ห้ามมีกิ๊ก ทำไมต้องออกมาเป็นกฎหมาย?

ในห้อง 'ทุกข์และปัญหาชีวิต' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 24 สิงหาคม 2017.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    รัฐบาลของบ้านนี้ เมืองนี้ ใน ณ ขณะจิตนี้ กำลังจะทำคลอด ‘กฎหมายห้ามมีกิ๊ก’ ออกมาให้ไพร่ฟ้าหน้าใสอย่างเราๆ ชื่นใจกันนะครับ

    [​IMG]


    ผมไม่แน่ใจว่า ในพจนานุกรมมาตรฐานของทางการ อย่างฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่มล่าสุด จะเพิ่มเติมคำจำกัดความของคำว่า ‘กิ๊ก’ เอาไว้หรือยัง? (เท่าที่สืบค้นจากทางออนไลน์ ราชบัณฑิตย์ท่าน ยังคงจำกัดความคำว่า ‘กิ๊ก’ ว่า ‘เสียงของแข็งกระทบกัน’ เพียงอย่างเดียวอยู่) แต่ก็เชื่อว่าทราบกันโดยทั่วไปเป็นอย่างดีอยู่แล้วว่า ความหมายของคำๆ นี้ในฐานะศัพท์แสลงนั้น มันหมายความว่าอย่างไร?

    ก็อย่างที่เคยมีวงดนตรีอะไรสักวงของค่ายเพลงดังย่านลาดพร้าว เคยนิยามเอาไว้อย่างสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า ‘เป็นได้เพียงแค่เพื่อน แต่ไม่ใช่คนรัก’ นั่นแหละ

    แน่นอนว่าการมีกิ๊กนั้นคงจะเป็นอะไรที่ไม่ถูกต้องนักในแง่ของศีลธรรม ซึ่งในกรณีของประเทศไทยนั้นก็มักจะวางอยู่บนพื้นฐานของหลักศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพุทธเป็นสำคัญ อยู่อีกทอดหนึ่ง แต่มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือครับ?

    ‘กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี’ ในศีลข้อที่สามของชาวพุทธมีความหมายแปลตรงตัวว่า ‘การละเว้นประพฤติผิดในกาม’ ต่อมาอรรถกถาจารย์ฝ่ายเถรวาทค่อยตีความเพิ่มเติมว่า ‘ห้ามละเมิดลูกเมียเขา’ อย่างที่เรามักจะเข้าใจกันในปัจจุบัน

    แปลความได้ว่า อรรถกถาจารย์ฝ่ายพุทธเถรวาท ตีความคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า การประพฤติผิดทางเพศในที่นี้หมายถึงการไม่เบียดเบียนทางเพศต่อเพื่อนบ้าน และครอบครัวของผู้อื่น

    การตีความอย่างนี้แทบจะไม่แสดงความคิดเห็นเชิงอภิปรัชญาเลย แต่กลับแสดงให้เห็นถึงนัยยะทางสังคมอย่างชัดเจน จนไม่รู้จะชัดอย่างไรให้มากกว่านี้ได้

    ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า การห้ามละเมิดลูกเขาเมียใครของอรรถกถาจารย์ ไม่ได้กล่าวหาว่าการมีเมีย หรือผัว หลายคนเป็นบาปกรรม ตราบใดที่คุณไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่น และพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ไปเบียดเบียนเพื่อนบ้านให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งในสังคม ก็ดูจะไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดด้วยเช่นกัน

    ยิ่งเมื่อพิจารณาจากส่วนที่ไม่ใช่ฆราวาสธรรม อย่างพระวินัย ตามหลักพระปาติโมกข์ ภิกษุผู้ใดมีเพศสัมพันธ์กับสตรีเป็น ‘ปาราชิก’ ขาดจากภิกษุภาวะทันที แต่หากภิกษุผู้ใดประกอบอัตกามกิจ นับเป็น ‘สังฆาทิเสส’ ซึ่งเป็นการผิดพลาดใหญ่ แต่ปลงได้ด้วยการเข้าปริวาส และสวดมานัต ไม่ถึงกับขาดภิกษุภาวะ

    แน่นอนว่าการที่ภิกษุประกอบ ‘อัตกามกิจ’ หรือ ‘ช่วยตัวเอง’ อาจจะไม่ผิดบาปเท่ากับการมีสัมพันธ์สวาทกับหญิงสาว (อย่างน้อยก็ไม่ผิดทางกายกรรมเท่า แม้ว่าทางมโนกรรมอาจจะไปเสียจนไกล๊ไกลสุดกู่แล้วก็เหอะ) แต่ผมอยากจะสันนิษฐาน (ศัพท์วิชาการของคำว่า เดา) เพิ่มเติมว่า การประกอบกามกิจกับหญิงสาว หรือชายหนุ่ม เป็นการ ‘เบียดเบียน’ คือ ‘สั่นคลอน’ โครงสร้างทางสังคม ในขณะที่การประกอบกามกิจด้วยตัวเองไม่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นในสังคม
    และที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะ ‘กาเมสุมิจฉาจาร’ ของพุทธศาสนาเถรวาทเน้นที่การกระทำเชิงสังคมมากกว่าหลักอภิปรัชญา

    ลักษณะที่ว่านี้จึงเปิดพื้นที่ให้กับ ‘ครอบครัว’ ในวัฒนธรรมของทั้งชมพูทวีป และอุษาคเนย์ ที่ ‘ผู้หญิง’ และ ‘ลูกหลาน’ หมายถึงเครือข่ายของอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นทางการค้า หรือการเมือง จนทำให้การที่เจ้านาย หรือใครต่อใครในยุคก่อนสมัยใหม่ (และอันที่จริงแล้ว แม้แต่ ‘สมัยใหม่’ ของสยามประเทศไทย ในความหมายที่แปลความมาจากศัพท์ฝรั่งว่า ‘modernity’ มาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ด้วยก็เถอะ) จะมีหลายเมียก็ไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไร ซ้ำยังแสดงให้เห็นถึงบุญญาบารมีของท่านเหล่านั้นอีกต่างหาก

    ข้อความในหนังสือวินาศิขะตันตระที่แต่งขึ้นในชมพูวีป และมีชื่ออ้างถึงอยู่ในจารึกสด๊กก็อกธมของขอม ที่ว่าด้วยการสถาปนา ‘เทวราชา’ กล่าวถึงการสถาปนาชายาทั้งสี่ก่อนที่พระอิศวรจะขึ้นเป็นราชาเหนือทวยเทพทั้งหลาย พิธีบรมราชาภิเษกของกัมพูชายังมีหลักฐานว่าต้องอภิเษกชายาสี่คนเป็นความหมายของเครือข่ายสี่ทิศในอุดมคติ ซึ่งก็แน่นอนว่าสืบมาแต่คติในพิธีสถาปนาเทวราชานั่นแหละ

    คติเรื่องเทวราชาเป็น ‘หลักการ’ และอุดมคติสำคัญของราชสำนักขอมโบราณ ที่ส่งทอดมาถึงกรุงศรีอยุธยา (และแน่นอนว่าต่อเนื่องมายัง ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ตามลำดับ) โดยได้เปลี่ยนรูปกลายร่างมาเป็น พุทธราชา ตามเงื่อนไขทางสังคมของกรุงศรีอยุธยา ที่ให้ความสำคัญกับพุทธศาสนาแบบเถรวาท ไม่ใช่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หรือพุทธศาสนามหายาน อย่างพวกขอมโบราณ

    ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่ใน ตำแหน่งพระไอยการนาพลเรือน ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง ที่ตราขึ้นในสมัยอยุธยานั้นจะกล่าวถึง ตำแหน่ง ‘พระสนมเอก 4 ท้าว’ ได้แก่ อินสุเรนทร ศรีสุดาจัน อินทรเทวี และศรีจุฬาลักษ

    ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือชื่อตำแหน่งเหล่านี้ สัมพันธ์อยู่กับเมืองสำคัญที่เป็นเครือข่ายอำนาจของอยุธยาอย่าง นครศรีธรรมราช ลพบุรี สุพรรณบุรี และสุโขทัย ตามลำดับ พูดง่ายๆ ว่าไม่ใช่ใครก็สามารถจะมาเป็นพระสนมเอก 4 ท้าว กันได้ทุกคน แต่จะต้องมีเชื้อ มีสายมาจากเจ้าผู้ครองเมืองดังกล่าวเหล่านั้นด้วย เช่น ท้าวศรีสุดาจันทร์ พระมเหสีฝ่ายซ้าย ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช ก็มีเชื้อสายมาจากราชวงศ์อู่ทอง แห่งเมืองละโว้ หรือลพบุรี นี่แหละครับ

    ความสำคัญของตำแหน่งพระสนมเอก 4 ท้าว จึงไม่ได้สำคัญต่อพระเจ้าแผ่นดินเฉพาะในแง่ของพิธีกรรมเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเครือข่าย ซึ่งแสดงถึงพระบารมีของพระองค์ว่าครอบคลุมทั่วทั้งจักรวาลวิทยาของความเป็นอยุธยา (และอาจจะรวมถึงกรุงเทพฯ ในเชิงอุดมคติที่รับสืบทอดกันมา) มากถึงเพียงไหน (แน่นอนว่า ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จะมีพระสนมเอกครบทั้ง 4 ท้าว)

    พระเจ้าแผ่นดินในสมัยอยุธยา เรื่อยมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ ก่อนในหลวงรัชกาลที่ 7 จึงทรงเป็นหน่อพุทธางกูรได้ ทั้งที่ต่างก็มีชายากันไม่น้อยไปกว่าจำนวนนิ้วพระหัตถ์ของแต่ละพระองค์

    ‘กาเมสุมิจฉาจาร’ หรือข้อพึงประพฤติเกี่ยวกับ ‘กาม’ สำหรับฆราวาสในพุทธศาสนาเถรวาทจึงไม่ได้มุ่งควบคุมไปที่ การครองชีวิตคู่ ความคิดเรื่องพรหมจรรย์ (ในความหมายแบบที่เข้าใจกันในปัจจุบัน) หรือแม้กระทั่งเพศรส ฯลฯ อย่างที่เข้าใจกันในชั้นหลัง แต่กลับเอื้อต่อวัฒนธรรมทั้ง ผี พุทธ พราหมณ์ ของสังคมวัฒนธรรมในชมพูทวีป และอุษาคเนย์ต่างหาก

    แน่นอนว่า ทั้งหมดที่ผมอ้างมานั้น กล่าวถึงเฉพาะในสังคมที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ (patriarchy) แต่ก็ต้องยอมรับว่า เมื่อหลังจากที่ผู้คนในภูมิภาคอุษาคเนย์ ได้ยอมรับนับถือเอาศาสนาจากชมพูทวีป ไม่ว่าจะพุทธ หรือว่าจะพราหมณ์-ฮินดู เข้ามาแล้ว โครงสร้างหลักทางสังคมก็มีลักษณะเป็นอย่างที่ว่าจริงๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่า อำนาจต่อรองของฝ่ายผู้หญิง โดยเฉพาะในเรื่องทำนองอย่างนี้จะหมดไป

    ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ท้าวศรีสุดาจันทร์คนเดิม ที่ดำรงตำแหน่งพระมเหสีฝ่ายซ้าย ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช แต่จากข้อมูลจากพงศาวดารนั้นก็ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า พระองค์ก็ทรงควบตำแหน่งพระอัครมเหสีในรัชสมัยของขุนวรวงศ์ธิราช ในรัชกาลต่อมาอีกด้วย

    และโมเดลทำนองนี้ไม่ได้ปรากฏอยู่เฉพาะในหมู่เจ้านาย หรือเชื้อพระวงศ์เท่านั้นนะครับ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็แสดงให้เห็นว่า ‘ไพร่’ เองก็มีอะไรทำนองนี้ด้วย โดยมีตัวอย่างที่สำคัญก็คือ หญิงสาวชาวมอญที่ชื่อนาง ‘ออสุต’

    เธอคนนี้พื้นเพเป็นเพียงหญิงสาวธรรมดาในกรุงศรีอยุธยา ที่ไต่เต้าขึ้นมาจากการแต่งงานกับชาวฮอลันดา ผู้มีอำนาจในอยุธยาถึง 3 คน (คนหนึ่งในนั้นคือ ฟาน ฟลีต หรือที่มักจะเรียกกันอย่างไทยๆ ว่า วันวลิต) จนสามารถคลุกคลีกับวงขุนนางอยุธยาชั้นสูง โดยเฉพาะอะไรที่เรียกว่า ‘ฝ่ายใน’ ของพระราชวังกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียว

    เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชายหนุ่ม กับหญิงสาว (และจะเหมารวมไป ชายกับชาย หญิงกับหญิง หรืออีกสารพัดความสัมพันธ์ระหว่างเพศสภาพที่หลากหลาย) จึงไม่ได้ผูกติดอยู่กับมิติทางศีลธรรม (เคราะห์ยังดีที่รัฐท่านยังเข้าใจว่าในบางศาสนา เช่น ศาสนาอิสลาม อนุญาตให้ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้ 4 คน ในวงเล็บว่าถ้ามีกำลัง และทรัพย์สินพอจะเลี้ยงดูภรรยาทุกคนได้อย่างเท่าเทียม) โดยเฉพาะศีลธรรมที่ถูกแปลความจากมุมของคนในปัจจุบันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีแง่มุมอื่นๆ อย่างเช่น แง่มุมที่ผมยกตัวอย่างมาข้างต้นอีกด้วย
    รัฐอาจจะหวังดีอย่างที่ นายณรงค์ คงคำ โฆษกกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเตรียมทำคลอดกฎหมายฉบับนี้เอาไว้ว่า ‘การมีกิ๊กอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนทางจิตใจ และเป็นเหตุให้เกิดปัญหาการทะเลาะเบาะแว้ง เข้าข่ายความรุนแรงในครอบครัว’ แต่นี่ก็เป็นยังเป็นมุมมองแบนๆ ที่มีต่อความหลากหลายของปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมเท่านั้น

    ผมไม่ได้สนับสนุนให้ใครมีกิ๊ก และก็เข้าใจถึงความหวังดีของรัฐท่านเป็นอย่างดี แต่อะไรบางอย่างก็อาจจะจัดการด้วยความเลื่อนไหลทางวัฒนธรรม และ soft power ซึ่งก็อาจจะให้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งกว่าการจัดการด้วยกฎหมาย และมาตรการที่แข็งกร้าว

    ขอขอบคุณที่มา
    https://shows.voicetv.co.th/blog/517924.html
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 24 สิงหาคม 2017

แชร์หน้านี้

Loading...