การเห็น
    ปัจจุบันปรมัตถ์เท่านั้น ทั้งชัดก็รู้ ไม่ชัดก็รู้ การที่สามารถรู้ทั้งชัดและไม่
    ชัดเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าวิปัสสนาก้าวหน้า ชัดก็รรู้ไม่ชัดก็รู้นี้ ภาษาคัมภีร์
    ใช้คำว่า หยาบก็รู้ ละเอียดก็รู้นั่นเอง
     
  2. ธรรมแท้ว่าง

    ธรรมแท้ว่าง กายเบาใจเบา

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มีนาคม 2011
    โพสต์:
    12,288
    ค่าพลัง:
    +12,620
    เป็นอรรถาธิบายที่กระจ่างและใช้วัดความรู้ตนเองได้
    ดีที่สุด ขอบคุณ จขกท.
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,359
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    "หลอมรวมการภาวนากับการใช้ชีวิตประจำวัน" คอร์สจีน 11 《修行与日常生活水乳交融》 ——阿姜松|2019年3月15日|第11届泰国课程

    Dhamma.com
    Published on Jul 3, 2019
     

แชร์หน้านี้

Loading...