อานิสงค์ ของการสร้างบุญบารมี

ในห้อง 'บุญ-อานิสงส์การทำบุญ' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 24 ตุลาคม 2006.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,027
    อานิสงค์ ของการสร้างบุญบารมี (1)
    โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


    ทาน
    การทำทาน ได้แก่การสละทรัพย์สิ่งของสมบัติของตนที่มีอยู่ให้แก่ผู้อื่น โดยมุ่งหวังจะจุนเจือให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์และความสุขด้วยความเมตตาจิตของตน ทานที่ได้ทำไปนั้น จะทำให้ผู้ทำทานได้บุญมากหรือน้อยเพียงใด ย่อมสุดแล้วแต่องค์ประกอบ ๓ ประการ ถ้าประกอบถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการต่อไปนี้แล้ว ทานนั้นย่อมมีผลมาก ได้บุญบารมีมาก กล่าวคือ

    องค์ประกอบข้อที่ ๑ . " วัตถุทานที่ให้ต้องบริสุทธิ์ "
    วัตถุทานที่ให้ ได้แก่สิ่งของทรัพย์สมบัติที่ตนได้สละให้เป็นทานนั้นเอง จะต้องเป็นของที่บริสุทธิ์ ที่จะเป็นของบริสุทธิ์ได้จะต้องเป็นสิ่งของที่ตนเองได้แสวงหา ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ในการประกอบอาชีพ ไม่ใช่ของที่ได้มาเพราะการเบียดเบียนผู้อื่น เช่น ได้มาโดยยักยอก ทุจริต ลักทรัพย์ ฉ้อโกง ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ ฯลฯ

    ตัวอย่าง ๑ ได้มาโดยการเบียดเบียนชีวิตและเลือดเนื้อสัตว์ เช่นฆ่าสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้นว่า ปลา โค กระบือ สุกร โดยประสงค์จะเอาเลือดเนื้อของเขามาทำอาหารถวายพระเพื่อเอาบุญ ย่อมเป็นการสร้างบาปเอามาทำบุญ วัตถุทาน คือเนื้อสัตว์นั้นเป็นของที่ไม่บริสุทธิ์ แม้ทำบุญให้ทานไป ก็ย่อมได้บุญน้อย จนเกือบไม่ได้อะไรเลย ทั้งอาจจะได้บาปเสียอีก หากว่าทำทานด้วยจิตที่เศร้าหมอง แต่การที่จะได้เนื้อสัตว์มาโดยการซื้อหามาจากผู้อื่นที่ฆ่าสัตว์นั้น โดยที่ตนมิได้มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจในการฆ่าสัตว์นั้นก็ดี เนื้อสัตว์นั้นตายเองก็ดี เนื้อสัตว์นั้นย่อมเป็นวัตถุทานที่บริสุทธิ์ เมื่อนำมาทำทานย่อมได้บุญมากหากถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบข้ออื่น ๆ ด้วย

    ตัวอย่าง ๒ ลักทรัพย์ ยักยอก ฉ้อโกง ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ รวมตลอดถึงการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง อันเป็นการได้ทรัพย์มาในลักษณะที่ไม่ชอบธรรม หรือโดยเจ้าของเดิมไม่เต็มใจให้ทรัพย์นั้น ย่อมเป็นของที่ไม่บริสุทธิ์ เป็นของร้อน แม้จะผลิดอกออกผลมาเพิ่มเติม ดอกผลนั้นก็ย่อมเป็นของไม่บริสุทธิ์ ด้วยนำเอาไปกินไปใช้ย่อมเกิดโทษ เรียกว่า " บริโภคโดยความเป็นหนี้ " แม้จะนำเอาไปทำบุญ ให้ทาน สร้างโบสถ์วิหารก็ตาม ก็ไม่ทำให้ได้บุญแต่อย่างไร สมัยหนึ่งในรัชการที่ ๕ มีหัวหน้าสำนักนางโลมชื่อ " ยายแฟง " ได้เรียกเก็บเงินจากหญิงโสเภณีในสำนักของตนจากอัตราที่ได้มาครั้งหนึ่ง ๒๕ สตางค์ แกจะชักเอาไว้ ๕ สตางค์ สะสมเอาไว้เช่นนี้จนได้ประมาณ ๒ , ๐๐๐ บาท แล้วจึงจัดสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งด้วยเงินนั้นทั้งหมด เมื่อสร้างเสร็จแล้วแกก็ปลื้มปีติ นำไปนมัสการถามหลวงพ่อโตวัดระฆังว่าการที่แกสร้างวัดทั้งวัดด้วยเงินของแกทั้งหมดจะได้บุญบารมีอย่างไร หลวงพ่อโตตอบว่า ได้แค่ ๑ สลึง แกก็เสียใจ เหตุที่ได้บุญน้อยก็เพราะทรัพย์อันเป็นวัตถุทานที่ตนนำมาสร้างวัดอันเป็นวิหารทานนั้น เป็นของที่แสวงหาได้มาโดยไม่บริสุทธิ์ เพราะว่าเบียดเบียนมาจากเจ้าของที่ไม่เต็มใจจะให้ ฉะนั้น บรรดาพ่อค้าแม่ขายทั้งหลายที่ซื้อของถูก ๆ แต่มาขายแพงจนเกินส่วนนั้น ย่อมเป็นสิ่งของที่ไม่บริสุทธิ์โดยนัยเดียวกัน

    วัตถุทานที่บริสุทธิ์เพราะการแสวงหาได้มาโดยชอบธรรมดังกล่าว ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นของดีหรือเลว ไม่จำกัดว่าเป็นของมากหรือน้อย น้อยค่าหรือมีค่ามาก จะเป็นของดี เลว ประณีต มากหรือน้อยไม่สำคัญ ความสำคัญขึ้นอยู่กับเจตนาในการให้ทานนั้น ตามกำลังทรัพย์และกำลังศรัทธาที่ตนมีอยู่


    องค์ประกอบข้อที่ ๒ . " เจตนาในการสร้างทานต้องบริสุทธิ์ "
    การให้ทานนั้น โดยจุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็เพื่อเป็นการขจัดความโลภ ความตระหนี่เหนียวแน่นความหวงแหนหลงใหลในทรัพย์สมบัติของตน อันเป็นกิเลสหยาบ คือ " โลภกิเลส " และเพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุขด้วย เมตตาธรรมของตน อันเป็นบันไดก้าวแรกในการเจริญเมตตา พรหมวิหารธรรมในพรหมวิหาร ๔ ให้เกิดขึ้น ถ้าได้ให้ทานด้วยเจตนาดังกล่าวแล้ว เรียกว่าเจตนาในการทำทานบริสุทธิ์ แต่เจตนาที่ว่าบริสุทธิ์นั้น

    ถ้าจะบริสุทธิ์จริงจะต้องสมบูรณ์พร้อมกัน ๓ ระยะ คือ

    ( ๑ ) ระยะก่อนที่จะให้ทาน ก่อนที่จะทานก็จะมีจิตที่โสมนัสร่าเริงเบิกบานยินดีที่จะให้ทาน เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุขเพราะทรัพย์สิ่งของของตน

    ( ๒ ) ระยะที่กำลังลงมือให้ทาน ระยะที่กำลังมือให้ทานอยู่นั้นเอง ก็ทำด้วยจิตใจโสมนัสร่าเริงยินดีและเบิกบานในทานที่ตนกำลังให้ผู้อื่น

    ( ๓ ) ระยะหลังจากที่ได้ให้ทานไปแล้ว ครั้นเมื่อได้ให้ทานไปแล้วเสร็จ หลังจากนั้นก็ดี นานมาก็ดี เมื่อหวนคิดถึงทานที่ตนได้กระทำไปแล้วครั้งใด ก็มีจิตใจโสมนัสร่าเริงเบิกบาน ยินดีในทานนั้น ๆ
    เจตนาบริสุทธิ์ในการทำทานนั้น อยู่ที่จิตใจโสมนัสร่าเริงเบิกบานยินดีในทานที่ทำนั้นเป็นสำคัญ และเนื่องจากเมตตาจิต ที่มุ่งสงเคราะห์ผู้อื่นให้พ้นความทุกข์ และให้ได้รับความสุขเพราะทานของตน นับว่าเป็นเจตนาบริสุทธิ์ในเบื้องต้น แต่เจตนาที่บริสุทธิ์เพราะเหตุดังกล่าวมาแล้วนี้ จะทำให้ยิ่ง ๆ บริสุทธิ์มากขึ้นไปอีก หากผู้ใดให้ทานนั้นได้ทำทานด้วยการวิปัสสนาปัญญา กล่าวคือ ไม่ใช่ทำทานอย่างเดียว แต่ทำทานพร้อมกับมีวิปัสสนาปัญญา โดยใคร่ครวญถึงวัตถุทานที่ให้ทานนั้นว่า อันบรรดาทรัพย์สิ่งของทั้งที่ชาวโลกนิยมยกย่องหวงแหนเป็นสมบัติกันด้วยความโลภนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงวัตถุธาตุประจำโลก เป็นสมบัติกลาง ไม่ใช่ของผู้ใดโดยเฉพาะ เป็นของที่มีมาตั้งแต่ก่อนเราเกิดขึ้นมา และไม่ว่าเราจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม วัตถุธาตุดังกล่าวก็มีอยู่เช่นนั้น และได้ผ่านการเป็นเจ้าของมาแล้วหลายชั่วคน ซึ่งท่านตั้งแต่ก่อนนั้น ได้ล้มหายตายจากไปแล้วทั้งสิ้น ไม่สามารถนำวัตถุธาตุดังกล่าวนี้ติดตัวไปได้เลยจนในที่สุดก็ได้ตกทอดมาถึงเรา ให้เราได้กินได้ใช้ไดยึดถือเพียงชั่วคราว แล้วก็ตกทอดสืบเนื่องไปเป็นของคนอื่น ๆ ต่อ ๆ ไปเช่นนี้ แม้เราเองก็ไม่สามารถจะนำวัตถุธาตุดังกล่าวนี้ติดตัวไปได้เลย จึงนับว่าเป็นสมบัติผลัดกันชมเท่านั้น ไม่จากไปในวันนี้ก็ต้องจากไปในวันหน้า อย่างน้อยเราก็ต้องจากต้องทิ้งเมื่อเราได้ตายลงนับว่าเป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงแท้แน่นอน จึงไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเราได้ถาวรได้ตลอดไป แม้ตัววัตถุธาตุดังกล่าวนี้เอง เมื่อมีเกิดขึ้นเป็นตัวตนแล้ว ก็ต้องอยูในสภาพนั้นให้ตลอดไปไม่ได้ จะต้องเก่าแก่ ผุพัง บุบสลายไป ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแต่อย่างไร แม้แต่เนื้อตัวร่างกายของเราเองก็มีสภาพเช่นเดียวกับวัตถุธาตุเหล่านั้น ซึ่งไม่อาจจะตั้งมั่นให้ยั่งยืนอยู่ได้ เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็จะต้องเจริญวัยเป็นหนุ่มสาวแล้วก็แก่เฒ่าและตายไปในที่สุด เราจะต้องพลัดพรากจากของอันเป็นที่รัก ที่หวงแหน คือทรัพย์สมบัติทั้งปวง

    เมื่อเจตนาในการให้ทานบริสุทธิ์ผุดผ่องดีพร้อมทั้งสามระยะดังกล่าวมาแล้ว ทั้งยังประกอบไปด้วยวิปัสสนาปัญญาดังกล่าวมาแล้วด้วย เจตนานั้นย่อมบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ทานที่ได้ทำไปนั้นย่อมมีผลมาก ได้บุญมากหากวัตถุทานที่ได้ทำเป็นของบริสุทธิ์ตามองค์ประกอบข้อ ๑ ด้วย ก็ย่อมทำให้ได้บุญมากยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก วัตถุทานจะมากหรือน้อย เป็นของเลวหรือประณีตไม่สำคัญ เมื่อเราได้ให้ทานไปตามกำลังทรัพย์ที่เรามีอยู่ย่อมใช้ได้ แต่ก็ยังมีข้ออันควรระวังอยู่ก็คือ " การทำทานนั้นอย่าได้เบียดเบียนตนเอง " เช่นมีน้อย แต่ฝืนทำให้มาก ๆ จนเกินกำลังของตนที่จะให้ได้ เมื่อได้ทำไปแล้วตนเองและสามี ภริยา รวมทั้งบุตรต้องลำบาก ขาดแคลน เพราะว่าไม่มีจะกินจะใช้ เช่นนี้ย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง เจตนานั้นย่อมไม่บริสุทธิ์ ทานที่ได้ทำไปแล้วนั้น แม้วัตถุทานจะมากหรือทำมาก ก็ย่อมได้บุญน้อย

    ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ทำทานด้วยเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ คือ

    ตัวอย่าง ๑ ทำทานเพราะอยากได้ ทำเอาหน้า ทำอวดผู้อื่น เช่น สร้างโรงเรียน โรงพยาบาลใส่ชื่อของตน ไปยืนถ่ายภาพลงโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อให้ได้รับความนิยมยกย่องนับถือ โดยที่แท้จริงแล้วตนมิได้มีเจตนาที่จะมุ่งสงเคราะห์ผู้ใด เรียกว่า " ทำทานด้วยความโลภ " ไม่ทำเพื่อขจัดความโลภ ทำทานด้วยความอยากได้ คืออยากได้หน้า ๆได้เกียรติ ได้สรรเสริญ ได้ความนิยมนับถือ

    ตัวอย่าง ๒ ทำทานด้วยความฝืนใจ ทำเพราะเสียไม่ได้ ทำด้วยความเสียหาย เช่นทีพวกพ้องมาเรี่ยไร ตนเองไม่มีศรัทธาที่จะทำ หรือมีศรัทธาอยู่บ้างแต่มีทรัพย์น้อย เมื่อมีพวกมาเรี่ยไรบอกบุญ ต้องจำใจทำทานไปเพราะความเกรงใจพวกพ้อง หรือเกรงว่าจะเสียหน้า ตนจึงได้สละทรัพย์ทำทานไปด้วยความจำใจ ย่อมเป็นการทำทานด้วยความตระหนี่หวงแหน ทำทานด้วยความเสียดาย ไม่ใช่ทำทานด้วยจิตเมตตาที่มุ่งจะสงเคราะห์ผู้อื่น ซึ่งยิ่งคิดก็ยิ่งเสียดาย ให้ไปแล้วก็เป็นทุกข์ใจ บางครั้งก็นึกโกรธผู้ที่มาบอกบุญ เช่นนี้จิตย่อมเศร้าหมอง ได้บุญน้อย หากเสียดายมาก ๆ จนเกิดโทสะจริตกล้าแล้ว นอกจากจะไม่ได้บุญแล้ว ที่จะได้ก็คือบาป

    ตัวอย่าง ๓ ทำทานด้วยความโลภ คือทำทานเพราะว่าอยากได้นั่น อยากได้นี่ อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ อันเป็นการทำทานเพราะว่าหวังสิ่งตอบแทน ไม่ใช่ทำทานเพราะมุ่งหมายที่จะขจัดความโลภ ความตระหนี่หวงแหนในทรัพย์ของตน เช่น ทำทานแล้วตั้งจิตอธิษฐานขอพรให้ชาติหน้าได้เป็นเทวดา นางฟ้า ขอให้รูปสวย ขอให้ทำมาค้าขึ้น ขอให้รำรวยเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี ทำทาน ๑๐๐ บาท แต่ขอให้ร่ำรวยนับล้าน ขอให้ถูกสลากกินแบ่งกินรวบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสมบัติสวรรค์ หากชาติก่อนไม่เคยได้ทำบุญใส่บาตรฝากสวรรค์เอาไว้ อยู่ๆก็มาขอเบิกในชาตินี้ จะมีที่ไหนให้เบิก การทำทานด้วยความโลภเช่นนี้ย่อมไม่ได้บุญอะไรเลย สิ่งที่จะได้พอกพูนเพิ่มให้มากและหนาขึ้นก็คือ " ความโลภ "

    ผลหรืออานิสงส์ของการทำทานที่ครบองค์ประกอบ ๓ ประการนั้น ย่อมมีผลให้ได้ซึ่งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติเอง แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งเจตนาเอาไว้ล่วงหน้าก็ตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากเหตุ เมื่อทำเหตุครบถ้วนย่อมมีผลเกิดขึ้นตามมาเอง เช่นเดียวกับปลูกต้นมะม่วง เมื่อรดน้ำพรวนดินและใส่ปุ๋ยไปตามธรรมดาเรื่อยไป แม้จะไม่อยากให้เจริญเติบโตและออกดอกออกผล ในที่สุดต้นไม้ก็จะต้องเจริญเติบโตและผลิตดอกออกผลตามมา สำหรับผลของทานนั้น หากน้อยหรือมีกำลังไม่มากนัก ย่อมน้อมนำให้เกิดในมนุษย์ชาติ หากมีกำลังแรงมากก็อาจจะน้อมนำให้ได้บังเกิดในเทวโลก ๖ ชั้น เมื่อได้เสวยสมบัติในเทวโลกจนสิ้นบุญแล้ว ด้วยเศษของบุญที่ยังคงหลงเหลืออยู่บ้าง ประกอบกับไม่มีอกุศลกรรมอื่นแทรกให้ผลก็อาจจะน้อมนำให้มาบังเกิดในมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง และเมื่อได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็ย่อมทำให้ได้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวยมั่งคั่ง สมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์ หรือไม่ก็เป็นผู้ที่มีลาภผลมาก ทำมาหากินขึ้นและร่ำรวยในภายหลัง ทรัพย์สมบัติไม่วิบัติหายนะไปเพราะวินาศภัย โจรภัย อัคคีภัย วาตภัย ฯลฯ

    แต่จะมั่งคั่งร่ำรวยในวัยใดก็ย่อมแล้วแต่ผลทานแต่ชาติก่อน ๆ จะส่งผล คือ

    ๑ . ร่ำรวยตั้งแต่วัยต้น เพราะผลของทานที่ได้ตั้งเจตนาไว้บริสุทธิ์ดีตั้งแต่ก่อนจะทำทาน คือก่อนที่จะลงมือทำทานก็มีจิตเมตตาโสมนัสร่าเริง เบิกบานยินดีในทานที่ตนจะได้ทำเพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น แล้วก็ได้ลงมือทำทานไปตามเจตนานั้น เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ย่อมโชคดี โดยเกิดในตระกูลที่ร่ำรวย ชีวิตในวัยต้นอุดมสมบูรณ์พูนสุขไปด้วยทรัพย์ ไม่ยากจนแร้นแค้น ไม่ต้องขวนขวายหาเลี้ยงตนเองมาก แต่ถ้าเจตนานั้นไม่งามบริสุทธิ์พร้อมกันทั้ง ๓ ระยะแล้ว ผลทานนั้นก็ย่อมส่งผลให้ไม่สม่ำเสมอกัน คือแม้ว่าจะร่ำรวยตั้งแต่วัยต้นโดยเกิดมาบนกองเงินกองทองก็ตาม หากในขณะที่กำลังลงมือทำทานเกิดจิตเศร้าหมองเพราะหวนคิดเสียดายหรือหวงแหนทรัพย์ที่จะให้ทานขึ้นมา หรือเกิดหมดศรัทธาขึ้นมาเฉยๆแต่ก็ยังฝืนใจทำทานไปเพราะเสียไม่ได้หรือเพราะตามพวกพ้องไปอย่างเสียไม่ได้ เช่นนี้ผลทานย่อมหมดกำลังให้ผลระยะที่ ๒ ซึ่งตรงกับวัยกลางคน ซึ่งจะมีผลทำให้ทรัพย์สมบัติหายนะไปด้วยประการต่างๆแม้จะได้รับมรดกมาก็ไม่อาจจะรักษาไว้ได้ หากเจตนาในการทำทานนั้นเศร้าหมองในระยะที่ ๓ คือทำทานไปแล้วหวนคิดขึ้นมาทำให้เสียดายทรัพย์ ความหายนะก็มีผลต่อเนื่องมาจนบั้นปลายชีวิตด้วย คือทรัพย์สินคงวิบัติเสียหายต่อเนื่องจากวัยกลางคนตลอดไปจนถึงตลอดอายุขัยชีวิตจริงของผู้ที่เกิดบนกองเงินกองทองก็มีให้เห็น เป็นตัวอย่างที่เมื่อได้รับทรัพย์มรดกแล้วก็วิบัติเสียหายไป หรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในวัยต้นแต่ก็ต้องล้มละลายในวัยกลางคน และบั้นปลายชีวิต แต่ถ้าได้ตั้งเจตนาในการทำทานไว้บริสุทธิ์ครบถ้วนพร้อม ๓ ระยะแล้ว ผลทานนั้นย่อมส่งผลสม่ำเสมอ คือร่ำรวยตั้งแต่เกิด วัยกลางคนและจนปัจฉิมวัย

    ๒ . ร่ำรวยในวัยกลางคนการที่ร่ำรวยในวัยกลางคนนั้น สืบเนื่องมาจากผลของทานที่ได้ทำเพราะเจตนางามบริสุทธิ์ในระยะที่ ๒ กล่าวคือไม่งามบริสุทธิ์ในระยะแรก เพราะก่อนที่จะลงมือทำทานก็มิได้มีจิตศรัทธามาก่อน ไม่คิดจะทำทานมาก่อนแต่ก็ได้ตัดสินใจทำทานไปเพราะเหตุบางอย่าง เช่นทำตามพวกพ้องอย่าเสียไม่ได้ แต่เมื่อได้ลงมือทำทานอยู่ก็เกิดโสมนัสรื่นเริงยินดีในทานที่กำลังกระทำอยู่นั้น ด้วยผลทานชนิดนี้ย่อมทำให้มาบังเกิดในตระกูลที่ยากจนคับแค้น ต้องต่อสู้สร้างตนเองมาในวัยต้น ครั้นเมื่อถึงวัยกลางคน กิจการหรือธุรกิจที่ทำก็ประสบความสำเร็จรุ่งเรื่อง และหากเจตนาในการทำทานได้งามบริสุทธิ์ในระยะที่ ๓ ด้วย กิจการหรือธุรกิจนั้นย่อมส่งผลรุ่งเรื่องตลอดไปจนถึงบั้นปลายชีวิต หากเจตนาในการทำทานไม่บริสุทธิ์ในระยะที่ ๓ แม้ธุรกิจหรือกิจการงานจะประสบความสำเร็จรุ่งเรืองในวัยกลางคน แต่ก็ล้มเหลวหายนะในบั้นปลาย ทั้งนี้เพราะผลทานหมดกำลังส่งผลไม่ตลอดจนถึงบั้นปลาชีวิต

    ๓ . ร่ำรวยปัจฉิมวัย คือร่ำรวยในบั้นปลายชีวิตนั้น สืบเนื่องมาจากผลทานที่ผู้กระทำมีเจตนางามไม่บริสุทธิ์ในระยะแรกและระยะที่ ๒ แต่งามบริสุทธิ์เฉพาะในระยะที่ ๓ กล่าวคือ ก่อนและในขณะลงมือทำทานอยู่นั้น ก็มิได้มีจิตโสมนัสยินดีในการทำทานนั้นแต่อย่างใด แต่ได้ทำลงไปโดยบังเอิญ เช่น ทำตามๆพวกพ้องไปอย่างเสียมิได้ แต่เมื่อได้ทำไปแล้วต่อมาหวนคิดถึงผลทานนั้น ก็เกิดจิตโสมนัสร่าเริง ยินดีเบิกบาน หากผลทานชนิดนี้จะน้อมนำให้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเกิดในตระกูลที่ยากจนข้นแค้น ต้องต่อสู้ดิ้นรนศึกษาเล่าเรียนและขวนขวายสร้างตนเองมากตั้งแต่วัยต้นจนล่วงวัยกลางคนไปแล้ว กิจการงานหรือธุรกิจนั้นก็ยังไม่ประสบกับความสำเร็จ เช่นต้องล้มลุกคลุกคลานตลอดมา แต่ครั้นถึงบั้นปลายชีวิตก็ประสบช่องทางเหมาะ ทำให้กิจการนั้นเจริญรุ่งเรื่องทำมาค้าขึ้นและร่ำรวยอย่างไม่คาดหมาย ซึ่งชีวิตจริง ๆ ของคนประเภทนี้ก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่มาก

    องค์ประกอบข้อที่ ๓ . " เนื้อนาบุญต้องบริสุทธิ์ "
    คำว่า " เนื้อนาบุญ " ในที่นี่ได้แก่บุคคลผู้รับการทำทานของผู้ทำทานนั้นเอง นับว่าเป็นองค์ประกอบข้อที่สำคัญที่สุด แม้ว่าองค์ประกอบในการทำทานข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ จะงามบริสุทธิ์ครบถ้วนดีแล้ว กล่าวคือวัตถุที่ทำทานนั้นเป็นของที่แสวงหาได้มาด้วยความบริสุทธิ์ เจตนาในการทำทานก็งามบริสุทธิ์พร้อมทั้งสามระยะ แต่ตัวผู้ที่ได้รับการทำทานเป็นคนที่ไม่ดี ไม่ใช่ผู้ที่เป็นเนื้อนาบุญที่บริสุทธิ์ เป็นเนื้อนาบุญที่เลว ทานที่ทำไปนั้นก็ไม่ผลิดอกออกผล
    เปรียบเหมือนกับการหว่านเมล็ดข้าวเปลือกลงในพื้นนา ๑ กำมือ
    แม้เมล็ดข้าวนั้นจะเป็นพันธุ์ดีที่พร้อมจะงอกงาม ( วัตถุทานบริสุทธิ์ )
    และ ผู้หว่านคือกสิกรก็มีเจตนาจะหว่านเพื่อทำนาให้เกิดผลิตผลเป้นอาชีพ ( เจตนาบริสุทธิ์ ) แต่หากที่นานั้นเป็นที่ที่ไม่สม่ำเสมอกัน เมล็ดข้าวที่หว่านลงไปก็งอกเงยไม่เสมอกัน โดยเมล็ดที่ไปตกในที่เป็นดินดี ปุ๋ยดี มีน้ำอุดมสมบูรณ์ดี ก็จะงอกเงยมีผลิตผลที่สมบูรณ์ ส่วนเมล็ดที่ไปตกบนพื้นนาที่แห้งแล้ง มีแต่กรวดกับทรายและขาดน้ำก็จะแห้งเหี่ยวหรือเฉาตายไป หรือไม่งอกเงยเสียเลย การทำทานนั้น ผลิตผลที่ผู้ทำทานจะได้รับก็คือ " บุญ " หากผู้ที่รับการให้ทานไม่เป็นเนื้อนาที่ดีสำหรับการทำบุญแล้ว ผลของทานคือบุญก็จะได้เกิดขึ้น แม้จะเกิดก็ไม่สมบูรณ์ เพราะแกร็นหรือแห้งเหี่ยวเฉาไปด้วยประการต่าง ๆ
    ฉะนั้นในการทำทาน ตัวบุคคลผู้รับของที่เราให้ทานจึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด เราผู้ทำทานจะได้บุญมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับคนพวกนี้ คนที่รับการให้ทานนั้นหากเป็นผู้ที่มีศีลธรรมสูง ก็ย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่ดี ทานที่เราได้ทำไปแล้วก็เกิดผลบุญมาก หากผู้รับการให้ทานเป็นผู้ที่ไม่มีศีลไม่มีธรรม ผลของทานก็ไม่เกิดขึ้น คือได้บุญน้อย ฉะนั้นคติโบราณที่กล่าวว่า " ทำบุญอย่าถามพระ หรือ ตักบาตรอย่าเลือกพระ " เห็นจะใช้ไม่ได้ในสมัยนี้ เพราะว่าในสมัยนี้ไม่เหมือนกับท่านในสมัยก่อนๆที่บวชเพราะมุ่งจะหนีสงสาร โดยมุ่งจะทำมรรคผลและนิพพานให้แจ้ง ท่านจึงเป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐ แต่ในสมัยนี้มีอยู่บางคนที่บวชด้วยคติ ๔ ประการ คือ " บวชเป็นประเพณี บวชหนีทหาร บวชผลาญข้าวสุก บวชสนุกตามเพื่อน " ธรรมวินัยใดๆท่านไม่สนใจ เพียงแต่มีผ้าเหลืองห่มกาย ท่านก็นึกว่าตนเป็นพระและเป็นเนื้อนาบุญเสียแล้ว ซึ่งป่วยการจะกล่าวไปถึงศีลปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อ แม้แต่เพียงศีล ๕ ก็ยังเอาแน่ไม่ได้ว่าท่านจะมีหรือไม่ การบวชที่แท้จริงแล้วก็เพื่อจะละความโลภ ความโกรธ ความหลง ปัญหาว่า


    ทำอย่างไรจึงจะได้พบกับท่านที่เป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐ ข้อนี้ก็ย่อมขึ้นอยู่กับวาสนาของเราผู้ทำทานเป็นสำคัญ หากเราได้เคยสร้างสมอบรมสร้างบารมีมาด้วยดีในอดีตชาติเป็นอันมากแล้ว บารมีนั้นก็จะเป็นพลังวาสนาน้อมนำให้ได้พบกับท่านที่เป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐ ทำทานครั้งใดก็มักโชคดี ได้พบกับท่านที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไปเสียทุกครั้ง หากบุญวาสนาของเราน้อยและไม่มั่นคง ก็จะได้พบกับท่านที่เป็นเนื้อนาบุญบ้าง ได้พบกับอลัชชีบ้าง คือดีและชั่วคละกันไป เช่นเดียวกับการซื้อสลากกินแบ่งสลากกินรวบ หากมีวาสนาบารมีเพราะได้เคยทำบุญให้ทานฝากกับสวรรค์ไว้ในชาติก่อน ๆ ก็ย่อมมีวาสนาให้ถูกรางวัลได้ หากไม่มีวาสนาเพราะไม่เคยทำบุญทำทานฝากสวรรค์เอาไว้เลย ก็ไม่มีสมบัติสวรรค์อะไรที่จะให้เบิกได้ อยู่ ๆ ก็จะมาขอเบิก เช่นนี้ก็ยากที่จะถูกรางวัลได้ <!--MsgFile=2-->

    สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า แม้วัตถุทานจะบริสุทธิ์ดี เจตนาในการทำทานจะบริสุทธิ์ดี จะทำให้ทานนั้นมีผลมากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อนาบุญเป็นลำดับต่อไปนี้ คือ


    ๑ . ทำทานแก่สัตว์เดรัจฉาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่มนุษย์ แม้จะเป็นมนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมเลยก็ตาม ทั้งนี้เพราะสัตว์ย่อมมีวาสนาบารมีน้อยกว่ามนุษย์และสัตว์ไม่ใช่เนื้อนาบุญที่ดี

    ๒ . ให้ทานแก่มนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมวินัย แม้จะให้มากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้ที่มีศีล ๕ แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม

    ๓ . ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล ๕ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้มีศีล ๘ แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม

    ๔ . ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล ๘ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานแก่ผู้มีศีล ๑๐ คือสามเณรในพุทธศาสนา แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม

    ๕ . ถวายทานแก่สามเณรซึ่งมีศีล ๑๐ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่พระสมมุติสงฆ์ ซึ่งมีศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อ
    พระด้วยกันก็มีคุณธรรมแตกต่างกัน จึงเป็นเนื้อนาบุญที่ต่างกัน บุคคลที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนามีศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสเรียกว่าเป็น " พระ " แต่เป็นเพียงพระสมมุติเท่านั้น เรียกกันว่า " สมมุติสงฆ์ " พระที่แท้จริงนั้น หมายถึงบุคคลที่บรรลุคุณธรรมตั้งแต่พระโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบันเป็นต้นไป ไม่ว่าท่านผู้นั้นจะได้บวชหรือเป็นฆราวาสก็ตาม นับว่าเป็น " พระ " ทั้งสิ้น และพระด้วยกันก็มีคุณธรรมต่างกันหลายระดับชั้น จากน้อยไปหามากดังนี้คือ " พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธมเจ้า " และย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

    ๖ . ถวายทานแก่พระสมมุติสงฆ์ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแก่ - พระโสดาบัน แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม ( ความจริงยังมีการแยกเป็นพระโสดาปัตติมรรคและพระโสดาปัตติผล ฯลฯ เป็นลำดับไปจนถึงพระอรหัตผล แต่ในที่นี้จะกล่าวแต่เพียงย่นย่อพอให้ได้ความเท่านั้น )

    ๗ . ถวายทานแก่พระโสดาบัน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระสกิทาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม

    ๘ . ถวายทานแก่พระสกิทาคามี แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอนาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม

    ๙ . ถวายทานแก่พระอนาคามี แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอรหันต์ แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม

    ๑๐ . ถวายทานแก่พระอรหันต์ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม

    ๑๑ . ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแด่พระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม

    ๑๒ . ถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายสังฆทานที่มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะถวายสังฆทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม

    ๑๓ . การถวายสังฆทานที่มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่า " การถวายวิหารทาน " แม้จะได้กระทำแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม " วิหารทาน ได้แก่การสร้างหรือร่วมสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ศาลาโรงธรรม ศาลาท่าน้ำ ศาลาที่พักอาศัยคนเดินทางอันเป็นสาธารณะประโยชน์ที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน " อนึ่ง การสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์หรือสิ่งที่ประชาชนใประโยชน์ร่วมกัน แม้จะไม่เกี่ยวเนื่องกับกิจในพระพุทธศาสนา เช่น " โรงพยาบาล โรงเรียน บ่อน้ำ แท็งก์น้ำ ศาลาป้ายรถยนต์โดยสารประจำทาง สุสาน เมรุเผาศพ " ก็ได้บุญมากในทำนองเดียวกัน

    ๑๔ . การถวายวิหารทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ( ๑๐๐ หลัง ) ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ " ธรรมทาน " แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม " การให้ธรรมทานก็คือการเทศน์ การสอนธรรมะแก่ผู้อื่นที่ยังไม่รู้ให้รู้ได้ ที่รู้อยู่แล้วให้รู้ยิ่งๆขึ้น ให้ได้เข้าใจมรรค ผล นิพพาน ให้ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฐิได้กลับใจเป็นสัมมาทิฐิ ชักจูงผู้คนให้เข้าปฏิบัติธรรม รวมตลอดถึงการพิมพ์การแจกหนังสือธรรมะ "

    ๑๕ . การให้ธรรมทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ " อภัยทาน " แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม การให้อภัยทานก็คือ " การไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้ายผู้อื่นแม้แต่ศัตรู " ซึ่งได้บุญกุศลแรงและสูงมากในฝ่ายทาน เพราะเป็นการบำเพ็ญเพียรเพื่อ " ละโทสะกิเลส " และเป็นการเจริญ " เมตตาพรหมวิหารธรรม " อันเป็นพรหมวิหารข้อหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ ให้เกิดขึ้น อันพรหมวิหาร ๔ นั้น เป็นคุณธรรมที่เป็นองค์ธรรมของโยคีบุคคลที่บำเพ็ญฌานและวิปัสสนา ผู้ที่ทรงพรหมวิหาร ๔ ได้ย่อมเป็นผู้ทรงฌาน ซึ่งเมื่อเมตตาพรหมวิหารธรรมได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อใด ก็ย่อมละเสียได้ซึ่ง " พยาบาท " ผู้นั้นจึงจะสามารถให้อภัยทานได้ การให้อภัยทานจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและยากเย็น จึงจัดเป็นทานที่สูงกว่าการให้ทานทั้งปวง
    อย่างไรก็ดี การให้อภัยทานแม้จะมากเพียงใด แม้จะชนะการให้ทานอื่น ๆ ทั้งมวล ผลบุญนั้นก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า " ฝ่ายศีล " เพราะเป็นการบำเพ็ญบารมีคนละขั้นต่างกัน <!--MsgFile=3-->
     
  2. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,027
    อานิสงค์ ของการสร้างบุญบารมี (2)

    โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


    ศีล

    " ศีล " นั้น แปลว่า " ปกติ " คือสิ่งหรือกติกาที่บุคคลจะต้องระวังรักษาตามเพศและฐานะ ศีลนั้นมีหลายระดับคือ ศีล๕ ศิล ๘ ศิล ๑๐ และ ศีล ๒๒๗ และในบ รรดาศีลชนิดเดียวกันก็ยังจัดแบ่งออกเป็นระดับธรรมดา มัชฌิมศีล ( ศีลระดับกลาง ) และอธิศีล ( ศีลอย่างสูง ศีลอย่างอุกฤษฏ์ )
    คำว่า " มนุษย์ " นั้น คือผู้ที่มีใจอันประเสริฐ คุณธรรมที่เป็นปกติของมนุษย์ที่จะต้องทรงไว้ให้ได้ตลอดไปก็คือศีล ๕ บุคคลที่ไม่มีศีล ๕ ไม่เรียกว่ามนุษย์ แ ต่อาจจะเรียกว่า " คน " ซึ่งแปลว่า " ยุ่ง " ในสมัยพระพุทธกาลผู้คนมักจะมีศีล ๕ ประจำใจกันเป็นนิจ ศีล ๕ จึงเป็นเรื่องปกติของบุคคลในสมัยนั้น และจัดว่าเป็น " มนุษย์ธรรม " ส่วนหนึ่งในมนุษย์ธรรม ๑๐ ประการ ผู้ที่จะมีวาสนาได้เกิดมาเป็นมนุษย์จะต้องถึงพร้อมด้วยมนุษย์ธรรม ๑๐ ประการเป็นปกติ ( ซึ่งรวมถึงศีล ๕ ด้วย ) รายละเอียดจะมีประการใดจะไม่กล่าวถึงในที่นี้

    การรักษาศีลเป็นการเพียรพยายามเพื่อระงับโทษทางกายและวาจา อันเป็นเพียงกิเลสหยาบมิให้กำเริบขึ้น และเป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงขึ้นกว่าการให้ทาน

    ทั้งในการถือศีลด้วยกันเองก็ยังได้บุญมากและน้อยต่างกันไปตามลำดับต่อไปนี้ คือ

    ๑ . การให้อภัยทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๕ แม้จะถือเพียงครั้งเดียวก็ตาม

    ๒ . การถือศีล ๕ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๘ แม้จะถือเพียงครั้งเดียวก็ตาม

    ๓ . การถือศีล ๘ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๑๐ คือการบวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แม้จะบวชมาได้เพียงวันเดียวก็ตาม

    ๔ . การที่ได้บวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แล้ว รักษาศีล ๑๐ ไม่ให้ขาด ไม่ด่างพร้อย แม้จะนานถึง ๑๐๐ ปี ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนาที่มี ศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อ แม้จะบวชมาได้เพียงวันเดียวก็ตาม



    ฉะนั้นในฝ่ายศีลแล้ว การที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนาได้บุญบารมีมากที่สุด เพราะเป็นเนกขัมบารมีในบารมี ๑๐ ทัศ ซึ่งเป็นการออกจากกามเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติธรรมขั้นสูง ๆ คือการภาวนาเพื่อมรรค ผล นิพพาน ต่อ ๆ ไป ผลของการรักษาศีลนั้นมีมาก ซึ่งจะยังประโยชน์สุขให้แก่ผู้นั้นทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เมื่อได้ละอัตภาพนี้ไปแล้วย่อมส่งผลให้ได้บังเกิดในเทวโลก ๖ ชั้น ซึ่งล้วนแต่ความละเอียดประณีตของศีลที่รักษาและที่บำเพ็ญมา ครั้นเมื่อสิ้นบุญในเทวโลกแล้ว ด้วยเศษของบุญที่ยังคงหลงเหลืออยู่แต่เพียงเล็กๆน้อยๆหากไม่มีอกุลกรรมอื่นมาให้ผล ก็อาจจะน้อมนำให้ได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ที่ถึงพร้อมด้วยสมบัติ ๔ ประการ เช่น อานิสงส์ของการรักษา ศีล ๕ กล่าวคือ

    ๑ . ผู้ที่รักษาศีลข้อที่ ๑ ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ด้วยเศษของบุญที่รักษาข้อนี้ เมื่อน้อมนำมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะมีพลานามัยที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัย ไม่ขี้โรค อายุยืนยาว ไม่มีศัตรูเบียดเบียนให้ต้องบาดเจ็บ ไม่มีอุบัติเหตุต่างๆที่จะทำให้บาดเจ็บหรือสิ้นอายุเสียก่อนวัยอันควร

    ๒ . ผู้ที่รักษาศีลข้อที่ ๒ ด้วยการไม่ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่เจ้าของมิได้เต็มใจให้ ด้วยเศษของบุญที่น้อมนำมาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้ได้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวย การทำมาหาเลี้ยงชีพในภายหน้ามักจะประสบกับช่องทางที่ดี ทำมาค้าขึ้นและมั่งมีทรัพย์ ทรัพย์สมบัติไม่วิบัติหายนะไปด้วยภัยต่างๆเช่น อัคคีภัย วาตภัย โจรภัย ฯลฯ

    ๓ . ผู้ที่รักษาศีลข้อที่ ๓ ด้วยการไม่ล่วงประเวณีในคู่ครอง หรือคนในปกครองของผู้อื่น ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลในข้อนี้ เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็จะประสบโชคดีในความรัก มักได้พบกับรักแท้ที่จริงจังและจริงใจ ไม่ต้องอกหัก อกโรย และอกเดาะ ครั้นเมื่อมีบุตรธิดาก็ว่านอนสอนง่าย ไม่ดื้อด้าน ไม่ถูกผู้อื่นฉุดคร่าอนาจารไปทำให้เสียหาย บุตรธิดาย่อมเป็นอภิชาตบุตร ซึ่งจะนำเกียรติยศชื่อเสียงมาสู่วงศ์ตระกูล

    ๔ . ผู้ที่รักษาศีลข้อที่ ๔ ด้วยการไม่กล่าวมุสา ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อนำมาเกิดเป็นมนุษย์ จะทำให้เป็นผู้ที่มีสุ้มเสียงไพเราะ พูดจามีน้ำมีนวลชวนฟัง มีเหตุมีผลชนิดที่เป็น " พุทธวาจา " มีโวหารปฏิภาณไหวพริบในการเจรจา จะเจรจาความสิ่งใดก็มีผู้ฟังและเชื่อถือ สามารถว่ากล่าวสั่งสอนบุตรธิดาและศิษย์ให้อยู่ในโอวาทได้ดี

    ๕ . ผู้ที่รักษาศีลข้อที่ ๕ ด้วยการไม่ดื่มสุราเมรัย เครื่องหมักดองของมึนเมา ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อนำมาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้เป็นผู้ที่มีสมอง ประสาท ปัญญา ความคิดแจ่มใส จะศึกษาเล่าเรียนสิ่งใดก็แตกฉานและทรงจำได้ง่าย ไม่หลงลืมฟั่นเฟือนเลอะเลือน ไม่เสียสติวิกลจริต ไม่เป็นโรคสมอง โรคประสาท ไม่ปัญญาทราม ปัญญาอ่อนหรือปัญญานิ่ม


    อานิสงส์ของศีล ๕ มีดังกล่าวข้างต้น สำหรับศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ ก็ย่อมมีอานิสงส์เพิ่มพูนมากยิ่ง ๆ ขึ้นตามระดับและประเภทของศีลที่รักษา แต่ศีลนั้นแม้นจะมีอานิสงส์เพียงไรก็ยังเป็นแต่เพียงการบำเพ็ญบุญบารมีในชั้นกลาง ๆ ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะเป็นแต่เพียงระเบียบหรือกติกาที่จะรักษากายและวาจาให้สงบ ไม่ให้ก่อให้เกิดทุกข์โทษขึ้นทางกายและวาจาเท่านั้น ส่วนทางจิตใจนั้นศีลยังไม่สามารถที่จะควบคุมหรือทำให้สะอาดบริสุทธิ์ได้

    ฉะนั้น การรักษาศีลจึงยังได้บุญน้อยกว่า การภาวนา เพราะการภาวนานั้น เป็นการรักษาใจ รักษาจิต และซักฟอกจิตให้เบาบางหรือจนหมดกิเลสคือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง อันเป็นเครื่องร้อยรัดให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสงสารวัฏ การภาวนา จึง เป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงสุด ประเสริฐที่สุด ได้บุญมากที่สุดเป็นกรรมดีอันยิ่งใหญ่เรียกว่า " มหัคคตกรรม " อันเป็นมหัคคตกุศล
     
  3. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,027
    อานิสงค์ ของการสร้างบุญบารมี ( 3 )
    โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก




    ภาวนา
    การเจริญภาวนา นั้น เป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนา จัดว่าเป็นแก่นแท้และสูงกว่าฝ่ายศีลมากนัก การเจริญภาวนานั้น มี ๒ อย่างคือ " สมถภาวนา ( การทำสมาธิ )" และ " วิปัสสนาภาวนา ( การเจริญปัญญา )" แยกอธิบายดังนี้ คือ ๑ . สมถภาวนา ( การทำสมาธิ ) สมถภาวนา ได้แก่การทำจิตให้เป็นสมาธิหรือเป็นฌาน ซึ่งก็คือการทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านแส่ส่ายไปยังอารมณ์อื่น ๆ วิธีภาวนานั้น มีมากมายหลายร้อยชนิด ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบัญญัติแบบอย่างเอาไว้ ๔๐ ประการ เรียกกันว่า " กรรมฐาน ๔๐ " ซึ่งผู้ใดจะเลือกใช้วิธีใดก็ได้ตามแต่สมัครใจ ทั้งนี้ย่อมสุดแล้วแต่อุปนิสัยและวาสนาบารมีที่ได้เคยสร้างอบรมมาแต่ในอดีตชาติ เมื่อสร้างสมอบรมมาในกรรมฐานกองใด จิตก็มักจะน้อมชอบกรรมฐานกองนั้นมากกว่ากองอื่น ๆ และการเจริญภาวนาก็ก้าวหน้าเร็วและง่าย แต่ไม่ว่าจะเลือกปฏิบัติวิธีใดก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาศีลให้ครบถ้วนบริบูรณ์ตามเพศของตนเสียก่อน คือหากเป็นฆราวาสก็จะต้องรักษาศีล ๕ เป็นอย่างน้อย หากเป็นสามเณรก็จะต้องรักษาศีล ๑๐ หากเป็นพระก็จะต้องรักษาศีลปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อให้บริบูรณ์ ไม่ให้ขาดปละด่างพร้อย จึงจะสามารถทำจิตให้เป็นฌานได้ หากว่าศีลยังไม่มั่นคง ย่อมเจริญฌานให้เกิดขึ้นได้โดยยาก เพราะศีลย่อมเป็นบาทฐาน ( เป็นกำลัง ) ให้เกิดสมาธิขึ้น อานิสงส์ของสมาธินั้น มีมากกว่าการรักษาศีลอย่างเทียบกันไม่ได้ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า " แม้จะได้อุปสมบทเป็นภิกษุรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ ไม่เคยขาด ไม่ด่าวพร้อยมานานถึง ๑๐๐ ปี ก็ยังได้บุญกุศลน้อยกว่าผู้ที่ทำสมาธิเพียงให้จิตสงบนานเพียงชั่วไก่กระพือปีก ช้างกระดิกหู " คำว่า " จิตสงบ " ในที่นี้หมายถึงจิตที่เป็นอารมณ์เดียวเพียงชั่ววูบ ที่พระท่านเรียกว่า " ขนิกสมาธิ " คือสมาธิเล็ก ๆน้อย ๆ สมาธิแบบเด็ก ๆที่เพิ่งหัดตั้งไข่ คือหัดยืนแล้วก็ล้มลงแล้วก็ลุกขึ้นยืนใหม่ ซึ่งเป็นอารมณ์จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น สงบวูบลงเล็กน้อยแล้วก็รักษาไว้ไม่ได้ ซึ่งยังห่างไกลต่อการที่จิตถึงขั้นเป็นอุปจารสมาธิและฌาน แม้กระนั้นก็ยังมีอานิสงส์มากมายถึงเพียงนี้ โดยหากผู้ใดทรงจิตอารมณ์อยู่ในขั้นขณิกสมาธิแล้วบังเอิญตายลงในขณะนั้น อานิสงส์นี้จะส่งผลให้ไปบังเกิดในเทวโลกชั้นที่ ๑ คือชั้นจาตุมหาราชิกา หากจิตยึดไตรสรณคมน์ ( มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันสูงสุดด้วย ก็เป็นเทวดาชั้นที่ ๒ คือ ดาวดึงส์ ) สมาธินั้นมีหลายขั้นตอน ระยะก่อนที่จะเป็นฌาน ( อัปปนาสมาธิ ) ก็คือขณิกสมาธิและอุปจารสมาธิ ซึ่งอานิสงส์ส่งให้ไปบังเกิดในเทวโลก ๖ ชั้น แต่ยังไม่ถึงชั้นพรหมโลก สมาธิในระดับอัปปนาสมาธิหรือฌานนั้น มีรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลให้ไปบังเกิดในพรหมโลกรวม ๒๐ ชั้น แต่จะเป็นชั้นใดย่อมสุดแล้วแต่ความละเอียดประณีตของกำลังฌานที่ได้ ( เว้นแต่พรหมโลกชั้นสุทธาวาส คือ ชั้นที่ ๑๒ ถึงชั้นที่ ๑๖ ซึ่งเป็นที่เกิดของพระอนาคามีบุคคลโดยเฉพาะ ) รูปฌาน ๑ ส่งผลให้บังเกิดในพรหมโลกชั้นที่ ๑ ถึงชั้นที่ ๓ สุดแล้วแต่ความละเอียดประณีตของกำลังฌาน ๑ ส่วนอรูปฌานที่เรียกว่า " เนวสัญญา นาสัญญายตนะ " นั้น ส่งผลให้บังเกิดในพรหมโลกชั้นสูงสุด คือชั้นที่ ๒๐ ซึ่งมีอายุยืนยาวถึง ๘๔ , ๐๐๐ มหากัป เรียกกันว่า นิพพานพรหม คือนานเสียจนเกือบหาเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดมิได้ จนเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นนิพพาน การทำสมาธิเป็นการสร้างบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ ลงทุนน้อยที่สุดเพราะไม่ต้องเสียเงินเสียทอง ไม่ได้เหนื่อยยากต้องแบกหามแต่อย่างใด เพียงแต่คอยระวังรักษาสติ คุ้มครองจิตมิให้แส่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่น ๆ โดยให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น การทำทานเสียอีกยังต้องเสียเงินเสียทอง การสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาโรงธรรมยังต้องเสียทรัพย์ และบางทีก็ยังต้องเข้าช่วยแบกหามเหนื่อยกาย แต่ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการทำสมาธิอย่างเทียบกันไม่ได้ อย่างไรก็ดี การเจริญสมถภาวนา หรือสมาธินั้น แม้จะได้บุญอานิสงส์มากมายมหาศาลอย่างไร ก็ยังไม่ใช่บุญกุศลที่สูงสุดยอดในพระพุทธศาสนา หากจะเปรียบกับต้นไม้ก็เป็นเพียงเนื้อไม้เท่านั้น การเจริญวิปัสสนา ( การเจริญปัญญา ) จึงจะ เป็นการสร้างบุญกุศลที่สูงสุดยอดในพระพุทธศาสนา หากจะเปรียบก็เป็นแก่นไม้โดยแท้
    ๒ . วิปัสสนาภาวนา ( การเจริญปัญญา )
    เมื่อจิตของผู้บำเพ็ญตั้งมั่นในสมาธิจนมีกำลังดีแล้ว เช่นอยู่ในระดับฌานต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นฌานในระดับใดก็ตาม
    แม้แต่จะอยู่แค่เพียงอุปจารสมาธิ จิตของผู้บำเพ็ญเพียรก็ย่อมมีกำลังและอยู่ในสภาพที่นุ่มนวล ควรแก่การเจริญวิปัสสนาต่อไปได้

    อารมณ์ของวิปัสสนานั้น แตกต่างไปจากอารมณ์ของสมาธิ เพราะว่าสมาธินั้นมุ่งแต่ให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งแต่อารมณ์เดียวโดยแน่นิ่งอยู่เช่นนั้น ไม่นึกคิดอะไร ๆ
    แต่วิปัสสนาไม่ใช่ให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวนิ่งอยู่เช่นนั้น แต่เป็นจิตที่คิดและใคร่ครวญหาเหตุและผลในสภาวธรรมทั้งหลายและสิ่งที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนานั้น มีแต่เพียงอย่างเดียวคือ " ขันธ์ ๕ " ซึ่งนิยมเรียกกันว่า " รูป - นาม " โดย รูป มี ๑ ส่วน นาม นั้นมี ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

    ขันธ์ ๕ ดังกล่าวเป็นเพียงอุปาทานขันธ์ เพราะแท้จริงแล้วเป็นแต่เพียงสังขารธรรมที่เกิดขึ้นเนื่องจากการปรุงแต่ง แต่เพราะอวิชชา คือความไม่รู้เท่าสภาวธรรม จึงทำให้เกิดความยึดมั่นด้วยอำนาจอุปาทานเป็นตัวตนและของตน การเจริญวิปัสสนาก็โดยมีจิตพิจารณาจนรู้แจ้งเห็นจริงว่า อันสภาวธรรมทั้งหลายอันได้แก่ขันธ์ ๕ นั้นล้วนแต่มีอาการเป็น พระไตรลักษณ์ คือ เป็น อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา โดย

    ๑ . อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง คือสรรพสิ่งทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ สมบัติ เพชร หิน ดิน ทราย และรูปกายของเรา ล้วนแต่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ไม่อาจจะตั้งมั่นทรงอยู่ในสภาพเดิมได้ เช่นคนและสัตว์ เมื่อมีการเกิดขึ้นแล้วก็มีการเจริญเติบโตเป็นหนุ่มสาวและเฒ่าแก่จนตายไปในที่สุด ไม่มีเว้นไปได้ทุกผู้คน แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย พรหมและเทวดา ฯลฯ

    สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่งที่เรียกว่าอุปาทานขั้นธ์ ๕ เช่น รูปกาย ล้วนแต่เป็นแร่ธาตุต่างๆมาประชุมรวมกันเป็นหน่วยเล็กๆของชีวิตขึ้นมาก่อน ซึ่งเล็กจนตาเปล่ามองๆไม่เห็น เรียกกันว่า " เซลล์ " แล้วบรรดาเซลล์เหล่านั้นก็มาประชุมรวมกันเป็นรูปร่างของคนและสัตว์ขึ้น ซึ่งหน่วยชีวิตเล็กๆเหล่านั้นก็มีการเจริญเติบโตและแตกสลายไป แล้วเกิดของใหม่ขึ้นมาแทนที่อยู่ตลอดเวลา ล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้แน่นอน

    ๒ . ทุกขัง ได้แก่ " สภาพที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ " ทุกขัง ในที่นี้ไม่ได้หมายความแต่เพียงว่าเป็นความทุกข์กายทุกใจเท่านั้น แต่การทุกข์กายทุกข์ใจก็เป็นลักษณะส่วนหนึ่งของทุกขังในที่นี้ สรรพสิ่งทั้งหลายอันเป็นสังขารธรรม เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่อาจที่จะทนตั้งอยู่ในสภาพนั้น ๆได้ตลอดไป ไม่อาจจะทรงตัวและต้องเปลี่ยนแปลงตลอดไป เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น เมื่อได้เกิดมาเป็นเด็กจะให้ทรงสภาพเป็นเด็ก ๆ เช่นนั้นตลอดไปหาได้ไม่ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนหนุ่มและสาวแล้วก็เฒ่าแก่ จนในที่สุดก็ต้องตายไป แม้แต่ขันธ์ที่เป็นนามธรรมอันได้แก่เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ไม่มีสภาพทรงตัวเช่นเดียวกัน เช่นขันธ์ที่เรียกว่าเวทนา อันได้แก่ความทุกข์กายทุกข์ใจ และความไม่สุขไม่ทุกข์ ซึ่งเมื่อมีเกิดเป็นอารมณ์ดังกล่าวอย่างใดขึ้นแล้ว จะให้คงทรงอารมณ์เช่นนั้นให้ตลอดไปย่อมไม่ได้ นานไปอารมณ์เช่นนั้นหรือเวทนาเช่นนั้นก็ค่อยๆจางไปแล้วเกิดอารมณ์ใหม่ชนิดอื่นขึ้นมาแทน

    ๓ . อนัตตา ได้แก่ " ความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งของ " โดยสรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ล้วนแต่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เช่น รูปขันธ์ย่อมประกอบขึ้นด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ มาประชุมรวมกันเป็นกลุ่มก้อน เป็นหน่วยชีวิตเล็ก ๆ ขึ้นก่อน เรียกในทางวิทยาศาสตร์ว่าเซลล์ แล้วเซลล์เหล่านั้นก็ประชุมรวมกันเป็นรูปใหญ่ขึ้น จนเป็นรูปกายของคนและสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งพระท่านรวมเรียกหยาบ ๆ ว่าเป็นธาตุ ๔ มาประชุมรวมกัน โดยส่วนที่เป็นของแข็งมีความหนักแน่น เช่น เนื้อ กระดูก ฯลฯ เรียกว่า " ธาตุดิน " ส่วนที่เป็นของเหลว เช่น น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำดี น้ำปัสสาวะ น้ำไขข้อ น้ำมูก ฯลฯ รวมเรียกว่า " ธาตุน้ำ " ส่วนสิ่งที่ให้พลังงานและอุณหภูมิในร่างกาย เช่น ความร้อน ความเย็น เรียกว่า " ธาตุไฟ " ส่วนธรรมชาติที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว ความตั้งมั่น ความเคร่ง ความตึง และบรรดาสิ่งเคลื่อนไหวไปมาในร่างกาย เรียกว่า " ธาตุลม " ( โดยธาตุ ๔ ดังกล่าวนี้มิได้หมายความอย่างเดียวกับคำว่า " ธาตุ " อันหมายถึงแร่ธาตุในทางวิทยาศาสตร์ ) ธาตุ ๔ หยาบ ๆ เหล่านี้ได้มาประชุมรวมกันเป็นรูปกายของคน สัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลายขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อนานไปก็ย่อมเปลี่ยนแปลงแล้วแตกสลายกลับคืนไปสู่สภาพเดิม โดยส่วนที่เป็นดินก็กลับไปสู่ดิน ส่วนที่เป็นน้ำก็กลับไปสู่น้ำ ส่วนที่เป็นไฟก็กลับไปสู่ไฟ และส่วนที่เป็นลมก็กลับไปสู่ความเป็นลม ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของคนและสัตว์ที่ไหนแต่อย่างใด จึงไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นรูปกายนี้ว่าเป็นตัวเราของเราให้เป็นที่พึ่งอันถาวรได้ <!--MsgFile=1-->
    สมาธิ ย่อมมีกรรมฐาน ๔๐ เป็นอารมณ์ ซึ่งผู้บำเพ็ญอาจจะใช้กรรมฐานบทใดบทหนี่งตามแต่ที่ถูกแก่จริตนิสัยของตนก็ย่อมได้

    ส่วนวิปัสสนานั้น มีแต่เพียงอย่างเดียวคือ มีขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ เรียกสั้น ๆ ว่า มีแต่รูปกับนามเท่านั้นเอง ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา และวิญญาณ

    ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสภาวธรรมหรือสังขารธรรมเกิดขึ้นเนื่องจากการปรุงแต่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเช่นนั้นไม่ได้ และไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแต่อย่างใด อารมณ์ของวิปัสสนานั้น เป็นอารมณ์จิตที่ใคร่ครวญหาเหตุและผลในสังขารธรรมทั้งหลายจนรู้แจ้งเห็นจริงว่าเป็น พระไตรลักษณ์ คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา และ เมื่อใดที่จิตยอมรับสภาพความเป็นจริงว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาจริง เรียกว่าจิตตกระแสธรรมตัด กิเลสได้

    ปัญญาที่จะเห็นสภาพความเป็นจริงดังกล่าว ไม่ใช่แต่เพียงปัญญาที่จะนึกคิดและคาดหมายเอาเท่านั้น แต่ย่อมมีตาวิเศษหรือตาใน ที่พระท่านเรียกว่า " ญาณทัสสนะ " เห็นเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ซึ่งจิตที่ได้ผ่านการอบรมสมาธิมาจนมีกำลังดีแล้ว ย่อมมีพลังให้เกิดญาณทัสสนะหรือปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงดังกล่าวได้ เรียกกันว่า " สมาธิอบรมปัญญา " คือสมาธิทำให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น และเมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้ว ย่อมถ่ายถอนกิเลสให้เบาบางลง จิตก็ย่อมจะเบาและใสสะอาดบางจากกิเลสทั้งหลายไปตามลำดับ สมาธิจิตก็จะยิ่งก้าวหน้าและตั้งมั่นมากยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก เรียกว่า " ปัญญาอบรมสมาธิ "
    ฉะนั้นทั้งสมาธิและวิปัสสนาจึงเป็นทั้งเหตุและผลของกันและกันและอุปการะซึ่งกันและกัน จะมีวิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้นโดยขาดกำลังสมาธิสนับสนุนมิได้เลย

    อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องใช้กำลังของขณิกสมาธิเป็นบาทฐานในระยะแรกเริ่ม สมาธิจึงเปรียบเสมือนกับหินลับมีด ส่วนวิปัสสนานั้นเหมือนกับมีดที่ได้ลับกับหินคมดีแล้ว ก็ย่อมมีอำนาจถากถางตัดฟันบรรดากิเลสทั้งหลายให้ขาดและพังลงได้ อันสังขารธรรมทั้งหลายนั้นล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวเราของเราแต่อย่างใด ทุกสรรพสิ่งล้วนแล้วแต่เป็นแค่ดิน น้ำ ลม และไฟ มาประชุมรวมกันชั่วคราวตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น ในเมื่อจิตได้เห็นความเป็นจริงเช่นนี้แล้ว จิตก็จะละคลายจากอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่น โดยคลายกำหนัดในลาภ ยศ สรรเสริญ สุขทั้งหลาย ความโลภ ความโกรธ และความหลงก็เบาบางลงไปตามลำดับปัญญาญาณจนหมดสิ้นจากกิเลสทั้งมวล บรรลุซึ่งพระอรหัตผลต่อไป

    ฉะนั้น การที่จะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามทำสมาธิให้ได้เสียก่อน หากทำสมาธิยังไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่จะเกิดวิปัสสนาปัญญาขึ้น สมาธิจึงเป็นเพียงบันไดขั้นต้นที่ก้าวไปสู่การเจริญวิปัสสนาปัญญาเท่านั้น <!--MsgFile=2-->
    ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า " ผู้ใดแม้จะทำสมาธิจิตเป็นฌานได้นานถึง ๑๐๐ ปี และไม่เสื่อม ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่มองเห็นความเป็นจริงทีว่า สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้จะเห็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวก็ตาม "
    ดังนี้ จะเห็นได้ว่าวิปัสสนานั้น เป็นสุดยอดของการสร้างบารมีโดยแท้จริง และการกระทำก็ไม่เหนื่อยยากลำบาก ไม้ต้องแบกหาม ไม่ต้องลงทุนหรือเสียทรัพย์แต่อย่างใดแต่ก็ได้กำไรมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการให้ทานเหมือนกับกรวด และทราย ก็เปรียบวิปัสสนาได้กับเพชรน้ำเอก ซึ่งทานย่อมไม่มีทางที่จะเทียบกับศีล ศีลก็ไม่มีทางที่จะเทียบกับสมาธิ และสมาธิก็ไม่มีทางที่จะเทียบกับวิปัสสนา

    แต่ตราบใดที่เราท่านทั้งหลายยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน ก็ต้องเก็บเล็กผสมน้อย โดยทำทุกๆทางเพื่อความไม่ประมาท โดยทำทั้งทาน ศีล และภาวนา สุดแล้วแต่โอกาสจะอำนวยให้ จะถือว่าการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้นลงทุนน้อยที่สุด แต่ได้กำไรมากที่สุดก็เลยทำแต่วิปัสสนาอย่างเดียวโดยไม่ยอมลงทุนทำบุญให้ทานใดๆไว้เลย เมื่อเกิดชาติหน้าเพราะเหตุที่ยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพานก็เลยมีแต่ปัญญาอย่างเดียวไม่มีจะกินจะใช้ ก็เห็นจะเจริญวิปัสสนาให้ถึงฝั่งพระนิพพานไปไม่ได้เหมือนกัน

    อนึ่ง พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาไว้ว่า " ผู้ใดมีปัญญาพิจารณาจนจิตเห็นความจริงว่า ร่างกายนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน คน สัตว์ แม้จะนานเพียงชั่วช้างยกหูขึ้นกระดิก ก็ยังดีเสียกว่าผู้ที่มีอายุยืนนานถึง ๑๐๐ ปี แต่ไม่มีปัญญาเห็นความจริงดังกล่าว "
    กล่าวคือ แม้ว่าอายุของผู้นั้นจะยืนยาวมานานเพียงใด ก็ย่อมโมฆะเสียเปล่าไปชาติหนึ่ง จัดว่าเป็น " โมฆะบุรุษ " คือบุรุษที่สูญเปล่า


    ต่อไปนี้เป็นการเจริญสมถะและวิปัสสนาอย่างง่าย ๆ ประจำวัน
    ซึ่งควรจะทำให้บ่อย ๆ ทำเนือง ๆ ทำให้มาก ๆ ทำจนจิตเป็นอารมณ์แนบแน่น ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ๆคือไม่ว่าจะยืน นั่ง หรือนอน ก็คิดและใคร่ครวญถึงความเป็นจริง ๔ ประการดังต่อไปนี้ หากทำแล้วพระพุทธองค์ตรัสว่า " จิตของผู้นั้นไม่ห่างวิปัสสนา และเป็นผู้ที่ไม่ห่างจากมรรค ผล นิพพาน " คือ

    ๑ . มีจิตใคร่ครวญถึงมรณัสสติกรรมฐาน หรือมรณานุสสติกรรมฐาน ซึ่งก็ คือการใคร่ครวญถึงความตายเป็นอารมณ์ อันความมรณะนั้นเป็นธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครสามารถที่จะเอาชนะได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงบรรลุถึงพระธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ไม่ตาย แต่ก็ยังทรงทอดทิ้งพระสรีระร่างกายไว้ในโลก การระลึกถึงความตายจึงเป็นการเตือนสติให้ตื่น รีบพรากเพียรชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ก่อนที่ความตายจะมาถึง พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญมรณัสสติว่า " มรณัสสติ ( การระลึกถึงความตาย ) อันบุคคลทำให้มากแล้วย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ หยั่งลงสู่พระนิพพานเป็นที่สุด " อันมรณัสสติกรรมฐานนนั้น แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย ซึ้งแม้จะได้บรรลุมรรคผลแล้วก็ยังไม่ยอมละ เพราะยังทรงอารมณ์มรณัสสตินี้ควบคู่ไปกับวิปัสสนา เพื่อความอยู่เป็นสุข ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า " ตถาคตนึกถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าและออก "

    มรณัสสติกรรมฐานนั้น โด ยปรกติเป็นกรรมฐานของผู้ที่มีพุทธจริต คือคนที่ฉลาด การใคร่ครวญถึงความตายเป็นอารมณ์ก็คือการพิจารณาถึงความจริงทีว่า ไม่ว่าคนและสัตว์ทั้งหลาย เมื่อมีเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญวัยเป็นหนุ่มสาว เฒ่าแก่แล้วก็ตายไปในที่สุด ไม่อาจจะล่วงพ้นไปได้ทุกผู้คน ไม่ว่าจะเป็นคนยากดี มี จน เด็ก หนุ่มสาว เฒ่าแก่ สูงต่ำ เหลื่อมล้ำกันด้วยฐานันดรศักดิ์อย่างใด ในที่สุดก็ทันกันและเสมอกันด้วยความตาย " ผู้ที่คิดถึงความตายนั้น เป็นผู้ที่ไม่ประมาทในชีวิต ไม่มัวเมาในชีวิต เพราะเมื่อคิดถึงแล้วย่อมเร่งกระทำความดีและสร้างบุญกุศล เกรงกลัวต่อบาปกรรมที่จะติดตามไปในภพชาติหน้า "

    ผู้ที่ประมาทมั่วเมาต่อทรัพย์สมบัติยศศักดิ์ตำแหน่งหน้าที่นั้นเป็นผู้ที่หลง เหมือนกับคนที่หูหนวกและตาบอด ซึ่งโบราณกล่าวตำหนิไว้ว่า " หลงลำเนาเขาป่ากู่หาพอได้ยิน หลงยศอำนาจย่อมหูหนวกและตาบอด " และกล่าวไว้อีกว่า " หลงยศลืมตาย หลงกายลืมเนา " และความจริงก็มีให้เห็นอยู่ทุกวันนี้ที่บางท่านใกล้จะเข้าโลงแล้ว ก็ยังหลงและมัวเมาในอำนาจวาสนา ตำแหน่งหน้าที่ จนลืมไปว่าอีกไม่นานตนก็จะต้องทิ้งต้องจากสิ่งเหล่านี้ไป แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนได้หลงใหลมัวเมาเฝ้าแสวงหาหวงแหนเกาะแนนอยู่นั้น ก็จะต้องสลายไปพร้อมกับความตายของตน สูญเปล่าไม่ได้ตามติดกับตนไปด้วยเลย แล้วไม่นานผู้คนที่อยู่เบื้องหลังก็ลืมเลือนตนไปเสียสิ้น ดูเหมือนกับวันเวลาทั้งหลายที่ตนได้ต่อสู้เหนื่อยยากขวนขวายจนได้สิ่งดังกล่าวมา ก็ต้องโมฆะสูญเปล่าไปโดยหาสาระ ประโยชน์อันใดมิได้เลย

    มรณัสสติกรรมฐานนั้น เมื่อพิจารณาไปนาน ๆ จิตจะค่อย ๆ สงบและระงับจากนิวรณ์ธรรม ๕ ประการ ในที่สุดจิตก็เข้าถึงอุปจารสมาธิ และความจริงกรรมฐานกองนี้เป็นเพียงสมถภาวนาเท่านั้น แต่ก็ใกล้วิปัสสนา เพราะอารมณ์จิตที่ใช้นั้นเป็นการพิจารณาหาเหตุและผลในรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งหากพลิกการพิจารณาว่า อันชีวิตของคนและสัตว์ ตลอดจนสรรพสิ่งทั้งหลายไม่อาจทรงตัวตั้งมั่นอยู่ได้ เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็ย่อมมีความตายเป็นที่สุด เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังนี้แล้ว ก็เป็นวิปัสสนาภาวนา
     
  4. TUK2800

    TUK2800 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    1,766
    ค่าพลัง:
    +1,161
    อนุโมทนาสาธุ
    อานิสงส์พระคาถาชินบัญชร ตอนก่อนจะออกจากบ้านทุกเวลา ให้พนมมือ สวดนะโม
     

แชร์หน้านี้

Loading...